‘สมศักดิ์’ ลั่นพร้อมรับมือ ‘วิภา’ สั่งอพยพผู้ป่วย-คุมเข้มเวชภัณฑ์ 3 จังหวัดเหนือ
“สมศักดิ์” ยืนยันรัฐบาล-สธ.พร้อมดูแลประชาชนและรับมือ “พายุวิภา” เผยเร่งช่วยเหลือ 3 จว.พะเยา น่าน เชียงราย พร้อมเตรียมแผนอพยพผู้ป่วยกว่า 800 ราย สั่งจังหวัดใกล้เคียงศึกษาเส้นทางน้ำ ประเมินสถานการณ์ทุกระยะเพื่อลดผลกระทบ เน้นย้ำ “เวชภัณฑ์ – ยา” ต้องเพียงพอ
23 ก.ค.2568 - นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีอิทธิพลของพายุวิภาที่ส่งให้ฝนตกหนักและน้ำท่วมหลายพื้นที่ในประเทศไทยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการเน้นย้ำมาตรการรับมือมาโดยตลอด ตั้งแต่ช่วงที่มีฝนตกหนักและน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างเป็นต้นมา เมื่อมีพายุก็ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลประชาชนอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง และเด็ก เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และพายุครั้งนี้ทราบว่าส่งผลกระทบ 49 จังหวัด ดังนั้น ในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบก็เน้นย้ำเป็นพิเศษ ให้ติดตามเฝ้าระวังใกล้ชิด จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยให้ทุกหน่วยปฏิบัติตามแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งทีม Mcatt ที่ดูแลด้านจิตใจให้เข้าคลี่คลายความเครียด พร้อมกันนี้ ได้กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลให้จัดเตรียมเวชภัณฑ์ ยารักษาโรค อุปกรณ์ช่วยเหลือให้เพียงพอ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ มีการรายงานสถานการณ์ด้านอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม จากอิทธิพลจากพายุวิภา ล่าสุด โดยมี 3 จังหวัด เชียงราย น่าน พะเยา ใน 20 อำเภอ ประกอบด้วย น่าน 10 อำเภอ พะเยา 7 อำเภอ เชียงราย 3 อำเภอ ได้รับผลกระทบ ขณะที่สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 5 แห่ง เป็น รพ. 4 แห่ง รพ.สต.1 แห่ง คือ จ.น่าน รพ.2 แห่งและรพ.สต.1 แห่ง คือ รพ.เวียงสา และ รพ.เชียงกลาง น้ำท่วมหน้ารพ. แต่ยังให้บริการได้และ รพ.สต.ริม อ.ท่าวังผา จ.น่าน น้ำท่วมชั้นล่าง ปิดบริการชั่วคราว จ.พะเยา 1 แห่ง คือ รพ.เชียงคำ น้ำท่วมถนนหน้า รพ. ยังเปิดให้บริการตามปกติ จ.เชียงราย 1 แห่ง คือ รพ.เทิง น้ำท่วมบริเวณรอบๆ ทำให้การเดินทางเข้า-ออกไม่สะดวก โดยมีเรือให้บริการรับ-ส่ง ลำเลียงผู้ป่วย เปิดให้บริการเฉพาะผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ทั้งนี้มีแผนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดย จ.น่าน เตรียมอพยพผู้ป่วย 844 รายใน รพ.ทุกแห่งของ จ.น่าน หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น และ ได้ประสาน มทบ.38 ขอรถทหารช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วย อ.ท่าวังผา ส่วนทีม สสจ.น่าน เชียงรายและ พะเยา เปิดศูนย์ PHEOC จังหวัด และสั่งการตามแผน พร้อมเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือ ส่วน รพ.เทิง จ.เชียงราย ตั้งจุดบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ รพ.สต.บ้านปางค่า สำหรับให้บริการประชาชนในพื้นที่ตำบลตับเต่า ประสาน ทุกภาคส่วนในพื้นที่ร่วมสนับสนุนการช่วยเหลือ เช่น ตำรวจ ทหาร อปท.
“นอกจากนี้ ขอให้เจ้าหน้าที่เกาะติดสถานการณ์และศึกษาเส้นทางน้ำไหล น้ำหลากเพราะอาจะส่งผลกระทบมายังจังหวัดใกล้เคียง เพื่อจะได้รับมือได้ทันทีเพื่อลดผลกระทบ หากมีมวลการไหลทะลักเข้าพื้นที่ ต้องประเมินสถานการณ์ทุกระยะ จนกว่าจะคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ารัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมและมีแผนรับมือที่จะช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ ขณะเดียวกันก็ขอให้ประชาชนรับฟังข่าวสารการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อม หากต้องอพยพโยกย้ายก็จะเร่งดำเนินการ”นายสมศักดิ์กล่าว.