เกาหลีใต้ "แจกเงินประชาชน" 150,000 วอน กระตุ้นเศรษฐกิจ แจกอย่างไร? ต่างชาติได้เงินด้วยจริงหรือไม่?
เกาหลีใต้ งัดยาแรง "แจกเงินแสน" กระตุ้นเศรษฐกิจ
ไม่ใช่แค่เมืองไทยที่มีการแจกเงินหมื่นแต่ล่าสุดเกาหลีใต้มีการแจกเงินแสนสื่อเกาหลีใต้รายงานว่ารัฐบาลเกาหลีใต้เตรียมแจกเงินสดให้ประชาชนทุกคน เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 กรกฏาคม 2568 นี้ โดยแต่ละคนจะได้รับเงินสูงสุดมากถึง 150,000 วอน หรือคิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ประมาณ 3,500 บาท และยังมีเงินเพิ่มเป็นพิเศษให้กลุ่มแก่เปราะบาง คนต่างจังหวัด และเจาะในพื้นที่ที่มีประชากรหดตัวเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งวันนี้อยู่ภายใต้การนำโดยประธานาธิบดีอี แจ-มยอง
สำนักข่าวยอนฮับรายงานข่าว ระบุว่า มาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการใช้งบประมาณเสริมพิเศษมูลค่า 31.8 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 75,000 ล้านบาท
การแจกเงินครั้งนี้ แจกอย่างไร เงินสด หรือเงินดิจิทัลเหมือนกับของไทยหรือไม่ แล้วใครบ้างที่มีสิทธิ์ในครั้งนี้
คำตอบ คือ คล้ายๆ ใกล้เคียงแต่ไม่เหมือน ของไทยเราในการแจกเงินที่ผ่านมา คือ การโอนเข้าบัญชีโดยตรงคนอยากจะใช้คือกดเอทีเอ็มเอาเงินสดออกมาได้หรือจะใช้โอนผ่านแอพก็เต็มที่แต่สำหรับเกาหลีใต้ โครงการแจกเงินแสนครั้งนี้ ถูกเรียกว่าคูปองเพื่อการบริโภค หรือ "consumption coupons" เป็นการแจกที่ประชาชนเลือกได้ว่าอยากให้เงินหรือคูปองที่ว่านี้เข้าไปยังระบบหรือบัตรที่มีแบบไหน
ใครมีสิทธิ์ได้รับเงิน ?
ทางการเกาหลีใต้จะแจกให้กับประชาชนชาวเกาหลีใต้ทุกคนที่มีถิ่นพำนักในประเทศ ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2568 คนที่มีสิทธิ์จะได้รับคูปองเงินสดจำนวน 150,000 วอนต่อคน สามารถเลือกรับเงินในรูปแบบบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเติมเงิน หรือคูปองอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาลท้องถิ่นโดยเงินทั้งหมดที่ได้รับจะมีอายุจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2568 นี้เท่านั้นหากใช้ไม่ทัน ใช้ไม่หมด หรือลืมใช้ ก็คือจบเพราะรัฐบาลจะริบคืนที่เหลือคืน
กลุ่มเปราะบางก็จะได้รับเงินเพิ่มไปอีกจากก้อนแรกเช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวจะได้รับเพิ่ม 300,000 วอน ประมาณ 7,100บาทผู้รับเงินสวัสดิการของรัฐจะได้รับเพิ่ม 400,000 วอน หรือประมาณ 9,500 บาท คนที่อยู่นอกเขตเมืองหลวง หรือมหานครโซล จะได้รับเพิ่ม 30,000 วอน หรือประมาณ 710 บาทคนที่อยู่ใน 84 ชุมชนชนบท และประมงที่มีปัญหาประชากรลดลงก็จะได้รับเพิ่มเช่นกันอีก 50,000 วอน หรือประมาณ 1,190 บาท
ต่างชาติมีสิทธิ์ได้รับเงิน ?
ชาวต่างชาติที่อยู่เกาหลี บางคนก็มีโอกาสที่จะได้รับเงินเช่นกัน หากอยู่ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง ตามที่รัฐบาลกำหนด ตามข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย เช่น ชาวต่างชาติมีสิทธิ์ได้รับเงิน หากอยู่ในทะเบียนผู้อยู่อาศัยร่วมกับพลเมืองเกาหลีอย่างน้อย 1 คน และลงทะเบียนในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเป็นผู้สมัครหลักหรือผู้ติดตาม ส่วนครัวเรือนที่เป็นชาวต่างชาติทั้งหมดก็อาจจะมีสิทธิ์ได้รับเงินเช่นกันหากมีผู้อยู่อาศัยถาวร (ผู้ถือวีซ่า F-5) หรือผู้ย้ายถิ่นฐานจากการสมรส (ผู้ถือวีซ่า F-6) ที่ตรงตามข้อกำหนดของประกันสุขภาพที่สำคัญครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ผู้ลี้ภัย (ผู้ถือวีซ่า F-2-4) ได้รับการรวมอยู่ในโครงการ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนมีนาคม 2024เนื่องจากครั้งนั้นมีการตัดสินว่าการที่รัฐบาลไม่รวมผู้ลี้ภัยไว้ในการรับเงินบรรเทาทุกข์ COVID-19 ในปี 2020 นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ
แม้กระทั่งพลเมืองเกาหลีที่อยู่ในต่างประเทศก็ยังสามารถรับเงินได้เช่นกัน หากพวกเขาเดินทางกลับมายังเกาหลีระหว่างวันที่ 18 มิถุนายนถึง 12 กันยายน 2568 และผ่านการตรวจยืนยันบันทึกการเข้าเมืองของตนเองต่อทางการ
หัวใจ คือ กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องการให้เงินเหล่านี้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริงดังนั้นเงื่อนไขจึงค่อนข้างรัดกุมบ้านอยู่ไหน ใช้เงินย่านนั้น ห้ามข้ามพื้นที่ เงินที่ได้มาจะต้องใช้ภายในท้องถิ่นของตนเอง ตัวอย่างเช่น คนที่อาศัยอยู่ในกรุงโซลสามารถใช้เงินได้ภายในกรุงโซลเท่านั้น
ขณะที่ร้านค้าที่มีสิทธิ์ร่วมโครงการ รับเงินจากคูปองเหล่านี้ได้ต้องเป็นธุรกิจขนาดเล็ก รายย่อย เช่น ร้านอาหาร ร้านขายของชำ ร้านทำผม ร้านแว่นตา และธุรกิจอื่นๆ ในชุมชนที่มีรายได้ประจำปีไม่เกิน 3 พันล้านวอน
นายทุน ร้านค้าขนาดใหญ่ถูกห้ามเข้าร่วม เช่น ค้าปลีกขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า ร้านปลอดภาษี แพลตฟอร์มออนไลน์ รวมไปถึงแอปส่งของ
แม้กระทั่งร้านดังๆที่เป็นแบรนด์ของแฟรนไชส์ท้องถิ่นต้องดูว่าใครเป็นเจ้าของร้าน เพราะจะให้ร่วมได้เฉพาะร้านที่เป็นเจ้าของเองโดยอิสระเท่านั้นถ้าหากสำนักงานใหญ่มาลงร้าน ตั้งร้านเอง บริหารเองก็อด ห้ามเข้าร่วมโดยเด็ดขาด เช่น แบรนด์ใหญ่อย่าง Starbucks และ Olive Young
นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยยังกำหนด ให้ร้านค้าธุรกิจต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องติดป้ายเพื่อแสดงตน ว่ารับคูปองหรือไม่ด้วย
ทั้งนี้รัฐบาลเกาหลีใต้ยังได้แยกร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เป็นของชาวต่างชาติออกไปด้วยเช่นกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดข้อโต้แย้งซ้ำในช่วงการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากครั้งนี้มีปมดราม่า พบว่าเงินช่วยเหลือภัยพิบัติของรัฐถูกประชาชนนำไปใช้จ่ายเพื่อซื้อแบรนด์หรูและบริษัทต่างชาติมากกว่าของในประเทศ เช่น Apple และ IKEA
แจกเงิน 2 รอบ เจาะกลุ่มเปราะบาง
แจกเงินแสนของทางการเกาหลีใต้ไม่ได้ทำเพียงแค่รอบเดียว แต่มีถึง 2 เฟส ทั้งนี้เฟสแรกหรือระยะที่ 1 จะดำเนินการต่อเนื่องเป็นเวลา 8 สัปดาห์ คือนับตั้งแต่ 21 กรกฎาคมนี้ยาวไปจนถึงวันที่ 12 กันยายน 2568 โดยรัฐบาลจะเปิดระบบให้ประชาชนเลือกรูปแบบการรับเงินผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของรัฐบาลท้องถิ่น
ขณะที่รัฐบาลยังมีแผนแจกเงินรอบที่สอง หรือเฟส 2 คือ ระหว่างวันที่ 22 กันยายน - 31 ตุลาคม 2568 เป็นการแจกเงินเพิ่มอีกก้อน แจกอีก 100,000 วอน หรือประมาณ 2,380 บาท ให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย 90% ของประเทศ พิจารณาจากระดับรายได้ตามข้อมูลเบี้ยประกันสุขภาพ ซึ่งทางการจะมีการประกาศรายละเอียดเรื่องนี้อีกครั้งในช่วงเดือนกันยายน
ทางด้านนายคิม มินแจ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยของเกาหลีใต้ และหัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจฯ ระบุว่า รัฐบาลจะดำเนินมาตรการนี้ด้วยความรอบคอบ เพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้โครงการคูปองเพื่อการบริโภคหรือ การแจกเงินแสนครั้งนี้ ถือเป็นนโยบายเศรษฐกิจหลักประการแรกของประธานาธิบดีอี แจมย็อง ที่เพิ่งเข้าเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2568 ก่อนหน้านี้ระหว่างการหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี นายอีเคยได้ให้คำมั่นว่าจะแจกเงิน 250,000 วอนให้กับพลเมืองทุกคน แต่หลังจากเข้ารับตำแหน่ง ก็เกิดความกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนทางการเงินหากรัฐบาลแจกแบบไม่เลือก ดังนั้นจึงเปลี่ยนใจมาใช้แนวทางผสมผสาน โดยเน้นให้การจ่ายเงินเพื่อกระตุ้นการบริโภค มากกว่าที่จะเน้นที่สวัสดิการหรือให้เปล่า
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนได้ออกมาแสดงความกังวลว่า การอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลซึ่งรัฐบาลต้องกู้ยืมมา อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น และสร้างความเสี่ยงต่อวินัยการคลังของประเทศในระยะยาว โดยมีการคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณถึง 4.2% และหนี้สาธารณะของประเทศจะทะยานขึ้นไปอยู่ที่ 49.1% ของจีดีพี
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีอีคว้าชัยในศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2568 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น หลังจากการที่ ยุน ซอกยอล อดีตผู้นำฝ่ายอนุรักษ์นิยมพยายามประกาศกฎอัยการศึกทำให้ความวุ่นวายทางการเมืองที่กินเวลาร่วม 6 เดือนสิ้นสุดลง โดย อี แจ-มยอง ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ให้คำมั่นว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซาของเกาหลีใต้ และยกระดับมาตรฐานการครองชีพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดข้อมูล โครงการ"รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" ลงทะเบียนผ่าน"ทางรัฐ" เริ่มสิงหาคม 2568
- แจกเงินประชาชน 150,000 วอน กระตุ้นเศรษฐกิจเกาหลีใต้
- ร้านอาหารเกาหลีใต้ใช้ "มดอบแห้ง" เพิ่มรสชาติ เสี่ยงถูกดำเนินคดี
- มาตรการภาษีของสหรัฐฯ! ธปท. มองไม่รุนแรงเท่าช่วงโควิด แต่ลากยาว
- เกาหลีใต้ออกกฎหมายใหม่ ห้ามเล่นมือถือในโรงเรียน