ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 24ก.ค. “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” ที่ระดับ 32.16 บาทต่อดอลลาร์
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้24ก.ค.2568 ที่ระดับ 32.16 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าแนวโน้มของค่าเงินบาท เงินบาทยังคงได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าขึ้น ตามแนวโน้มการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังเงินยูโร (EUR) ทยอยแข็งค่าขึ้น ตอบรับความหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง หลังราคาทองคำปรับตัวลดลง สอดคล้องกับมุมมองของเราก่อนหน้า
ทำให้ เรายังขอคงมุมมองเดิมว่า แม้เงินบาทจะมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด และเราคงเห็นความเสี่ยงที่เงินบาทจะทยอยอ่อนค่าลงได้บ้าง หากบรรยากาศในตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น
อีกทั้ง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงทยอยออกมาสดใสดีกว่าคาด หนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง (แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็จะเป็นไปอย่างจำกัดเช่นกัน)
อย่างไรก็ดี ในช่วง 24 ชั่วโมง ข้างหน้านั้น เรายอมรับว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นทะลุแนวรับ 32.10 บาทต่อดอลลาร์ และอาจแข็งค่าขึ้นทะลุระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก เมื่อเราประเมินจากสถิติการเคลื่อนไหวของเงินบาท (USDTHB) ในช่วงหลังรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญต่างๆ และผลการประชุม ECB
นอกจากนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ก็อาจยังหนุนให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย อย่างหุ้นไทย เพิ่มเติมได้ ทว่า หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นทะลุระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้จริง
เราก็พร้อมจะมองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทควรใกล้ถึงจุดกลับตัว และเงินบาทจะเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลงได้ ตามการประเมินในเชิง Valuation ที่เรามองว่า เงินบาทในระดับปัจจุบัน หรือต่ำกว่า 32.00 บาทต่อดอลลาร์ นั้น จะเป็นระดับที่แข็งค่าเกินไปพอควร (Overvalued) ในระดับ เกิน +1 SD
เรายังคงมีความกังวลเดิม คือ ความผันผวนของเงินบาทที่อาจกลับมาสูงขึ้นได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ Options เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.00-32.30 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวไร้ทิศทางที่ชัดเจน ในลักษณะ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 32.14-32.25 บาทต่อดอลลาร์) แม้เงินบาทจะมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามการทยอยปรับตัวลดลงของราคาทองคำ (XAUUSD) หลังผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง ตอบรับความหวังว่าสหภาพยุโรป (EU) กับสหรัฐฯ อาจบรรลุข้อตกลงการค้าได้ในเร็ววันนี้
ทว่า ภาพดังกล่าวกลับกดดันให้ เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) ตอบรับความหวังการเจรจาการค้าดังกล่าว นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม จากรายงานข้อมูลตลาดบ้านของสหรัฐฯ อย่าง ยอดขายบ้านมือสอง (Existing Home Sales) เดือนมิถุนายน ที่ปรับตัวลดลง แย่กว่าคาด
แม้ว่ารายงานข้อมูลตลาดบ้านสหรัฐฯ จะออกมาแย่กว่าคาด ทว่าความหวังสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปอาจบรรลุข้อตกลงการค้าได้ในเร็ววันนี้ กอปรกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส ก็หนุนให้ บรรดาผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.78%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นกว่า +1.08% หนุนโดยความหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มยานยนต์ต่างปรับตัวขึ้นแรง
อาทิ Porsche +6.7% รวมถึงบรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมก็ต่างปรับตัวสูงขึ้น อาทิ LVMH +3.1% อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปก็ถูกกดดันบ้าง จากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปที่ออกมาผสมผสาน
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเข้าใกล้โซน 4.40% อีกครั้ง อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตาแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า
พร้อมทั้งรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ หุ้นเทคฯ ใหญ่ ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ หลัง Risk-Reward มีความน่าสนใจมากขึ้น
โดยเฉพาะในช่วงโซน 4.50% ขึ้นไป สำหรับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยจังหวะการทยอยเข้าซื้อดังกล่าวอาจกลับมาอีกครั้ง ในช่วงสัปดาห์ต้นเดือนสิงหาคมที่ตลาดจะรับรู้ แนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง หลังรายงานข้อมูลตลาดบ้านของสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด อีกทั้งบรรดาสกุลเงินหลัก นำโดยเงินยูโร (EUR) ก็ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตอบรับความหวังสหภาพยุโรป (EU) อาจบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ในเร็ววันนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลงสู่ระดับ 97.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 97.1-97.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า เงินดอลลาร์จะทยอยอ่อนค่าลง
ทว่า บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ท่ามกลาง ความหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (EU) ก็มีส่วนกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค. 2025) ปรับตัวลดลงกว่า -40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซน 3,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มบรรดาเศรษฐกิจหลัก ทั้งในฝั่งสหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) เดือนกรกฎาคม
ส่วนในฝั่งยุโรป ไฮไลท์สำคัญ จะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งเรามองว่า ECB จะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ที่ระดับ 2.00% ตามเดิม ซึ่งเป็นระดับที่บรรดาเจ้าหน้าที่ ECB ส่วนใหญ่ต่างมองว่า เป็นระดับที่เหมาะสม (Neutral Rate)
ทั้งนี้ เรามองว่า ในช่วงการแถลง Press Conference ของประธาน ECB Christine Largarde ทางประธาน ECB อาจยังคงระบุว่า ECB พร้อมปรับนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของ ECB คือ แนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
ทางฝั่งสหรัฐฯ นอกเหนือจากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ยอดขายบ้านใหม่ (New Home Sales) เดือนมิถุนายน และดัชนีภาวะธุรกิจโดยเฟดสาขา Kansas City
ส่วนในฝั่งไทยนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดการส่งออกและนำเข้า (Exports & Imports) เดือนมิถุนายน ซึ่งอาจยังคงเห็นการขยายตัวในระดับที่สูงอยู่ของการส่งออกได้ ก่อนที่อัตราการเติบโตของยอดการส่งออกจะชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตามผลกระทบของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน และติดตามแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้าอย่างใกล้ชิด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาทแข็งค่าทดสอบแนว 32.10 ก่อนจะปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.12-32.14 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.40 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ ( 32.108 แข็งสุดรอบ 3 ปี 5 เดือน นับตั้งแต่ 22 ก.พ. 2565)
โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง เพราะแม้ตลาดจะยังคงรอความชัดเจนเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับอีกหลายประเทศ แต่การที่เริ่มมีข้อสรุปดีลการค้ากับหลายประเทศก็เป็นสัญญาณที่ช่วยบรรเทาความเสี่ยงลงบ้างบางส่วน
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 32.00-32.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนมิ.ย. ประเด็นเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า (รวมไทย) ฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป ตลอดจนตัวเลข PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนก.ค. ของสหรัฐฯ และประเทศชั้นนำอื่นๆ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อื่นๆ อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และยอดขายบ้านใหม่เดือนมิ.ย.