เช็ก 9 พฤติกรรมการกินต้องห้าม "ยิ่งกินยิ่งอ้วน" คนไทยส่วนใหญ่ทำแทบทุกข้อ!
ไขมันหน้าท้องสะสมง่ายจากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม มาดูกันว่ามีพฤติกรรมการกินแบบไหนบ้างที่ควรเลี่ยง หากไม่อยากให้รอบเอวขยาย
ไขมันหน้าท้องหรือที่เรียกกันว่าพุง มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ไม่มียาใดสามารถกำจัดไขมันหน้าท้องได้อย่างวิเศษทันตา แต่มีหลายพฤติกรรมการกินที่ส่งผลให้ไขมันสะสมมากขึ้น มาดูกันว่าพฤติกรรมแบบไหนที่ควรหลีกเลี่ยง
1. กินไปทำอย่างอื่นไปจนเสียสมาธิ
ไม่ว่าจะดูทีวี เล่นโทรศัพท์ หรือเดินไปกินไป การกินโดยไม่มีสมาธิจะทำให้คุณเผลอรับประทานมากกว่าที่ร่างกายต้องการ โดยเฉพาะอาหารที่ทำให้ไขมันสะสมบริเวณหน้าท้องเพิ่มขึ้น
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Health Psychology ระบุว่า คนที่กินไปดูทีวีหรือเดินไปด้วย จะบริโภคอาหารมากกว่าคนที่นั่งกินอย่างมีสติที่โต๊ะถึง 5 เท่า
2. ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักให้พลังงานสูงแต่แทบไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ การดื่มมากเกินไปทำให้ร่างกายเร่งเผาผลาญแอลกอฮอล์ก่อน จึงชะลอการเผาผลาญไขมัน ส่งผลให้ไขมันสะสมที่หน้าท้อง โดยเฉพาะไวน์และเบียร์ที่มีน้ำตาลหรือส่วนผสมจากข้าวสาลี ยิ่งเพิ่มพลังงานส่วนเกินและรบกวนระบบเผาผลาญ
งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจรบกวนฮอร์โมนบางชนิดที่มีหน้าที่ช่วยเผาผลาญไขมันและควบคุมความหิว
3. ดื่มน้ำน้อยเกินไป
การขาดน้ำอาจทำให้ร่างกายสับสนกับความหิว ส่งผลให้เผลอกินจุบกินจิบหรือกินมากเกินจำเป็น การจิบน้ำระหว่างวันจะช่วยควบคุมความหิวและทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ดี นอกจากนี้ การดื่มน้ำอย่างเพียงพอยังช่วยปรับสมดุลสัญญาณความหิวของร่างกายได้อีกด้วย
4. กินอาหารเพื่อสุขภาพในปริมาณมากเกินไป
แม้อาหารเพื่อสุขภาพจะดีต่อร่างกาย แต่หากกินโดยไม่ควบคุมปริมาณ ก็อาจทำให้น้ำหนักขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น ถั่วชนิดต่าง ๆ อะโวคาโด หรือ น้ำมันมะกอก ล้วนมีประโยชน์แต่แคลอรีสูง เช่น วอลนัทเพียง 1/4 ถ้วย ก็ให้พลังงานถึงประมาณ 200 แคลอรี ดังนั้น แม้จะเป็นอาหารดีต่อสุขภาพ แต่ถ้ากินตรงจากถุงหรือไม่จำกัดปริมาณ ก็เสี่ยงต่อการรับแคลอรีเกินโดยไม่รู้ตัว
Photo By: Kaboompics.com
5. ทานอาหารนอกบ้านบ่อยเกินไป
อาหารที่ซื้อมาจากร้านมักมีปริมาณโซเดียม ไขมันอิ่มตัว และน้ำตาลสูง ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในร่างกายและทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ครั้งต่อไปที่อยากออกไปกินข้าวนอกบ้าน ลองพิจารณาทำอาหารเองดูบ้าง เพราะจะช่วยให้คุณควบคุมวัตถุดิบ ขนาดจาน และปริมาณแคลอรีที่รับเข้าไปได้ง่ายขึ้น
6. ไม่กินผักผลไม้ให้เพียงพอ
ผักและผลไม้เป็นแหล่งของไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการมีสุขภาพดี หากกินไม่เพียงพอ อาจทำให้คุณรู้สึกอยากอาหารที่ไม่มีประโยชน์หรือแคลอรีสูง
ผลไม้มีทั้งไฟเบอร์และสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอการย่อยอาหาร ทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น และลดการอักเสบเรื้อรัง ส่วนผักช่วยเพิ่มปริมาณอาหารที่กินเข้าไปโดยไม่เพิ่มแคลอรีมากนัก จึงช่วยลดการกินเกินความจำเป็นได้
7. งดมื้ออาหาร
การงดมื้ออาหารทำให้ระบบเผาผลาญถูกรบกวน และอาจนำไปสู่การกินมากเกินไปในมื้อต่อไป โชคดีที่คุณสามารถจัดการได้ด้วยการวางแผนล่วงหน้าและเตรียมอาหารให้พร้อม วิธีนี้จะช่วยให้คุณลดน้ำหนักได้ตามเป้าหมายและรักษาระเบียบในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8. ขาดโปรตีน
โปรตีนเป็นสารอาหารที่ช่วยให้อิ่มนานที่สุด หากร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ คุณอาจรู้สึกหิวบ่อยและเผลอกินของว่างที่ไม่มีประโยชน์ ซึ่งส่งผลให้ไขมันสะสมหน้าท้องมากขึ้น โปรตีนไม่เพียงช่วยให้อิ่มเร็วและลดปริมาณอาหารที่บริโภค แต่ยังช่วยรักษามวลกล้ามเนื้ออีกด้วย
การมีมวลกล้ามเนื้อมากขึ้นจะช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน ทำให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรีได้มากขึ้น แม้ในขณะพัก นอกจากนี้ การย่อยโปรตีนยังใช้พลังงานมากกว่าการย่อยคาร์โบไฮเดรตหรือไขมันอีกด้วย
9. พึ่งพาอาหารเสริมมากเกินไป
แม้อาหารเสริมจะมีประโยชน์ในบางกรณี แต่การพึ่งพาเพียงอาหารเสริมในการได้รับสารอาหารไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืนหรือเหมาะสมในระยะยาว เพราะอาหารสดจากธรรมชาติให้ทั้งไฟเบอร์และสารพฤกษเคมี (phytonutrients) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมไขมันหน้าท้องและลดการอักเสบ
สิ่งสำคัญคือควรเน้นกินอาหารสดที่หลากหลายเพื่อบำรุงสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก ส่วนอาหารเสริมควรใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อเสริมสิ่งที่ขาด ไม่ใช่ใช้แทนอาหารมื้อหลัก