Jurassic World: Rebirth หวนคืนสู่สวนสนุกที่คิดถึง ครบถ้วนทั้งความตื่นเต้น ลุ้นระทึก และรอยยิ้ม
*Jurassic World: Rebirth ผลงานลำดับที่ 7 จากแฟรนไชส์ภาพยนตร์ที่ผู้ชมทั่วโลกหลงรัก โดยคราวนี้ผู้กำกับ Gareth Edwards จาก Godzilla (2014) และ Rogue One: A Star Wars Story (2016) ได้จับมือร่วมกับ David Koepp มือเขียนบทจาก Jurassic Park (1993) และ The Lost World: Jurassic Park (1997) เพื่อพาผู้ชมหวนคืนสู่ความคลาสสิกที่แฟนๆ คิดถึงกันอีกครั้ง พร้อมได้ทัพนักแสดงมากฝีมือมาร่วมออกผจญภัยครั้งใหม่ นำโดย Scarlett Johansson, Mahershala Ali, Jonathan Bailey, Rupert Friend และ Luna Blaise*
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อ Zora Bennett (Scarlett Johansson) ทหารรับจ้างสาวมากฝีมือได้รับการทาบทามจาก Martin Krebs (Rupert Friend) เจ้าของบริษัทผลิตยาให้มาร่วมทำภารกิจรวบรวมดีเอ็นเอของไดโนเสาร์ยักษ์สามสายพันธุ์เพื่อนำมาทดลองและผลิตเป็นยารักษาโรคหัวใจ โดยมีเงินก้อนโตเป็นรางวัลตอบแทน เธอจึงต้องร่วมมือกับด็อกเตอร์ Henry Loomis (Jonathan Bailey) นักบรรพชีวินวิทยา และ Duncan Kincaid (Mahershala Ali) อดีตสหายร่วมรบ ออกเดินทางสู่เกาะร้างที่เคยเป็นที่ตั้งของห้องทดลองผสมสายพันธุ์ไดโนเสาร์
แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะยุ่งยากกว่าเดิม เมื่อจู่ๆ ครอบครัวสามพ่อลูกและแฟนหนุ่มที่กำลังล่องเรือพักผ่อนหย่อนใจกลางทะเล กลับถูกไดโนเสาร์โจมตีและเข้ามาพัวพันกับภารกิจของ Zora ทั้งหมดจึงต้องพยายามหาทางเอาชีวิตรอดจากเหล่าไดโนเสาร์สุดโหดให้สำเร็จ
หลังจากกลับมาเปิดพาร์กอีกครั้งของ Jurassic World (2015) โดยผู้กำกับ Colin Trevorrow แฟรนไชส์ชุดนี้ก็ถูกขยับขยายเรื่องราวให้กว้างใหญ่ขึ้นจากเดิมไม่น้อย ทั้ง Jurassic World: Fallen Kingdom (2018) ที่เล่าถึงการล่มสลายของพาร์กใหม่และการออกล่าไดโนเสาร์เพื่อนำมาขายในตลาดมืด และภาค Jurassic World: Dominion (2022) ซึ่งเล่าเรื่องราวของโลกที่เหล่าไดโนเสาร์อาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์จนชินตา
ในแง่หนึ่งการขยับขยายโลกของไดโนเสาร์ให้กว้างใหญ่ขึ้นก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้ทีมสร้างสามารถหยิบเรื่องราวของแฟรนไชส์ชุดนี้ไปต่อยอดได้ในหลายแง่มุม แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นหนึ่งในข้อสังเกตของไตรภาคชุด World ที่ส่งผลให้มนต์เสน่ห์ดั้งเดิมของ Jurassic Park ที่เป็นภาพยนตร์เอาชีวิตรอดระทึกขวัญในสถานที่ปิด หรือความตื่นตาที่ได้เห็นเหล่าไดโนเสาร์บนจอยักษ์ที่ผู้กำกับ Steven Spielberg รังสรรค์ขึ้นค่อยๆ เลือนหายไป และแม้ว่าในภาค Jurassic World Dominion (2022) จะมีการพานักแสดงจากภาคเก่ากลับมาให้ทุกคนหายคิดถึง แต่ด้วยความที่ตัวภาพยนตร์มีหลายสิ่งที่ผู้กำกับและทีมสร้างต้องการนำเสนอมากมาย จึงทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการปิดไตรภาคชุด World ที่ยังมีบาดแผลให้เราพูดถึงอยู่ไม่น้อย
สลับมาที่ภาพยนตร์ Jurassic World: Rebirth ที่ผู้กำกับและทีมสร้างต้องการพาผู้ชมกลับไปสัมผัสกับบรรยากาศความสนุกและลุ้นระทึกในแบบที่ Jurassic Park เคยเป็น และสิ่งแรกที่เราสังเกตเห็นว่าทีมสร้างพยายามทำคือการจัดแจงโลกของ Jurassic World อันกว้างใหญ่ในภาคก่อนให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น ผ่านฉากเปิดเรื่องที่อธิบายให้เราฟังว่าเหล่าไดโนเสาร์ที่ใช้ชีวิตอยู่ทั่วโลกไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของโลกในปัจจุบันได้ จึงส่งผลให้ไดโนเสาร์หลายสายพันธุ์ต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก เหล่าไดโนเสาร์ที่เหลือรอดจึงต้องอพยพไปอยู่ในบริเวณแนวเส้นศูนย์สูตร หรือมุมมองของตัวละคร Henry ที่พูดถึงผู้คนในยุคปัจจุบันเริ่มเบื่อหน่ายกับไดโนเสาร์กันแล้วเพราะพวกเขาสามารถพบเจอกับพวกมันได้ทั่วไป
การพยายามจัดแจงให้ทุกอย่างมีความชัดเจนและเป็นระเบียบเหล่านี้จึงช่วยให้เราเห็นภาพและเข้าใจโลกไดโนเสาร์ในยุคปัจจุบันได้ไม่ยาก รวมถึงยังเป็นสัญญาณที่บอกกับผู้ชมไปในตัวว่า Jurassic World: Rebirth เป็นการเริ่มต้นเรื่องราวบทใหม่ของแฟรนไชส์ชุดนี้อย่างที่ชื่อเรื่องระบุไว้
นอกจากนี้ Jurassic World: Rebirth มีเส้นเรื่องที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา แน่นอนว่าในแง่หนึ่งมันก็ทำให้ตัวภาพยนตร์มีความสูตรสำเร็จพอสมควร มีหลายฉากที่ชวนให้เราหวนคิดถึง Jurassic Park และหลายฉากที่เราพอจะคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่มองอีกด้านสิ่งนี้ก็ทำให้เรื่องราวของภาพยนตร์มีความชัดเจนในเรื่องราวที่อยากเล่า ไม่มีประเด็นอื่นๆ ที่ถูกพยายามใส่เข้ามาจนทำให้ตัวหนังดูล้นเกินไปแบบเดียวกับภาค Dominion
ส่วนตัวจึงมองว่าสิ่งเหล่านี้ถือเป็นจุดเด่นสำคัญที่ชักชวนให้ผู้ชมกระโดดเข้าไปอยู่ในเรื่องราวที่ผู้กำกับและทีมสร้างต้องการนำเสนอได้ในทันทีโดยไม่ต้องกังวลว่ามันจะต้องเชื่อมโยงกับเรื่องราวในภาคก่อนๆ หรือไม่ และยังเป็นการปรับแก้ข้อสังเกตในภาคก่อนไปในตัวด้วย
เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้วก็ส่งผลต่อเนื่องให้ผู้กำกับและทีมสร้างสามารถสร้างสรรค์ฉากแอ็กชันเอาชีวิตรอดสุดระทึกได้อย่างเต็มที่ ผ่านการผจญภัยของทีม Zora และ Teresa (Luna Blaise) และครอบครัวที่ชวนให้เราติดตามไปตลอดทาง
ซึ่งหากใครที่เคยชมผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับ Gareth Edwards อย่าง Godzilla มาบ้าง สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นมากๆ คือการสร้างฉากปรากฏตัวของ Godzilla ที่สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่และน่าเกรงขามจนกลายเป็นภาพจำของผู้ชม ในผลงานครั้งนี้เขาก็ยังคงออกแบบฉากปรากฏตัวของเหล่าไดโนเสาร์ได้น่าสะพรึงกลัวไม่แพ้กัน
ไล่เรียงตั้งแต่ฉากที่ Teresa และครอบครัวถูกนักล่าแห่งท้องทะเลอย่าง Mosasaurus เข้าจู่โจมกลางทะเลที่แอบให้ความรู้สึกว่าทีมสร้างอาจทำฉากนี้ขึ้นมาเพื่อยกย่องให้กับผลงานสุดคลาสสิกของ Steven Spielberg อย่าง Jaws (1975) ก็เป็นได้ หรือจะเป็นฉากไดโนเสาร์ทดลองอย่าง Distortus Rex ที่ปรากฏตัวในช่วงท้ายเรื่องพร้อมกับพลุไฟสีแดงฉาน ก็ชวนให้นึกถึงฉากปรากฏตัวของ Godzilla เช่นกัน
ส่วนฉากที่เราประทับใจมากที่สุดเห็นจะเป็นการปรากฏตัวของ Titanosaurus ที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมในทุกองค์ประกอบ ทั้งงานภาพที่นำเสนอความยิ่งใหญ่และงดงามของไดโนเสาร์ ดนตรีประกอบคุ้นหูจากฝีมือของ Alexandre Desplat ที่นำผลงานสุดไอคอนิกของ John Williams มาต่อยอด การแสดงของ Jonathan Bailey ที่ถ่ายทอดความตื่นเต้นของดร. Henry เนิร์ดไดโนเสาร์ที่ได้สัมผัสกับไดโนเสาร์ท่ามกลางธรรมชาติของมันจริงๆ เป็นครั้งแรก จนทำให้ฉาก Titanosaurus ฉากนี้เปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์จนทำให้เราน้ำตาซึม และชวนให้นึกถึงฉากเปิดตัวของ Brachiosaurus ใน Jurassic Park ไปพร้อมกัน
ขณะที่ฉากแอ็กชันเอาชีวิตรอด แม้ในภาคนี้อาจไม่ได้มีฉากที่ดูยิ่งใหญ่อลังการเท่าภาคก่อนๆ แต่การไม่ทำให้ฉากเหล่านั้นดูอลังการกลับยิ่งเสริมให้ความลุ้นระทึกของเรื่องโดดเด่นขึ้นไม่น้อย อีกทั้งแม้ว่าในเรื่องจะมีตัวละครอย่าง Zora และ Duncan ที่ถูกวางให้เป็นทหารรับจ้างมากฝีมือ แต่ผู้กำกับและทีมสร้างก็บาลานซ์ให้ตัวละครเหล่านี้ดูไม่เก่งเกินมนุษย์ เพื่อรักษาความอันตรายของเหล่าไดโนเสาร์ที่ยากจะต่อกรไว้ ซึ่งช่วยเสริมให้ทั้งตัวละครและผู้ชมรู้สึกไม่ปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา
และหนึ่งในฉากไฮไลต์ของเรื่องที่เราอยากกล่าวถึงไม่แพ้กันคือฉากที่ Teresa และครอบครัวต้องพยายามพายเรือล่องแม่น้ำเพื่อหนีเจ้า T-Rex ซึ่งเป็นหนึ่งในฉากจากนิยายต้นฉบับของ Michael Crichton ที่ไม่ได้ถูกหยิบมาใช้ในฉบับภาพยนตร์มาก่อน ซึ่งผู้กำกับและทีมสร้างก็สร้างสรรค์ฉากดังกล่าวออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งการลำดับเหตุการณ์ การออกแบบมุมกล้อง ดนตรีประกอบ และการนำเสนอเปี่ยมชั้นเชิงที่ค่อยๆ บิลด์อารมณ์ให้ผู้ชมร่วมลุ้นไปกับตัวละครตั้งแต่ต้นจนจบ
อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์อาจจะยังมีข้อสังเกตอยู่บ้างในแง่เรื่องราวของตัวละครที่ยังดูจะเรียบแบนไปสักหน่อย ทั้งทางฝั่งของดร. Henry และ Zora กับเหตุผลที่ผลักดันให้พวกเขาตัดสินใจรับภารกิจเสี่ยงตายที่ดูยังไม่หนักแน่น หรือทางฝั่งครอบครัวของ Teresa ที่ดูเหมือนภาพยนตร์จะพยายามปูความสัมพันธ์ของพวกเขาให้เรารู้จัก แต่มันก็ไม่ได้เยอะเพียงพอที่จะทำให้เรารู้สึกผูกพันกับเรื่องราวที่ทีมสร้างต้องการนำเสนอ
แต่หากมองในภาพรวมแล้ว สำหรับผู้เขียน Jurassic World: Rebirth ถือเป็นภาคที่พาผู้ชมหวนคืนสู่ความสนุกตื่นเต้นสุดคลาสสิกของ Jurassic Park ที่ให้ความรู้สึกเหมือนเราได้กลับไปสวนสนุกที่คิดถึงในวัยเด็กอีกครั้งได้อย่างที่ผู้สร้างตั้งใจ
Jurassic World: Rebirth เข้าฉายแล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์
ภาพ:Universal Pictures