จับตา BRICS Summit 2025: สีจิ้นผิง-ปูตินส่งผู้แทนเข้าร่วม การประชุมถูกลดความสำคัญ?
การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 17 หรือ BRICS Summit 2025 เตรียมเปิดฉากขึ้นที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล โดยมี ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิลเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 กรกฎาคมนี้
BRICS เป็นกรอบความร่วมมือพหุภาคีระหว่างประเทศกำลังพัฒนาหรือกลุ่มประเทศโลกใต้ที่มีศักยภาพและครอบคลุมประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของโลก ปัจจุบัน มีสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินโดนีเซีย และมีประเทศหุ้นส่วน 10 ประเทศจากภูมิภาคต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในนั้น รวมถึงเวียดนามที่เพิ่งจะเข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนประเทศล่าสุด เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
กระทรวงการต่างประเทศเผยว่า มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะไม่ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย โดย จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วย รุจิกร แสงจันทร์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่ม BRICS ที่บราซิล
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยในฐานะประเทศหุ้นส่วนของ BRICS จะย้ำความพร้อมที่จะกระชับความร่วมมือกับกลุ่ม BRICS เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศกำลังพัฒนา การเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน การส่งเสริมความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
ประเด็นสำคัญที่น่าจับตา
1.สีจิ้นผิง-ปูติน ส่งผู้แทนระดับสูงเข้าร่วม
สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จะไม่เข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่ม BRICS เป็น ‘ครั้งแรก’ นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งในปี 2012 โดยจะส่ง หลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเข้าร่วมประชุมแทน การตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ของสีจิ้นผิง สร้างความประหลาดใจและทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงลำดับความสำคัญทางการทูตของจีน รวมถึงการลดทอนอำนาจของจีนในการผลักดันวาระของตนในที่ประชุม BRICS อีกด้วย
นักวิเคราะห์ชี้ว่า เหตุผลสำคัญน่าจะมาจากแรงกดดันภายในประเทศ เช่น ความไม่แน่นอนในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ เศรษฐกิจที่ชะลอตัว วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ และการวางแผนพัฒนาระยะยาวของจีน โดยที่สีจิ้นผิงพบกับลูลา ดา ซิลวา มาแล้วถึง 2 ครั้งในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งที่การประชุม G20 ที่บราซิลเมื่อช่วงปลายปี 2024 และการประชุม China-CELAC Forum 2025 ระหว่างจีนและกลุ่มประชาคมรัฐละตินอเมริกาและแคริบเบียน (CELAC) เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
อีกทั้งการประชุม BRICS ที่ขยายสมาชิกมากยิ่งขึ้น ก็อาจทำให้จีนมองว่า การหาข้อตกลงร่วมกันจะยิ่งยากขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ของ Channel News Asia มองว่า แม้สีจิ้นผิงจะไม่ได้เดินทางมาเข้าร่วมในครั้งนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จีนจะลดความสำคัญของกลุ่ม BRICS ลง โดยการขาดประชุมของสีจิ้นผิง รวมถึงวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งไม่สามารถเดินทางมาเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองได้ เนื่องจากหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศ จึงส่ง เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเข้าร่วมแทน อาจเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้นำประเทศสมาชิกอื่นๆ ของกลุ่ม BRICS เช่น นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย รวมถึงปราโบโว ซูเบียนโต ประธานาธิบดีอินโดนีเซียที่เพิ่งเข้าเป็นสมาชิกใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2025 ได้แสดงบทบาทและความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
โดยจีนและรัสเซียยังคงมอง BRICS เป็นกลไกสำคัญในการสร้างระเบียบโลกแบบพหุอำนาจ ลดอิทธิพลของตะวันตก และส่งเสริมความเป็นอิสระทางการเงิน โดยมีเป้าหมายผลักดันการใช้สกุลเงินท้องถิ่นและสร้างทางเลือกทางการเงินใหม่ๆ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ของ BRICS
- หัวข้อสำคัญในการเจรจา
BRICS Summit 2025 จัดขึ้น ภายใต้หัวข้อ ‘เสริมสร้างความร่วมมือโลกใต้เพื่อการสร้างธรรมาภิบาลที่ครอบคลุมและยั่งยืนยิ่งขึ้น’ (Strengthening Global South Cooperation for More Inclusive and Sustainable Governance)
บราซิลในฐานะประธานกลุ่ม BRICS ปีนี้ ให้ความสำคัญครอบคลุม 6 ประเด็นหลัก ได้แก่
- ความร่วมมือด้านสาธารณสุขระดับโลก
- การค้า การลงทุน และการเงิน
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ธรรมาภิบาลด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI)
- การปฏิรูประบบพหุภาคี ด้านสันติภาพและความมั่นคง
- การพัฒนากลไกด้านสถาบันของกลุ่ม BRICS
โดยที่ประชุมกลุ่ม BRICS อาจเปิดตัว ‘กองทุนค้ำประกันการลงทุน’ (Guarantee Fund) ผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ (New Development Bank: NDB) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินและดึงดูดเงินทุนภาคเอกชนเข้าสู่โครงการพัฒนาในประเทศสมาชิกและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของ NDB แทนการระดมทุนใหม่
กองทุนนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากหน่วยงานประกันการลงทุนพหุภาคี (Multilateral Investment Guarantee Agency: MIGA) ของธนาคารโลก ซึ่งให้การรับประกันความเสี่ยงทางการเมืองและเครดิตเพื่อส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนในประเทศกำลังพัฒนา โดยคาดว่าเงินค้ำประกัน 1 ดอลลาร์จาก NDB จะสามารถดึงดูดเงินลงทุนภาคเอกชนได้ราว 5-10 ดอลลาร์สหรัฐในโครงการที่ได้รับการอนุมัติ เช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน การปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
กองทุนนี้ถือเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยเสริมบทบาทของ BRICS และ NDB ในเวทีโลก โดยเฉพาะในช่วงที่นโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีความไม่แน่นอนและอัตราดอกเบี้ยโลกสูงขึ้น คาดว่า การดำเนินงานทางเทคนิค จะเสร็จสิ้นภายในปี 2025 และจะเริ่มโครงการนำร่องในปี 2026 อีกทั้ง NDB จะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยผลักดันแนวทางการลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐ (Dedollarization)ในอนาคต
โดยก่อนหน้านี้รองนายกเทศมนตรีของเมืองรีโอเดจาเนโรยังได้ประกาศเจตนารมณ์อย่างเป็นทางการที่จะเสนอให้เมืองแห่งนี้เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของ BRICS และธนาคาร NDB อีกด้วย
- บราซิล และ BRICS: ความท้าทายและโอกาส
บทความของผู้เชี่ยวชาญด้านลาตินอเมริกาใน Chatham House นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสของบราซิล และ BRICS ว่า ความขัดแย้งระดับโลกอย่างสงครามอิสราเอล-อิหร่าน รวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพิ่มความเสี่ยงให้บราซิลในฐานะประธาน BRICS ในปีนี้ อาจถูกดึงเข้าสู่วังวนของความขัดแย้ง เนื่องจากทั้งอิหร่านและรัสเซียต่างเป็นสมาชิกของ BRICS จนอาจทำให้เป้าหมายสำคัญของบราซิล เช่น การส่งเสริมประชาธิปไตยในระบอบพหุภาคีนิยม, การปฏิรูปธรรมาภิบาลโลก และการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ ถูกสั่นคลอนลงได้
ประกอบกับประเทศสมาชิกใหม่ของ BRICS เช่น อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์และเอธิโอเปีย มีความโน้มเอียงไปทางระบอบเผด็จการ และอาจมีวิสัยทัศน์ที่ไม่สอดคล้องกับบราซิล ซึ่งอาจทำให้เกิดความยากลำบากในการหาจุดยืนร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม การได้อินโดนีเซียเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ มีส่วนช่วยส่งเสริมความร่วมมือเชิงสร้างสรรค์ พร้อมสนับสนุนแนวทางที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของบราซิล โดยการขยายจำนวนสมาชิก BRICS มีส่วนทำให้มุมมองของ BRICS เปิดกว้างยิ่งขึ้น เพิ่มตลาดและขอบเขตความร่วมมือ อีกทั้งยังทำให้ BRICS สร้างแรงกระเพื่อมและเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับกลุ่มประเทศสมาชิก รวมถึงประเทศหุ้นส่วนได้มากยิ่งขึ้น
ก่อนหน้านี้รองนายกเทศมนตรีของเมืองรีโอเดจาเนโรยังได้ประกาศเจตนารมณ์อย่างเป็นทางการที่จะเสนอให้เมืองแห่งนี้เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของ BRICS และธนาคาร NDB อีกด้วย
แม้จะมีอีกกว่า 40 ประเทศที่เดินหน้าแสดงความจำนง ต้องการสมัครเข้าเป็นสมาชิกถาวรของกลุ่ม BRICS แต่ดูเหมือนว่า การประชุม BRICS Summit 2025 อาจจะยังไม่มีวาระรับสมาชิกใหม่เพิ่มเติม ต้องติดตามการพิจารณาขยายจำนวนสมาชิกของกลุ่ม BRICS อีกครั้งในการประชุม BRICS Summit 2026 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศอินเดีย
อ้างอิง:
- https://www.channelnewsasia.com/east-asia/china-xi-jinping-brics-first-absence-domestic-pressures-5215266
- https://www.reuters.com/sustainability/climate-energy/brics-launch-guarantee-fund-boost-investment-member-nations-sources-say-2025-07-03/
- https://www.mfa.go.th/th/content/17th-brics-summit-th?cate=5d5bcb4e15e39c306000683b
- https://tvbrics.com/en/news/rio-de-janeiro-presents-operational-plan-for-2025-brics-summit-and-related-events/
- https://www.chathamhouse.org/2025/07/brazils-brics-agenda-may-be-hard-accomplish-after-iran-israel-war
- https://www.dw.com/en/what-is-brics-and-why-does-it-matter/a-73087358