จับ 2 ผู้ต้องหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 300 ล้าน สารภาพกลับไทยเพราะสถานการณ์ชายแดนกัมพูชาตึงเครียด
วันนี้ (5 กรกฎาคม) พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) แถลงผลการจับกุมผู้ต้องหาสำคัญ 2 ราย คือ วราเมษ และ สมศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ หลังก่อเหตุหลอกลวงเหยื่อจนสูญเงินไปกว่า 300 ล้านบาท ผู้ต้องหาสารภาพว่าหลบหนีกลับเข้าประเทศไทยเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างไทย-กัมพูชา
พล.ต.ท.ไตรรงค์ เปิดเผยว่า การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายจากคดี Hybrid Scam แจ้งความออนไลน์ว่าถูกบุคคลใช้โปรไฟล์หน้าตาดีหลอกให้ร่วมลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี จนหลงเชื่อโอนเงินไปถึง 147 ครั้ง รวมเป็นเงินประมาณ 308 ล้านบาท พบว่ามีการโอนเข้าบัญชีม้า 79 บัญชี ตำรวจไซเบอร์จึงรวบรวมหลักฐานขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหา 76 ราย และจับกุมได้แล้ว 46 ราย
จากการขยายผลคดีดังกล่าว ตำรวจพบหลักฐานเชื่อมโยงว่า ผู้ต้องหาบางรายในขบวนการนี้มีความเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีชาวจีนเป็นหัวหน้าและมีฐานปฏิบัติการอยู่ที่ ภูริคาสิโน เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา โดยแก๊งนี้ใช้วิธีการอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ข่มขู่ให้เหยื่อโอนเงินเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา
ขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์นี้แบ่งหน้าที่ออกเป็น 4 ส่วนหลัก
สายที่ 1: ทำหน้าที่ติดต่อเหยื่อและหลอกลวงตามบทที่ได้รับ
สายที่ 2: เข้ามาสนทนาต่อเพื่อสร้างความมั่นใจให้เหยื่อหลงเชื่อ โดยอ้างตัวเป็นตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ
สายที่ 3: อ้างตัวเป็น พันตำรวจเอก สนทนาเพื่อทำให้เหยื่อหลงเชื่ออย่างสนิทใจ
สายสนับสนุน: ทำหน้าที่ปลอมแปลงเอกสารราชการ จัดหาบัญชีม้า เป็นต้น
ตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐานและขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์นี้เพิ่มเติมอีก 44 ราย
จากการสอบปากคำ วราเมษ และ สมศักดิ์ ทั้งสองคนให้การรับสารภาพว่า ตนเกิดความหวาดกลัวจาก ความไม่สงบระหว่าง 2 ประเทศ (ไทย-กัมพูชา) จึงตัดสินใจเดินทางกลับเข้ามาพักอาศัยในภูมิลำเนา ก่อนจะถูกจับกุมตัวได้ในที่สุด
ผู้ต้องหาอ้างว่าถูกหลอกให้ไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีหน้าที่เป็น สายที่ 3 ซึ่งอ้างตัวเป็นพันตำรวจเอก สภ.มุกดาหาร สั่งให้เหยื่อโอนเงินเพื่อปิดคดี ทั้งสองให้การว่าเคยหลอกเหยื่อให้โอนเงินสูงสุดถึง 12 ล้านบาท โดยจะได้รับค่าตอบแทน 3.5% ของยอดเงินที่หลอกได้ และได้รับค่าตอบแทนรายเดือนละ 25,000 บาท
ส่วนเงินที่ผู้เสียหายโอนเข้าบัญชีของผู้ต้องหาทั้งสองรายนั้น ยังอยู่ระหว่างการประสานข้อมูลกับกองบังคับการปราบปราม เพื่อตรวจสอบว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการ กองร้อยปอยเปต ที่ กองปราบฯ กำลังสืบสวนอยู่หรือไม่
พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสอบสวนทำให้ทราบว่าอาจมีกลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับในคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนมากเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบดังกล่าว จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงผู้ต้องหาที่เหลือให้เข้ามามอบตัว
ผู้ต้องหาทั้ง 2 คนถูกดำเนินคดีในข้อหา ร่วมกันอั้งยี่, ร่วมกันเป็นซ่องโจร, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรม, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงเป็นบุคคลอื่น, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และร่วมกันฟอกเงิน