“บรรทัดทอง” ทำเลทองใกล้ตาย
“บรรทัดทอง” ทำเลทองใกล้ตาย
วันที่ 6 ก.ค. 2568 เมื่อความเจริญเดินทางมาถึง บางคนก็ก้าวไปพร้อมมัน แต่บางคน กลับถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ถนนบรรทัดทองเคยเป็นเส้นทางเงียบ ๆ คู่ขนานกับความพลุกพล่านของพระราม 1 และสามย่าน มันคือ ทางเลือกของนักศึกษา คนวัยทำงาน และชาวบ้านละแวกใกล้เคียง มีทั้งร้านข้าวต้มดึก ร้านส้มตำในตรอก ร้านซ่อมรองเท้าใต้แฟลต และคาเฟ่เล็ก ๆ ราคาน่ารัก ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ในราคาที่ยังพอจับต้องได้ แต่ภาพเหล่านั้นกำลังค่อย ๆ เลือนหายไป
ย่านเก่าที่ถูก “รีแบรนด์” ใหม่ ใครที่กลับมาเดินถนนบรรทัดทองในปี 2025 อาจแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง ร้านชานมที่เคยต่อคิวกลายเป็นร้านดริปกาแฟจากเอธิโอเปีย ร้านสุกี้ตี๋น้อยหายไป แทนที่ด้วยบาร์เบียร์คราฟต์ที่มีเมนูเป็นภาษาอังกฤษ
บรรดานักศึกษาจุฬาฯ หายไปจากริมถนน เหลือแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ถ่ายรูปกับกราฟฟิตี้ หรือถือกล้องเดินสำรวจคาเฟ่เปิดใหม่
การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแบบสุ่ม หากแต่เป็นผลพวงของการปรับโครงสร้างเมืองหลังโควิด
กรุงเทพฯ กำลังถูกปรับโฉมให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ ย่านที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจถูกกลุ่มทุนและผู้ประกอบการเจาะเข้ามาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และ “บรรทัดทอง” ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ฮอตฮิตเหล่านั้น
เมื่อ “อาหารแพง” ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หนึ่งในเสียงบ่นที่ได้ยินบ่อยที่สุดจากคนพื้นที่คือ “ของกินแถวนี้แพงเกิน” จากข้าวหมูกรอบ 45 บาท กลายเป็นข้าวหน้าปลาไหล 280 บาท จากข้าวมันไก่หน้าปากซอย กลายเป็นซูชิเซ็ต 900 บาท แม้จะยังพอมีร้านอาหารท้องถิ่นเหลืออยู่ แต่ก็ต้องหลบมุมในซอยลึก ๆ เพราะไม่สามารถจ่ายค่าเช่าในแนวถนนหลักได้
คนขับวินมอไซค์ หน้าบรรทัดทอง บอกว่า ข้าวแกงถาดละ 30 กลายเป็นของแปลกไปแล้ว แถวนี้เค้าไม่ได้ขายคนแบบเราอีกต่อไป
“ประสบการณ์” มากกว่า “ความอิ่ม” เมนูที่ดีไซน์เพื่อถ่ายรูปมากกว่ารองท้อง และราคาที่ตั้งไว้สำหรับกลุ่มลูกค้าต่างชาติหรือคนชั้นกลางระดับบน
กลุ่มลูกค้าเปลี่ยน ทำให้ย่านก็เปลี่ยนตาม สิ่งหนึ่งที่ตามมาทันทีหลังเกิดการปรับกลุ่มเป้าหมาย คือ พฤติกรรมของย่านก็เปลี่ยนไป ร้านอาหารเปิดสาย ปิดดึก , เมนูแปลเป็นภาษาอังกฤษ-จีน , ราคาสินค้าขยับสูงขึ้นเรื่อย ๆ , พื้นที่หน้าอาคารถูกปรับให้ถ่ายรูปได้มากกว่านั่งกินจริง
ขณะที่ นักศึกษา ม.จุฬาฯ คนหนึ่งเล่าว่า บางร้านคือไม่ต้อนรับคนไทยเลยด้วยซ้ำ สื่อสารกันไม่ได้ ไม่มีเมนูภาษาไทย แม้จะดูเหมือนเป็นความสำเร็จในแง่เศรษฐกิจ แต่คำถามก็คือ แล้วคนไทยที่เคยใช้ชีวิตในย่านนี้หายไปไหน
ค่าเช่าแพง คนอยู่จริงอยู่ไม่ไหว ปัญหาที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนโฉมของบรรทัดทอง คือ ค่าเช่า
ในรอบ 3 ปี ค่าเช่าพื้นที่พาณิชย์ริมถนนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 70-120% ร้านอาหารดั้งเดิมหลายร้านที่เคยอยู่มานานกว่า 10 ปี ไม่สามารถสู้ต้นทุนนี้ได้
แม้จะมีลูกค้าประจำ แต่กำไรไม่พอจ่ายค่าเช่า
คนไทยไม่เดิน - นนท.ลดลง จากข้อมูลของสำนักงานเขตและผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยท้องถิ่น พบว่าจำนวน “ผู้อยู่อาศัยถาวร” ในเขตบรรทัดทองลดลงกว่า 22% ในช่วง 5 ปี สวนทางกับจำนวนร้านค้าเปิดใหม่ที่เพิ่มขึ้นกว่า 35% ในช่วงเวลาเดียวกัน
แม้จะยังมีคนไทยผ่านไป ผ่านมาบ้างในช่วงกลางวัน แต่เมื่อถึงค่ำคืน ถนนสายนี้กลับเต็มไปด้วยเสียงภาษาต่างชาติ ย่านแห่งความทรงจำกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งการบริโภค
ร้านเก่าจำนวนมากต้องปิดตัวเพราะค่าเช่าที่พุ่งไม่หยุด บางร้านที่เคยจ่าย 25,000 บาทต่อเดือน ถูกปรับเป็น 65,000 บาท ยังไม่รวมค่าตกแต่งใหม่ ผลคือผู้เช่ารายใหม่จึงเป็นกลุ่มที่ พร้อมจ่าย เพื่อเข้ามาลงทุนระยะสั้นเพื่อกำไรระยะสั้น บรรทัดทองจึงค่อย ๆ ถูกแปลงร่างเป็น “ย่านทุน” มากกว่า “ย่านชุมชน”
บรรทัดทองในวันนี้ยังคง “ดูดี” สำหรับนักท่องเที่ยว แต่อาจกำลัง “ตายลง” สำหรับคนไทย เพราะมันไม่ใช่ที่ของพวกเขาอีกต่อไป
ย่านที่ถูกมองว่าเป็น “ทำเลทอง” อาจประสบความสำเร็จในแง่ตัวเลขเศรษฐกิจ แต่หากต้องแลกกับการผลักคนไทยออกจากพื้นที่ของตัวเองอาจเป็น ความสำเร็จที่กำลังฆ่าตัวเอง ไปทีละน้อย เพราะเมืองที่ไม่มีคนของตัวเอง ไม่ว่าจะร่ำรวยแค่ไหน ก็อาจไม่มีวัน น่าอยู่จริง ๆ