MOODY: จะหมดวันอีกละ ยังไม่ทันได้ทำอะไรเลย รู้จัก ‘แวมไพร์ดูดเวลา’ พฤติกรรมเสียเวลาเล็กๆ น้อยๆ แต่มักสะสมเรื่อยๆ จนมีเวลาไม่พอทำสิ่งสำคัญ
แป๊บๆ ก็หมดวันอีกแล้ว ยังไม่ทันได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย ใครเป็นแบบนี้บ่อย ยกมือขึ้น!
บางวันที่เราลืมตาตื่นขึ้นมา ก้มหน้าก้มตาเคลียร์อะไรบางอย่างที่คั่งค้างอยู่เล็กน้อยจัดการเรื่องจุกจิกนู่นนี่นั่น เงยหน้าขึ้นมาอีกทีกลับหมดวันแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้ทำอะไรสำคัญๆ หรือกิจกรรมที่ออกแรงมากๆ ที่ตั้งใจอยากทำเลย
แต่ทำไมถึงรู้สึกเหนื่อยและใช้เวลานานขนาดนี้ นั่นอาจเป็นเพราะพฤติกรรมเล็กๆ ที่ดูเหมือนไม่ได้ใช้พลังงาน แต่กลับค่อยๆ ดูดกลืนเวลาของเราทีละนิด จนกระทั่งเรารู้ตัวอีกที ก็ในตอนที่เรี่ยวแรงกายใจหายไปเกือบหมดแล้ว
นักจิตวิทยาเรียกสิ่งนี้ว่า ‘แวมไพร์ดูดเวลา’ (Time Vampires) ที่แม้ไม่ใช่ปีศาจที่น่ากลัว แต่เป็นพฤติกรรมที่คุ้นเคย เช่น การใช้เวลาหาของที่วางไม่เป็นที่ ขวดน้ำของลูกที่ลืมล้างไว้ในรถ หรือกระเป๋าสตางค์ที่ไม่รู้หายไปไหน สิ่งเหล่านี้ดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เมื่อสะสมทุกวัน ก็ทำให้เราสูญเสียชั่วโมงล้ำค่าของตัวเองไปทีละน้อย
มีคำแนะนำหนึ่งจากวงการการบินชื่อว่า ‘Flow’ เป็นแนวคิดที่นักบินใช้เพื่อลดความผิดพลาดจากการหลงลืม โดยการจัดลำดับทุกสิ่งให้อยู่ในความทรงจำของร่างกาย เหมือนเป็นความจำของกล้ามเนื้อ (muscle memory) เช่น การตรวจอุปกรณ์หรือกดสวิตช์ต่างๆ ก่อนออกบิน ถ้าเราสามารถจัดการชีวิตประจำวันของเราให้อยู่ในจังหวะที่เหมาะสมได้แบบนั้น อาจช่วยให้เราไม่ต้องเหนื่อยกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
หรือบางครั้ง เราก็เสียเวลาไปกับการ ‘ไตร่ตรอง’ มากกว่าการลงมือทำ เช่น การใช้เวลาหลายสัปดาห์เลือกซื้อรถ แต่สุดท้ายก็ซื้อยี่ห้อเดิม การเปิดวิดีโอสูตรอาหารใหม่ๆ แต่ลงท้ายด้วยเมนูเดิม หรือแม้แต่การเลื่อนดูร้านอาหารอยู่นาน สุดท้ายก็จบที่ร้านเก่าเจ้าเดิมที่กินเป็นประจำ
พฤติกรรมแบบนี้ดูเหมือนความลังเล แต่จริงๆ แล้วมันอาจเป็นรูปแบบหนึ่งของความกลัวที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะลึกๆ เราแค่อยาก ‘ลองดู’ แต่ไม่กล้าพอจะละทิ้งความคุ้นเคยที่มีอยู่ไป
ไม่เป็นไรเลยถ้าเราเคยทำแบบนั้น เพราะความกล้าไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงใหญ่โตในทันที แค่กล้าที่จะหัวเราะให้ตัวเองเบาๆ เวลารู้ตัวว่ากำลังวนลูปเดิม มันก็คือการเติบโตในอีกรูปแบบหนึ่งแล้ว ความคิดที่อยากลองสิ่งใหม่ไม่ใช่สิ่งสูญเปล่า ตราบใดที่เรารับรู้ว่ามันมีอยู่ และค่อยๆ ส่งมันไปในพื้นที่ของชีวิตที่เราพร้อมจะเปลี่ยนแปลงจริงๆ
ในบางวัน เราก็หลงทางอยู่ใน ‘ความคิดที่ไม่ได้พาเราไปไหน’ เช่น การนั่งจ้องรายการสิ่งที่ต้องทำ แล้วใช้เวลานานคิดว่าจะเริ่มจากอันไหนดี ทั้งที่สุดท้ายก็ต้องทำทุกอย่างอยู่ดี ถ้าเราลองเปลี่ยนจากการคิดวนซ้ำ เป็นการลงมือทำอะไรสักอย่างเล็กๆ ทันที ความเคลื่อนไหวเล็กๆ นั้นอาจทำให้เราหลุดจากวังวนที่จิตใจสร้างขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว
หรือหากเป็นเรื่องความสัมพันธ์ เราอาจกำลังเสียเวลาจากการพยายามเปลี่ยนคนอื่น โดยลืมไปว่าแต่ละคนให้คุณค่ากับชีวิตไม่เหมือนกัน เราอยากให้เขาทำอะไรบางอย่างเร็วขึ้น เป็นระบบขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้มีความหมายเท่ากันสำหรับเขา
การจ้ำจี้จ้ำไชในนามของความหวังดี จึงค่อยๆ บั่นทอนทั้งความสัมพันธ์และเวลาที่ควรใช้ร่วมกันอย่างเข้าใจ การย้อนมองตัวเองด้วยความเมตตาอาจช่วยให้เราถามคำถามใหม่ว่า
“สิ่งที่ฉันอยากให้เขาเปลี่ยน มันสะท้อนอะไรบางอย่างในตัวฉันหรือเปล่า?”
แม้กระทั่งการขับรถในเส้นทางเดิมโดยไม่เคยเช็กเลยว่าอาจมีทางลัดที่ดีกว่า การติดอยู่ท่ามกลางการจราจรที่หลีกเลี่ยงได้เพียงแค่เปิดแอปนำทาง ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการเสียเวลาเพราะเราคิดว่า ‘ก็เคยชินแบบนี้มานาน’ ถ้าเรายอมเปิดใจทดลองใช้แผนที่สักพัก อาจช่วยให้เราอัปเดตสมมติฐานเดิมๆ เกี่ยวกับเส้นทางชีวิตได้อย่างมีสติ
ทั้งหมดนี้ MOODY ไม่ได้บอกให้ทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตทั้งระบบในทันที แต่อยากให้เรามองเห็นว่า การจัดการกับแวมไพร์ดูดเวลาแค่เพียงตัวเดียว ก็อาจทำให้เราได้เวลาคืนมามากกว่า 60 ชั่วโมงต่อปี
เพราะชีวิตที่ดี ไม่ใช่ชีวิตที่มีเวลาเยอะที่สุด แต่คือชีวิตที่เรา ‘รู้’ ว่าเวลาแต่ละวินาทีหายไปกับอะไรบ้างต่างหาก และเมื่อเรากลับมานั่งถามตัวเองว่า “วันนี้ฉันปล่อยให้ตัวเองหมดแรงเพราะอะไร” การได้คำตอบอย่างซื่อสัตย์ ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ดีแล้ว