SOCIETY: รู้ไหม ‘เฮลิคอปเตอร์’ คือสิ่งเดียว ที่ ‘ควีนเอลิซาเบธที่ 2’ กลัว และความกลัวนี้ อาจกลายเป็น ‘ธรรมเนียมปฏิบัติ’ ที่ทำให้ ‘เจ้าชายจอร์จ’ ต้องแยกเดินทางกับครอบครัวเมื่ออายุครบ 12 ปี!
แม้จะต้องเผชิญหน้ากับสงครามโลกครั้งที่ 2 วิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจ การระบาดของโควิด-19 หรือมรสุมสั่นคลอนราชวงศ์อังกฤษที่โหมกระหน่ำพัดผ่านเข้ามาในรั้วพระราชวังบักกิงแฮมนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหายืดเยื้อของคู่รักแห่งเวลส์, ปรากฏการณ์ Megxit หรือแม้แต่การสูญเสียพระสวามีอันเป็นที่รัก แต่ ‘ควีนเอลิซาเบธที่ 2’ หรือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (Queen Elizabeth II) ก็ยังคงทรงความสง่างาม มั่นคง และไม่เคยแสดงความหวั่นไหวต่อหน้าสาธารณชนเลยแม้แต่ครั้งเดียว ตลอด 70 กว่าปีในรัชสมัยที่ยิ่งใหญ่และยาวนานที่สุดของเกาะอังกฤษ
แต่ก็มีเพียง ‘สิ่งเดียว’ ที่ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงรู้สึกหวาดกลัว แม้จะไม่เคยแสดงออกให้ประชาชนเห็น และอาจเป็นสิ่งที่หลายคนคาดไม่ถึง ล่าสุด นักเขียนชีวประวัติราชวงศ์อังกฤษได้ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ในพอดแคสต์ชื่อดัง อย่าง ‘Queens, Kings and Dastardly Things’ จาก The Daily Mail
และนี่คือเรื่องราวเบื้องหลังความกลัวของราชินีผู้ยิ่งใหญ่แห่งเกาะอังกฤษ ที่ไม่ได้เพียงส่งผลต่อพระองค์เอง แต่ยังสะเทือนถึงความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย
“สิ่งเดียวที่พระองค์ (สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2) ทรงกลัว นั่นคือ‘เฮลิคอปเตอร์’ โรเบิร์ต ฮาร์ดแมน (Robert Hardman) นักเขียนชีวประวัติราชวงศ์กล่าวไว้ในพอดแคสต์ Queens, Kings and Dastardly Things ของ Daily Mail พร้อมยังบอกอีกว่า “พระองค์สามารถอดทนได้กับทุกอย่าง ผ่านสงครามที่ยิ่งใหญ่ของโลกมาแล้ว อีกทั้งยังเคยเผชิญหน้ากับสารพัดเรื่อง แต่ ‘เฮลิคอปเตอร์’ นี่แหละเป็นสิ่งที่ทำให้พระองค์หวั่นพระทัย”
แม้อาจดูเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ เพราะในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2012 ที่กรุงลอนดอน ทั่วทั้งโลกต่างได้เห็นฉากโด่งดังในตำนานโอลิมปิก นั่นคือฉาก ‘Happy and Glorious’ ที่นักแสดงกระโดดร่มแต่งกายเป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทิ้งตัวจากเฮลิคอปเตอร์ ก่อนที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะปรากฏพระองค์ พร้อมกับเจมส์ บอนด์ ที่โอลิมปิก สเตเดียม ในฐานะแขกกิตติมศักดิ์แห่งสหราชอาณาจักร
และเฮลิคอปเตอร์เองก็นับเป็นหนึ่งในพาหนะคู่ใจของราชวงศ์อังกฤษหลายพระองค์ โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อการเดินทางทางอากาศกลายเป็นทางเลือกที่รวดเร็วและปลอดภัยขึ้นสำหรับการปฏิบัติภารกิจทั่วราชอาณาจักร ราชวงศ์หลายพระองค์จึงเลือกใช้เฮลิคอปเตอร์ในการเดินทางเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรบนถนนและลดเวลาในการเดินทาง
ที่น่าสนใจคือ สมาชิกหลายพระองค์ไม่เพียงใช้เฮลิคอปเตอร์ แต่ยังทรงเป็นนักบินด้วยตนเอง เช่น สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3, เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ, เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเอดินบะระ ซึ่งล้วนเคยได้รับการฝึกเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพ ขณะที่พระราชนัดดาอย่างเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ ก็ทรงเคยปฏิบัติหน้าที่เป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ในกองทัพอากาศ (RAF) หน่วยค้นหาและกู้ภัย ส่วนเจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์ นั้นทรงเคยบินเฮลิคอปเตอร์รุ่น Apache ในสมรภูมิอัฟกานิสถาน และผ่านการรบจริงมาแล้ว
แม้แต่ในช่วงชีวิตส่วนตัว เฮลิคอปเตอร์ก็ยังเป็นทางเลือกที่เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ และเจ้าหญิงแคเธอริน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ก็ทรงเลือกใช้เมื่อต้องเดินทางระหว่างพระตำหนักเคนซิงตันในลอนดอน และบ้านพักแอนเมอร์ ฮอลล์ ในเขตนอร์ฟอล์ก ซึ่งเหตุการณ์นี้เองก็ทำให้ผู้เป็นอย่าง อย่างควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงไม่สบายพระทัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อลูกหลานนำพระราชปนัดดาโดยสารร่วมไปด้วย
แต่ความหวาดกลัวของควีนเอลิซาเบธที่ 2 นั้นก็มีที่มาที่ไปจาก ‘ความทรงจำในอุบัติเหตุ’ เมื่อปี 1967 ที่ยังคงตามหลอกหลอนพระองค์อยู่เสมอ
โรเบิร์ต ฮาร์ดแมน เล่าว่า จุดเริ่มต้นของความกลัวที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีต่อเฮลิคอปเตอร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1967 จากเหตุการณ์สุดสะเทือนใจ เมื่อ กัปตัน J.H.L. Blount นักบินประจำการบินส่วนพระองค์ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก พร้อมกับผู้โดยสารอีก 3 ราย เหตุเกิดกับเฮลิคอปเตอร์รุ่น Westland Whirlwind HCC.12 ขณะบินจากอ็อกซ์ฟอร์ดเชียร์ไปยังซัมเมอร์เซ็ต โดยเฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวประสบปัญหาทางเทคนิค เพลาใบพัดหลักเกิดความล้าและหักกลางอากาศ ทำให้ใบพัดหลุดออกและเครื่องตกลงสู่พื้นอย่างรุนแรง เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่มีผู้รอดชีวิต
โรเบิร์ต ฮาร์ดแมน ยังระบุว่าเหตุการณ์ครั้งนั้น ‘ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้ง’ ต่อจิตใจของควีนเอลิซาเบธที่ 2 เป็นอย่างมาก แม้จะไม่ได้แสดงออกในที่สาธารณะ แต่ผู้ใกล้ชิดสามารถสังเกตเห็นความเสียพระทัยได้อย่าง ‘ชัดเจน’ และหลังจากนั้นเป็นต้นมา พระองค์ก็พยายามหลีกเลี่ยงการเสด็จฯ ด้วยเฮลิคอปเตอร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
อย่างไรก็ตาม ด้วยภารกิจของสมเด็จพระราชินีนาถที่ทรงต้องเดินทางไปทั่วประเทศ พระองค์ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้งานเฮลิคอปเตอร์ได้เสมอไป โดยเฉพาะในปี 1977 ซึ่งเป็นปีเฉลิมฉลอง Silver Jubilee หรือครบรอบ 25 ปีแห่งการครองราชย์ สมเด็จพระราชินีนาถทรงตั้งพระทัยจะเสด็จเยือนทุกภูมิภาคของสหราชอาณาจักร รวมถึงไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งในขณะนั้นกำลังเผชิญกับความไม่สงบจากเหตุการณ์ The Troubles เพื่อเป็นการแสดงพระราชหฤทัยในการรวมใจของประชาชน
โรเบิร์ต ฮาร์ดแมน เล่าว่า ในการเสด็จฯ เยือนครั้งนั้น ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ‘ไม่มีทางเลือก’ และต้องขึ้นเรือหลวงของราชนาวีอังกฤษก่อนเปลี่ยนไปใช้เฮลิคอปเตอร์ เพื่อเสด็จเยือนพื้นที่ต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียด นับเป็นหนึ่งในครั้งสำคัญที่พระองค์ต้องเผชิญหน้ากับความกลัว เพื่อภารกิจที่ใหญ่กว่าตนเอง
แม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปี ความกลัวนี้ก็ยังไม่จางหาย โรเบิร์ต ฮาร์ดแมน ยังเผยว่า แม้ในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ก็ยังทรงระมัดระวังอย่างยิ่งกับการขึ้นเฮลิคอปเตอร์ โดยเฉพาะในสภาพอากาศเลวร้ายหรือช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่การโดยสารทางอากาศมีความเสี่ยงมากขึ้น และทรงพยายามเลี่ยงการใช้งานยานพาหนะชนิดนี้เท่าที่จะทรงทำได้
แม้ว่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 จะไม่เคยออกกฎห้ามใช้เฮลิคอปเตอร์อย่างเป็นทางการในหมู่สมาชิกพระราชวงศ์ แต่พระองค์ทรงมีท่าทีที่ชัดเจนว่า ‘ไม่สบายพระทัย’ เมื่อเห็นครอบครัวของพระองค์ โดยเฉพาะเหล่ารัชทายาททรงใช้เฮลิคอปเตอร์โดยสารเป็นประจำ
อย่างไรก็ตาม ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีจุดยืนที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อลูกหลานพาพระราชปนัดดาขึ้นบินด้วยกัน โดยเฉพาะเจ้าชายวิลเลียม (พระยศขณะนั้น) สมาชิกราชวงศ์คนสำคัญ ผู้เป็นนักบินที่มีประสบการณ์สูง แต่กลับทำให้ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ไม่พอพระทัยในเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่เจ้าชายวิลเลียมทรงพาครอบครัว รวมถึงเจ้าชายจอร์จ เจ้าหญิงชาร์ล็อต และเจ้าชายหลุยส์ เสด็จโดยสารด้วยเฮลิคอปเตอร์จากพระราชวังเคนซิงตันไปยังแอนเมอร์ ฮอลล์ ในเขตนอร์ฟอล์ก เป็นระยะทางประมาณ 115 ไมล์
เหตุการณ์นี้ได้ถูกบันทึกและเปิดเผยในหนังสือ ‘Catherine, the Princess of Wales: A Biography of the Future Queen’ โดย โรเบิร์ต จ็อบสัน (Robert Jobson) นักเขียนชีวประวัติราชวงศ์ที่ระบุว่า “สมเด็จพระราชินีนาถยังทรงไม่หายจากความสะเทือนใจในอุบัติเหตุปี 1967 […] และเมื่อพระองค์ทรงทราบเรื่องการเดินทางครั้งนั้น ก็ไม่ทรงเก็บความรู้สึกไว้เลย”
ถึงขั้นที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ (พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น) ในฐานะพระราชบิดาของเจ้าชายวิลเลียม ต้องเข้าแทรกแซงด้วยความเห็นชอบ และให้เจ้าชายวิลเลียมลงนามในเอกสารยินยอมรับความเสี่ยงและ ‘รับผิดชอบโดยสมบูรณ์’ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับครอบครัว
กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่าความกลัวของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ต่อเฮลิคอปเตอร์นั้น ไม่ได้หายไปตามกาลเวลา แต่ยังฝังลึกในจิตใจ แม้กระทั่งในช่วงบั้นปลายชีวิต และเมื่อพูดถึงอนาคตของราชวงศ์ พระองค์ก็ไม่อาจวางพระทัยต่อสิ่งที่เคยพรากชีวิตคนใกล้ตัวไปได้ง่ายๆ
แม้ในรัชสมัย ควีนเอลิซาเบธที่ 2 จะไม่ออกกฎห้ามให้สมาชิกราชวงศ์ใช้เฮลิคอปเตอร์อย่างชัดเจน แล้วเคยมีข้อห้ามไม่ให้รัชทายาทโดยสารเครื่องบินลำเดียวกันหรือไม่?
ในราชวงศ์อังกฤษ มีธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานว่า รัชทายาทลำดับต้นๆ ของราชวงศ์อังกฤษ ‘ไม่ควร’ โดยสารเครื่องบินลำเดียวกัน (หรือพาหนะอื่นๆ) เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงต่อการสืบสันตติวงศ์ หากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้น
หลักการข้อนี้ไม่ได้บัญญัติเป็นกฎข้อบังคับที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นแนวทางที่ปฏิบัติกันจริง โดยเฉพาะเมื่อรัชทายาทมีอายุครบ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งถือว่าเพียงพอที่จะเดินทางแยกจากผู้ปกครองได้แล้ว
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ในปี 1994 เจ้าชายวิลเลียมต้องโดยสารแยกเครื่องบินกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์เป็นครั้งแรก หลังอายุครบ 12 ปี เช่นเดียวกับที่ กัปตันเกรแฮม ลอรี (Graham Laurie) อดีตนักบินประจำสมเด็จพระราชินีนาถ เคยเปิดเผยไว้ในพอดแคสต์ A Right Royal Podcast ของ Hello! Magazine ฝั่งอังกฤษ ว่า ตัวเองคาดว่าธรรมเนียมเดียวกันนี้จะถูกนำมาใช้กับเจ้าชายจอร์จแห่งเวลส์ รัชทายาทลำดับที่ 2 ในปัจจุบัน
นั่นหมายความว่า เมื่อเจ้าชายจอร์จมีอายุครบ 12 ปี ในปลายเดือนนี้ (วันที่ 22 กรกฎาคม 2025) ก็อาจไม่สามารถโดยสารเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ลำเดียวกับเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ได้อีก เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตจากสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เดียวที่จะมีพระราชอำนาจในการอนุโลมข้อปฏิบัตินี้ได้
จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์จะปรับรูปแบบการเดินทางของครอบครัวอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อมีรายงานว่า ฤดูร้อนที่ผ่านมา อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่สมาชิกทั้งห้าของครอบครัวแห่งเวลส์จะได้ขึ้นเครื่องบินลำเดียวกันในฐานะ ‘ครอบครัวรัชทายาท’ ก่อนธรรมเนียมจะเริ่มบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อความต่อเนื่องของราชบัลลังก์ในอนาคต