โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

โจทย์เพื่อไทยไพ่ลับ‘ยุบสภา’ สูตร 6 เดือน‘รัฐบาลรักษาการ’

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 1 วันที่แล้ว • เผยแพร่ 13 ชั่วโมงที่ผ่านมา

การเมืองหัวเลี้ยวหัวต่อ ท่ามกลางสถานการณ์รัฐบาล ที่ตกอยู่ในสภาวะ “สุญญากาศนายกฯ” มีเพียงรักษาการแทนนายกฯทำหน้าที่แทน หลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ “แพทองธาร ชินวัตร” หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ชั่วคราว หลังรับคำร้องกรณี “36 สว.” ยื่นถอดถอนจากกรณีคลิปเสียงสนทนากับฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ที่อาจเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5)

ตามกระบวนการพิจารณาคดี คาดว่าจะใช้เวลา 45-60 วันจึงจะรู้ผล ระหว่างนี้ จึงมีหลายฉากทัศน์ ที่ประเมินว่า อาจส่งผลกระทบต่อการเมือง

ฉากทัศน์แรก หากผลออกมา “เป็นบวก” คือ “นายกฯแพทองธาร” ไม่สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลภายใต้สมการ 260 เสียงก็จะเดินหน้าบริหารประเทศต่อไปได้ ท่ามกลางโจทย์ใหญ่ ที่ต้องฝ่าวิกฤติ ทั้งสภาวะเสียงที่ปริ่มน้ำในสภาฯ และสารพัดปมร้อนซึ่งเป็นด่านวัดใจรัฐบาลเบื้องหน้า

ทว่า หากผล “เป็นลบ” คือศาลวินิจฉัยให้ “แพทองธาร” สิ้นสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรี ย่อมกลายเป็น“จุดพลิก” การเมืองได้ โดยมีหลายสูตรถูกโยนหินออกมา

อ่านเกมเพื่อไทยในเวลานี้ มีการประเมินฉากทัศน์ โอกาสเป็นบวกก็มี แต่โอกาสเป็นลบก็มีสูงเช่นเดียวกัน หากเทียบจากมติศาลรัฐธรรมที่สั่งให้รับคำร้องเอกฉันท์ 9 เสียง และสั่งให้ “แพทองธาร” หยุดปฏิบัติหน้าที่ 7 ต่อ 2 เสียง

โดย 2 เสียงที่เห็นต่างนั้น ไม่ใช่การ “เห็นค้าน” การสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพียงแค่เห็นว่า “แพทองธาร” ควรหยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะบางหน้าที่ เหมือนในกรณี “ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม ที่ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เฉพาะในส่วนที่กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)

ตามรูปการณ์เวลานี้ เริ่มเห็นสัญญาณการวางเกมของบรรดาคีย์แมนรัฐบาล

“ฉากทัศน์แรก” คือ เดินเกมยื้อให้ได้อย่างน้อย 3 เดือน เพื่อผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2569 ซึ่งตามไทม์ไลน์ คือ จะมีการพิจารณาในด่าน สว.เป็นชั้นสุดท้ายในเดือน ส.ค. ก่อนที่ช่วงต้นเดือน ก.ย. สภาฯจะส่งร่างให้ให้สำนักงานเลขาธิการครม. นำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายภายในวันที่ 1 ต.ค.

ช่วงเวลาดังกล่าว ยังเป็นช่วงจังหวะเดียวกันกับฤดูการโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งจะไล่เลี่ยกับศาลรัฐธรรมนูญ ที่อาจมีคำวินิจฉัยในช่วงเวลาเดียวกัน

หากนับจากวันที่ 1 ก.ค.ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “แพทองธาร” หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว พร้อมเปิดโอกาสให้ชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน หรือภายในวันที่ 16 ก.ค. ทั้งนี้ “นายกฯอิ๊งค์”สามารถเลื่อนชี้แจงข้อกล่าวหาได้ 15 วัน หรือภายในวันที่ 31 ก.ค.

จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญต้องส่งคำแก้ข้อกล่าวหาให้ สว.ยื่นหักล้างภายใน 15 วัน หรือภายในวันที่ 16 ส.ค.จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะต้องส่งคำหักล้างให้ “แพทองธาร” ซึ่งยังมีสิทธิยื่นแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมได้อีกครั้ง

หลังจากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องทอดเวลา ก่อนลงมติ 15 วันซึ่งจะไปสิ้นสุดในวันที่ 31 ส.ค.

เบ็ดเสร็จจะใช้เวลาราว 60 วัน ซึ่งคาดว่า กระบวนการชี้ขาด น่าจะอยู่ในช่วงเดือน ก.ย.หรือยืดเยื้อไม่เกินต้นเดือน ต.ค.

กับดักนิติสงคราม“นายกฯขัดตาทัพ”

จับสัญญาณการวางเกมของคีย์แมนหลังม่าน เวลานี้ ลึกๆ เป้าประสงค์หลักอาจไม่ได้อยู่ที่การให้นายกฯ“ชิงลาออก” แล้วโหวตเลือกนายกฯคนใหม่ เพราะด้วยสภาวะเสียงปริ่มน้ำ ภายใต้เกมสภาฯเช่นนี้ ไม่ใช่สถานการณ์ที่จะสามารถวางใจได้

ไม่ต่างจากการปรากฎตัวต่อสาธารณชนของ “ชัยเกษม นิติศิริ” หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย แม้นัยหนึ่งอาจหวังโชว์ความพร้อมเป็น “นายกฯขัดตาทัพ” หากมติศาลรัฐธรรมนูญออกมาเป็นลบ ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกในเกมของพรรคเพืี่อไทย แต่อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสียทีเดียว

อย่าลืมว่า ภายใต้ปมเสี่ยงที่แอบแฝงอยู่ในเวลานี้ คือประเด็นที่เคยพูดถึงนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่อาจสุ่มเสี่ยงเผชิญนิติสงครามรอบใหม่ได้

จุดนี้เองที่อาจเป็นเกมเอื้อให้อำนาจเปลี่ยนมืออีกครั้งหากดัน “ชัยเกษม” เป็นนายกฯ

เว้นเสียแต่ว่า พรรคเพื่อไทยจะมีการเปิดดีลเฉลี่ยดุลอำนาจกับพรรคอนุรักษนิยมในขั้วรัฐบาลได้อย่างลงตัวภายใต้เงื่อนไขที่ว่าพรรคร่วมรัฐบาล260-270 ต้องจับมือกันให้แน่น

ที่ต้องจับตาคือ ชื่อนายกฯหากไม่ใช่ “ชัยเกษม” ก็อาจขยับไปที่พรรครวมไทยสร้างชาติซึ่งอยู่ในลำดับถัดไป หากเป็นเช่นนี้ก็อาจต่อลมหายใจให้รัฐบาลไปได้อีกระยะ

อ่านเกมพท.‘ยุบสภา-รัฐบาลรักษาการ’

ฉะนั้นฉากทัศน์ถัดไป ที่ต้องจับตาคือ การประกาศ “ยุบสภา” ซึ่งตามฉากทัศน์นี้ รัฐบาลจะสามารถรักษาการไปได้อีกอย่างน้อย 60 วัน จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งจะอยู่ในช่วงปลายปีนี้หรือช่วงต้นปีหน้า

ประเด็นนี้ เริ่มเห็นสัญญาณจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการหารือเกี่ยวกับ “อำนาจของรักษาการนายกรัฐมนตรี” ว่า สามารถยุบสภาได้หรือไม่ ในช่วงของการพิจารณาวาระแต่งตั้งรักษาการนายกรัฐมนตรี ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ ให้“ภูมิธรรม เวชยชัย ” รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย รักษาราชการแทนนายกฯ ในกรณีที่นายกฯไม่อาจปฏิบัติราชการได้

คำถามสำคัญอยู่ที่อำนาจของรักษาการนายกรัฐมนตรี ในการประกาศ “ยุบสภา” จะสามารถทำได้หรือไม่

ในมุมของ “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้แจ้งให้ที่ประชุมครม.ทราบว่า จากการศึกษาข้อมูลทางวิชาการของกฤษฎีกา มีความเห็นว่า รักษาการนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถยุบสภาได้ ไม่ได้เป็นไปตามที่นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯให้ความเห็น เพราะรัฐธรรมนูญของไทย ยึดโยงมาจากอังกฤษที่ใช้ระบบ Westminster

ทว่า ที่ประชุม ครม.กลับมีความเห็นตรงกันว่า เรื่องดังกล่าวไม่ควรมีการบันทึกว่าเป็นมติครม. เพราะเป็นการหารือของครม.ในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการแต่งตั้งรักษาการนายกรัฐมนตรี

ประเด็นนี้ ยังมีความเห็นจาก“ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลว่า เป็นเพียงการหารือใน ครม.เป็นความเห็นทางกฎหมาย ไม่มีการบันทึกอะไร เพราะแต่ละคนก็เห็นแตกต่างกัน

โดยเฉพาะความเห็นจาก“วิษณุ เครืองาม” อดีตรองนายกฯ ที่เคยให้ความเห็นไว้ว่า “นายกฯรักษาการ” มีอำนาจเต็มเทียบเท่ากับ “นายกรัฐมนตรี” โดยเฉพาะอำนาจในการประกาศยุบสภา ซึ่งนายกฯรักษาการสามารถใช้อำนาจส่วนนี้ได้

อ่านนัยตามที่ “ชูศักดิ์” รวมถึงพลพรรคเพื่อไทยพยายามสื่อสารในเวลานี้ โดยเฉพาะการไม่บันทึกเป็นมติครม.ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเหตุผลในเรื่องเทคนิคกฎหมายเพื่อไม่ให้ผูกมัดหรือมีผลในเชิงปฏิบัติ

เหนือไปกว่านั้นยังมีการกล่าวอ้างถึงความเห็นของ“วิษณุ” ที่ดูเหมือนจะสวนทางกันโดยสิ้นเชิงกับเลขาฯกฤษฎีกา สะท้อนให้เห็นว่า ลึกๆแล้วตัวเลือก “ยุบสภา”อาจเป็นตัวเลือกที่รัฐบาลให้ความสนใจอยู่พอสมควร

สกัดเกมส้ม-น้ำเงิน ดัน"อนุทิน"นายกฯ

อีกหนึ่ง ความน่าสนใจ อยู่ตรงที่ไทม์ไลน์ 6 เดือน “รัฐบาลรักษาการ” ที่ถูกพูดถึงในเวลานี้ ดันไปตรงกับรหัสลับ “พรรคประชาชน” จับมือ “ภูมิใจไทย” โหวต “นายกฯชั่วคราว” ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใต้ “3 ฉากทัศน์”

1. โหวตนายกฯเพื่อเพื่อประคับประคองรัฐบาล รอให้ผ่านงบประมาณปี 2569

2. หลังงบประมาณมีผลบังคับใช้ นายกฯก็จะประกาศยุบสภา

3.ในจังหวะที่มีการยุบสภา ก็จะมีการจัดทำประชามติ ประเด็นตั้ง ส.ส.ร.เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ พร้อมหย่อนบัตรเลือกตั้ง

เบ็ดเสร็จตามโมเดลดังกล่าว คาดว่า “นายกฯชั่วคราว” จะใช้เวลาบริหารประเทศ ไม่เกิน 6 เดือน ก่อนมีการเลือกตั้งใหม่

หากไม่ผิดไปจากนี้ ตามที่พรรคเพื่อไทยส่งสัญญาณไม่ยอมปล่อยให้เก้าอี้นายกฯ ตกไปอยู่ในมือ“อนุทิน”แห่งภูมิใจไทย ฉะนั้นตัวเลือก“ยุบสภา” ที่แม้เพื่อไทยอาจจะเสียเปรียบ แต่ถึงเวลาจริงอาจกลายเป็นไฟต์บังคับให้ต้องหยิบมาใช้ เพื่อสกัดเกม“เปลี่ยนตัวนายกฯ”สูตร “ส้ม” ผสม “น้ำเงิน”ก็เป็นไปได้

จริงอยู่ว่าหากมีการยุบสภา จะส่งผลให้รัฐบาลอยู่ในสถานะ "รัฐบาลรักษาการ" แต่ก็ยังคงสภาพการเป็นรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำเอาไว้ได้

เหนือไปกว่านั้นต้องไม่ลืมการที่พรรคเพื่อไทยเปิดเกมแตกหัก “ภูมิใจไทย” ก็เพราะต้องการที่จะดึงกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการจัดการเลือกตั้งกลับมาอยู่ในการครอบครอง ซึ่งเวลานี้ก็ได้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จตามความตั้งใจ

จึงต้องจับตาระหว่างทางหลังจากนี้ ไม่แน่ว่า “พรรคเพื่อไทย” อาจคิดสูตรเลือกตั้งในยามที่มหาดไทยอยู่ในมือเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบหลังจากนี้เป็นได้

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก กรุงเทพธุรกิจ

ผุดเมือง 'สแกมเมอร์"ใหม่ ตรงข้ามช่องจอม รับย้ายฐาน 'ชเวโก๊กโก่-ปอยเปต'

52 นาทีที่แล้ว

“อาเซียน”แกร่ง“FDI”เพิ่ม10%ผล“ซัพพลายเชน”เปลี่ยน-สวน“ลงทุนโลก”ลด11%

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

อยากเก่งแซงหน้า AI ต้องอัป 5 สกิลนี้ด่วน! คำเตือนจาก ม.สแตนฟอร์ด

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ไทยยกระดับความเสี่ยง 'ไข้หวัดนก H5N1' หลังกัมพูชาแนวโน้มระบาดเพิ่มขึ้น

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความการเมืองอื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม