5 ปัญหาสุขภาพจิตในผู้หญิงวัย 20-30 ช่วงวัยที่ควรแฮปปี้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่
ใคร ๆ ก็บอกว่าวัย 20-30 คือวัยที่สนุกที่สุดในชีวิต! วัยที่กำลังได้ใช้ชีวิตเต็มที่! แต่ในความเป็นจริงแล้ว แอบมีมุมหนึ่งที่ในใจสาว ๆ อาจไม่ได้แฮปปี้อย่างที่คิดใช่ไหมคะ? ความจริงคือช่วงวัยนี้สำหรับผู้หญิงหลายคน เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายจิตใจมาก ๆ วันนี้เราจึงจะมาเจาะลึก 5 ปัญหาสุขภาพจิตที่ผู้หญิงวัยนี้ต้องเผชิญกันค่ะ
1.ภาวะหมดไฟ (Burnout) ที่ไม่ใช่แค่เรื่องงาน
ไม่ว่าจะทำงานประจำ ฟรีแลนซ์ หรือเจ้าของธุรกิจ ผู้หญิงวัยนี้ต้องทำได้ทุกอย่าง แต่พอทำไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มเหนื่อยแบบไม่รู้ตัว อยู่ดี ๆ ก็ตื่นมาแล้วไม่อยากลุกไปไหน ไม่ใช่ขี้เกียจนะ แต่ใจล้าแบบพูดไม่ออก Burnout ไม่ได้เกิดจากงานอย่างเดียว แต่รวมถึงการต้องแบกความคาดหวัง ความสัมพันธ์ และภาพลักษณ์ที่คนอื่นอยากให้เราเป็น
2.เปรียบเทียบชีวิตกับคนอื่นจนเจ็บเอง
เลื่อน IG 5 นาที เท่ากับพังใจไป 5 ชั้น เพื่อนบางคนมีแฟนดี บางคนแต่งงาน บางคนมีลูก บางคนย้ายไปเมืองนอกทำงานดี มีชีวิตหรูหรา แล้วเราล่ะ? ยังกินข้าวไข่เจียวอยู่เลย การเปรียบเทียบแบบไม่รู้ตัว คือ พิษที่กัดกินใจเราทุกวัน วัยนี้เป็นช่วงที่ทุกคนมีเส้นทางที่แตกต่างกันมาก แต่โซเชียลดันทำให้คุณรู้สึกว่าช้ากว่าคนอื่น ทั้งที่จริง ๆ ชีวิตไม่ใช่การวิ่งแข่งนะคะ ไม่จำเป็นต้องคิดแค่แพ้หรือชนะก็ได้ค่ะ
3.ความรู้สึกว่า ยังไม่ดีพอ ต่อให้พยายามแค่ไหน
แม้จะตั้งใจทำงานหนัก มีความสามารถแค่ไหน หลายคนก็ยังรู้สึกว่ายังไม่เก่งพอ ยังไม่ควรดีใจกับความสำเร็จนี้ หรือเดี๋ยวคนอื่นจะคิดว่าเราไม่เก่งจริง นี่คือสัญญาณของ Impostor Syndrome ที่สาว ๆ เจอเยอะมากในช่วงวัยนี้ ซึ่งจะบั่นทอนความมั่นใจจนแทบมองไม่เห็นคุณค่าที่ตัวเองมีเลย
4.ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน จนใจเรายุ่งตาม
ไม่ว่าจะโสด มีแฟน คุยหลายคน หรือเพิ่งอกหัก ความสัมพันธ์ในวัยนี้จะซับซ้อนเกินกว่าจะสรุปง่าย ๆ หลายคนรู้สึกว่าควรมีใครแล้วไหม หรือทำไมแฟนไม่เข้าใจเราเลย ความรักกลายเป็นสิ่งที่กดดันมากกว่าหล่อเลี้ยงใจ และบางครั้งเราก็ยอมอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่ดี เพราะกลัวว่าจะไม่มีใครอีกแล้วไปเสียด้วย
5.ความรู้สึกโดดเดี่ยวแม้อยู่ท่ามกลางผู้คน
มีเพื่อน มีแฟน มีครอบครัว แต่กลับรู้สึกเหมือนไม่มีใครเข้าใจจริง ๆ นี่คือความโดดเดี่ยวที่เจอบ่อยมากในสาว ๆ วัย 20-30+ เพราะเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์เปลี่ยนบ่อย เพื่อนแยกย้าย ครอบครัวเริ่มปล่อยมือ และเราก็ยังไม่มั่นใจในตัวเองพอจะยืนคนเดียวได้เต็มร้อย บางครั้งการอยู่กับตัวเองนาน ๆ ก็ทำให้คำถามในหัวเริ่มเยอะ และความเงียบก็กลายเป็นเสียงที่ดังที่สุดในจิตใจ
ถึงใครจะมองว่าวัยนี้ต้องมีชีวิตสุดเป๊ะ! แต่ความจริง คือ ยากและเปราะบางกว่าที่คิดคิด ถ้าวันไหนรู้สึกไม่ไหว อย่าฝืนหัวเราะเพื่อให้ดูโอเค การยอมรับว่าเราเหนื่อย เศร้า หรือไม่แฮปปี้ คือจุดเริ่มต้นของการดูแลใจตัวเองอย่างแท้จริง เพราะสุดท้าย ชีวิตที่ดีไม่ใช่ชีวิตที่ไม่มีปัญหา แต่คือชีวิตที่เรารู้จักรักตัวเองในวันที่ไม่สมบูรณ์นั่นเองค่ะ
อ่านเพิ่ม