เกิดอะไรขึ้นกับ ทรัมป์-มัสก์ ที่เปลี่ยนจากเพื่อนรัก สู่ ศัตรู กับนโยบายเรือธงที่อาจสะเทือนการค้า
หมดเวลาฮันนีมูนของสองเพื่อนซี้?
หลังจากที่ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ โพสต์ข้อความโจมตีอดีตเพื่อนซี้มหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ “อีลอนอาจจะได้รับเงินสนับสนุน (ทำรถไฟฟ้า) มากกว่าใครๆ แต่ถ้าไม่ได้เงินนี้แล้ว ก็คงจะต้องปิดกิจการและกลับบ้านเกิดที่แอฟริกาใต้”
เราต่างทราบกันดีว่า ก่อนหน้านี้ทั้งทรัมป์และมัสก์นั้นใกล้ชิดกันมาก ทั้งการมอบหมายภารกิจและตำแหน่งในหน่วยงานรัฐให้มัสก์ไปดูแลอยู่นานหลายเดือนและให้มีสิทธิ์มีเสียงในการสั่งลดงบประมาณ ไล่คนออกไปก็มากมาย จนทำให้ชาวอเมริกันออกมาประท้วงไล่กันทั่วประเทศ
แม้วันนี้บทบาทเดิมของมัสก์จะจบลงแล้ว แต่มัสก์ก็ยังไม่เคยหายไปจากหน้าข่าว เพราะที่ผ่านๆ มา เขาก็ออกมาโต้แย้งนโยบายของทรัมป์รัวๆ โดยเฉพาะเรื่องนโยบายงบประมาณ สร้างความงุนงงให้กับเหล่าแฟนคลับของทั้งสองมากว่ามันเกิดอะไรขึ้น
และแม้ว่านี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่สองคนนี้ตีกันผ่านอินเตอร์เน็ต แต่ประโยคเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งที่ก่อตัวขึ้นระหว่างทรัมป์และมัสก์ ซึ่งความขัดแย้งล่าสุดนี้ปะทุขึ้นในช่วงเวลาไม่ถึง 72 ชั่วโมงด้วยซ้ำ แล้วจุดเริ่มต้นความขัดแย้งนี้มันคืออะไรกันแน่?
วันอังคาร (1 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา หลังจากที่มัสก์ออกมาโจมตี ‘Big beautiful bill’ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายภาษีและงบประมาณขนาดใหญ่ และเป็นนโยบายสำคัญในการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ ซึ่งมัสก์บอกว่า ‘น่ารังเกียจ’ และจะทำให้หนี้ของประเทศสูงขึ้นกว่าเดิม
“การใช้งบประมาณแบบบ้าคลั่งของร่างฯ นี้ ทำให้เพดานหนี้สูงขึ้นถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมันทำลายสถิติหนี้ของประเทศเราด้วยซ้ำ เรากำลังอยู่ในประเทศที่มีพรรคการเมืองเดียว คือพรรคหมูตะกละ!!” มัสก์กล่าวผ่านเอ็กซ์
นั่นเลยตามมาด้วยข้อความตอบกลับจากทรัมป์ที่บอกว่า ที่มัสก์ไม่พอใจก็เพราะ ร่างฯ นี้ไปยกเลิกข้อบังคับเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งอาจจะทำให้บริษัทของเขาเจ๊งและต้องกลับบ้านเกิดที่แอฟริกาใต้ ขณะที่ทรัมป์ตอบนักข่าวว่า เขากำลังพิจารณาอยู่ว่าจะเนรเทศมัสก์ออกนอกประเทศด้วย
พูดถึง Big beautiful bill อย่างที่บอกว่านโยบายนี้เป็นนโยบายสำคัญของทรัมป์ ที่มีร่างฯ ยาว 1,116 หน้าและมีเนื้อหาที่ครอบคลุมทุกด้าน ตั้งแต่ลดภาษี ปรับโครงสร้างสวัสดิการ และเพิ่มงบด้านความมั่นคง
แล้วมันกระทบอะไรกับมัสก์ล่ะ?
ก่อนหน้านี้ มัสก์เคยบอกไว้ว่า ถ้าร่างฯ นี้ผ่าน รีพับลิกันก็ไม่ต่างจากเดโมแครต ที่ใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างสุรุ่ยสุร่าย ขณะที่ Al Jazeera รายงานว่า หากร่างฯ ดังกล่าวผ่าน จะทำให้หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี 2025 ถึง 2034 ซึ่งปัจจุบันหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ตอนนี้อยู่ที่มากกว่า 36 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม เมื่อแง้มดูร่างฯ แล้วก็พบว่า มีการแก้ไขร่างฯ ที่ให้ยุติเครดิตภาษีสำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 7,500 ดอลลาร์สหรัฐ และจะเริ่มวันที่ 30 กันยายนนี้
ซึ่งในฐานะที่มัสก์เป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าเทสลา (Tesla) ซึ่งถือเป็นรายใหญ่ของสหรัฐฯ แน่นอนว่านโยบายนี้ ส่งผลกับเทสลาเต็มๆ เนื่องจาก การยกเลิกครั้งนี้จะส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังชะลอตัวอยู่แล้ว และนโยบายนี้อาจไปลดความต้องการของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ลงไปอีก
ก็ยังเป็นศึกเดือดๆ ที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า จากเพื่อนรักในวันนั้น สู่การพิจารณาเนรเทศออกประเทศของชายสองคนนี้จะไปสุดที่ตรงไหน ประกอบกับนโยบายยักษ์ของทรัมป์จะส่งผลอะไรกับเศรษฐกิจโลกได้บ้าง
อ้างอิงจาก