สรุปข้อมูลเอกสารกัมพูชา ร้อง UN และท่าทีชี้แจงฝ่ายไทย
ฐานข้อมูลองค์การสหประชาชาติ (UN) เผยแพร่หนังสือที่ผู้แทนกัมพูชาประจำ UN ยื่นต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ขอให้นำกรณีการปะทะกันทางทหารและข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา บรรจุเป็นวาระในหัวข้อ “การป้องกันการขัดกันด้วยอาวุธ” (Prevention of Armed Conflict) พร้อมกับแนบสำเนาคำร้องที่ยื่นต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) แสดงเจตจำนงว่าต้องการจะฟ้องคดีในศาล ลงวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา
เนื้อหาในเอกสาร กัมพูชาอ้างว่า เหตุการณ์ปะทะเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นฝ่ายทหารไทยที่เริ่มยิงก่อน หลังจากนั้นยังมีการขู่ใช้กำลัง อีกทั้งยังมีกระแสชาตินิยมหัวรุนแรงในไทย อันอาจนำไปสู่ความเกลียดชังและความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ซึ่งกัมพูชามองว่าเรื่องนี้สมควรได้รับการพิจารณาในระดับสากล
ขณะที่ฝ่ายไทยได้ส่งหนังสือชี้แจงต่อ UN ในวันที่ 19 มิถุนายน ยืนยันว่า การกระทำของทหารไทยเป็นการป้องกันตนเองภายใต้สถานการณ์ที่จำเป็น และสถานการณ์ได้คลี่คลายลงแล้ว พร้อมทั้งย้ำว่า ไทยไม่ยอมรับเขตอำนาจของศาลโลก และจะไม่ให้ความยินยอมในการที่กัมพูชาจะนำข้อพิพาทชายแดนเข้าสู่ศาลโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว ขณะที่ชี้ว่าความพยายามของกัมพูชาในการฟ้องคดีดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต และไม่สอดคล้องกับหลักการแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี
และนี่คือสรุปข้อมูลคำร้องของกัมพูชาและการชี้แจงของไทย
เหตุปะทะในพื้นที่พิพาทช่องบก (มุมเบย) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2025
กัมพูชา
- ทหารไทยเปิดฉากยิงใส่ทหารกัมพูชา ที่ประจำการอยู่ในเขตอธิปไตยกัมพูชา เป็นเหตุให้ทหารกัมพูชาเสียชีวิต 1 นาย
- การยิงของไทยเป็นการละเมิดอธิปไตยของกัมพูชา
ไทย
ฝ่ายไทยลาดตระเวนตามปกติในเขตแดนของไทย
ทหารกัมพูชาเปิดฉากยิงก่อนโดยปราศจากการยั่วยุ ถูกบังคับให้ใช้มาตรการป้องกันอย่างเหมาะสมและได้สัดส่วน สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ
ความเคลื่อนไหวทางทหารและความเสี่ยงขัดแย้งครั้งใหญ่
กัมพูชา
- มีการระดมกำลังทหารจำนวนมากทั้งสองฝ่าย
- เสี่ยงเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่แบบปี 2008 และ 2011
ไทย
ยืนยันว่าการที่กัมพูชาส่งกำลังทหารไปยังพื้นที่พิพาทที่ช่องบก และการขุดคูเลตเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศ ถือเป็นการกระทำที่ละเมิดข้อกำหนดที่ 5 ของ MOU43
การกระทำของทหารกัมพูชาถือเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักรไทยอย่างชัดเจน
การกล่าวหาและปฏิเสธข้อกล่าวหา
กัมพูชา
- ความพยายามเจรจาทวิภาคีที่ดำเนินการมาตลอดล้มเหลว เนื่องจากการขาดเจตจำนงทางการเมืองอย่างชัดเจนจากฝ่ายไทย การยืนกรานใช้แผนที่ที่วาดฝ่ายเดียว และการกระทำที่รุกล้ำอธิปไตยของกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง
- ท่าทีคุกคามล่าสุดจากแม่ทัพภาคที่ 2 ของไทย ที่ระบุว่าพร้อมใช้กำลังเพื่อยุติข้อพิพาท เป็นตัวอย่างหนึ่งของพฤติกรรมที่ไม่เป็นมิตร
- การเพิ่มขึ้นของกระแสชาตินิยมสุดโต่ง ซึ่งถูกกระตุ้นเป็นส่วนใหญ่โดยถ้อยคำที่ขาดความรับผิดชอบจากกองทัพไทยและบุคคลทางการเมืองบางกลุ่ม เป็นพัฒนาการที่น่าวิตกอย่างยิ่ง
ไทย
ไทยมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะแก้ไขความขัดแย้งกับกัมพูชาผ่านการเจรจาทวิภาคีอย่างสันติที่ดำเนินการด้วยความสุจริตใจ ด้วยเจตนารมณ์ของความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของอาเซียน และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ
ไทยได้ยื่นข้อเสนอหลายประการเพื่อลดความตึงเครียด โดยเฉพาะผ่านการใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่ เช่น คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC), คณะกรรมการชายแดนระดับภูมิภาค (RBC) และคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยการปักปันเขตแดนทางบก (JBC) เพื่อจัดการกับประเด็นด้านความมั่นคงและเขตแดน
การประชุม JBC ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14–15 มิถุนายน 2025 แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของทั้งสองฝ่ายในการใช้กลไกทวิภาคีตามกรอบของ MOU43 ซึ่งยังคงเป็นช่องทางหลักในการจัดการกับข้อพิพาทด้านเขตแดน
การแก้ไขข้อพิพาท
กัมพูชา
- ยื่นเรื่องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ให้ตัดสินกรณีพื้นที่พิพาททั้ง 4 แห่ง ได้แก่ สามเหลี่ยมมรกต (มุมเบย), ปราสาทตาเมือนธม, ปราสาทตาเมือนโต๊ด, ปราสาทตาควาย
- เห็นว่าเป็นหนทางเดียวในการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ ด้วยความยุติธรรมและเป็นกลาง
ไทย
- การตัดสินใจของรัฐบาลกัมพูชาในการยื่นเรื่องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ชัดเจนว่าทำไปโดยไม่สุจริต และทำลายกระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่ของคณะกรรมาธิการว่าด้วยการกำหนดเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ซึ่งเพิ่งประชุมกันเมื่อวันที่ 14–15 มิถุนายน 2025
- มองว่าการยื่นเรื่องต่อ ICJ ขัดต่อข้อกำหนดที่ 5 ของ MOU43 ซึ่งกำหนดว่าข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดจากการตีความหรือการใช้ MOU43 จะต้องยุติลงโดยสันติผ่านการปรึกษาหารือและการเจรจา
- ไทยไม่ยอมรับอำนาจบังคับของ ICJ ตามมาตรา 36(2) ตั้งแต่ปี 1960 และจะไม่ยินยอมให้มีการดำเนินคดีฝ่ายเดียว
อ้างอิง :