ผู้เพาะเลี้ยง "นกกรงหัวจุก" ยันร่วมศึกษากฎหมายลูก จัดการกลุ่มล่า-ค้านกป่า
ก้าวไปอีก 1 ขั้น กับการถอดชื่อนกปรอดหัวโขน หรือที่รู้จักทั่วไปว่านกกรงหัวจุก ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 สัตว์จำพวกนก ลำดับที่ 580 ห้ามล่า หรือจับมาจากธรรมชาติ อนาคตที่ตลาดนกปรอดหัวโขนจะเปิดอย่างเสรี นายพุฒิธร วรรณกิจ นายกสมาคมอนุรักษ์และเพาะพันธุ์นกกรงหัวจุกแห่งประเทศไทย มองว่า จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในวงการนกปรอดหัวโขนหลายร้อยล้านบาทต่อปี ตั้งแต่ฟาร์มเพาะเลี้ยง งานวิจัยด้านวัคซีนและยา ธุรกิจอาหารนก และการส่งออกสู่กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและยุโรป ที่กำลังนิยมเลี้ยงเป็นนกสวยงาม เสียงร้องไพเราะ
แม้ในปัจจุบันมีผู้เพาะเลี้ยงที่ขึ้นทะเบียนได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์ ค้า ครอบครอง นกปรอดหัวโขน จำนวน 11,466 ราย นกปรอดหัวโขน 134,325 ตัว แต่นายพุฒิธร บอกว่า ยังมีกลุ่มผู้ลักลอบดักจับนกปรอดหัวโขนจากธรรมชาติจำนวนไม่น้อย โพสต์ขายในสื่อสังคมออนไลน์ ส่วนหนึ่งมาจากกลไกตลาดนกถูกกฎหมายจากฟาร์มเพาะเลี้ยงยังมีราคาแพงตั้งแต่ตัวละ 2,500 บาทขึ้นไป แต่นกที่ผิดกฎหมายจะตั้งอยู่ในราคาต่ำประมาณตัวละ 350 – 1,000 บาท
หากการค้านกปรอดหัวโขนเป็นไปอย่างเสรี ราคานกจะถูกลงจากปริมาณการเพาะเลี้ยง เกิดการแข่งขันด้านราคา และนกที่เพาะจากฟาร์ม จะมีคุณภาพเสียงร้องที่ดีกว่านกจากธรรมชาติ ซึ่งผู้ที่ชื่นชอบเสียงร้อง หรือสนใจเลี้ยงเพื่อส่งแข่งขันเสียงร้อง จะเลือกนกจากฟาร์มมากกว่า
การปลดล็อกนกปรอดหัวโขน ยังต้องผ่านขั้นตอนศึกษา 3 ประเด็นหลัก ทั้งความสำคัญของการอนุรักษ์ การส่งเสริมวิถีชีวิตและอาชีพของประชาชน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 14 ก.ค.นี้ เพื่อกำหนดแนวทางการศึกษา ก่อนออกระเบียบต่าง ๆ ประกอบด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรมอุทยานฯ นักวิจัย นักอนุรักษ์ และกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงนกปรอดหัวโขน
นายสนามแข่งนก ชมรมนกกรงหัวจุก รามคำแหง 68 บอกว่า มีการจัดการแข่งขันเสียงร้องนกปรอดหัวโขน หรือนกกรงหัวจุกทุกสัปดาห์ ซึ่งเป็นสนามเล็ก แข่งนกประมาณ 50 ตัว มีเงินหมุนเวียนเดือนละ 30,000 -50,000 บาท ซึ่งทุกสนามที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสมาคมอนุรักษ์และเพาะพันธุ์นกกรงหัวจุกแห่งประเทศไทย จะมีข้อบังคับเข้มงวดเรื่องการนำนกเลี้ยงถูกกฎหมายเข้าแข่งขันเท่านั้น
อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ นายสนามคนนี้ บอกว่า นกป่าที่จับได้จากธรรมชาติ มีการเพาะเลี้ยงยาก สำเนียงร้องไพเราะ สำนวนเสียงไม่ยาว ได้คะแนนน้อย สู้นกที่เพาะเลี้ยงจากฟาร์มไม่ได้ จึงมีโอกาสน้อยหากเลี้ยงเพื่อแข่งขัน โดยตลาดที่ใหญ่ที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร มีเงินหมุนเวียนแต่ละสนามแข่งตั้งแต่ 30,000 – 1,000,000 บาท
ส่วนข้อกังวลด้านการจับนกจากในธรรมชาติ และผลกระทบด้านพันธุกรรมของนกธรรมชาติ นายพุฒิธร บอกว่า ให้มอง “นกเขาชวา” เป็นตัวอย่าง ซึ่งนกในธรรมชาติก็ไม่ได้หายไปไหน และยังเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนใกล้ชิดกับมนุษย์ ซึ่งการพัฒนาในอนาคต ที่กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และยุโรป กำลังเป็นที่นิยมในการนำเข้าไปเลี้ยงเป็นนกสวยงาม ขณะนี้มีเพียงเวียดนามที่สามารถส่งออกนกปรอดหัวโขนได้ถูกต้อง หากปลดล็อกออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง ไทยจะมีส่วนแบ่งการตลาดที่มีมูลค่าสูง ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กำลังวิจัยวัคซีนไข้หวัดนกและป้องกันโรคอื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก
อ่านข่าว : คกก.เห็นชอบหลักการ ปลด "นกกรงหัวจุก" พ้นสัตว์ป่าคุ้มครอง
เพาะพันธุ์เชิงเศรษฐกิจ กรมอุทยานฯ กำหนดราคาขาย "เหี้ย" ตัวละ 500 บาท
เช็กความพร้อม "อ่าวมาหยา" 1 ใน 11 จุด 6 อุทยานฯ ทางทะเล ใช้ระบบ "สแกนหน้า"