เรื่องใหม่ คุณแม่ต้องรู้ เพิ่มวันลาคลอด- ปรับเกณฑ์น้ำหนัก
เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ (ร่าง)พ.ร..บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภาต่อไป โดยให้ลูกจ้างหญิงมีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตร ขยายจากเดิม 98 วัน เป็น 120 วัน และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อคลอดบุตร 60 วัน และให้ลูกจ้างหญิงสามารถลาต่อเนื่องเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้อีก 15 วัน ในกรณีที่บุตรมีภาวะเจ็บป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน มีความผิดปกติ หรือมีภาวะความพิการ โดยให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันลา 50 %
รวมทั้ง ให้ลูกจ้างสามารถลาเพื่อช่วยเหลือคู่สมรสที่คลอดบุตร ได้เป็นระยะเวลา 15 วัน โดยใช้สิทธิก่อนหรือในวันที่ลาภายใน 90 วันนับแต่วันที่คลอดบุตร โดยให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างที่ลาเพื่อช่วยเหลือคู่สมรสที่คลอดบุตร 100 % ตลอดระยะเวลาที่ลา
นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามสิทธิประโยชน์ที่พี่น้องแรงงานได้รับนั้น สอดคล้องกับนโยบายที่ได้ประกาศไว้ว่า จะคุ้มครองแรงงานอย่างเท่าเทียม โดยกระทรวงแรงงานจะดำเนินการดูแลพี่น้องแรงงานทุกกลุ่ม จะผลักดันกฎหมายแรงงานใหม่ให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ กว่า 21 ล้านคน
เพื่อเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ นำไปสู่การบังคับใช้โดยเร็ว เนื่องด้วยปัจจุบันมีการทำงานในรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งกระทรวงแรงงานจะต้องดูแลแรงงานทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมศึกษารูปแบบการทำงานใหม่ เพื่อพัฒนากฎหมายและระบบประกันสังคมให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น
"สิทธิเรื่องการลาคลอด เป็นสิ่งสำคัญที่หลายฝ่ายต่างเรียกร้อง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากร ผมยืนยันที่จะเดินหน้าผลักดันให้ภาคแรงงานไทยมีความเจริญก้าวหน้า ทำให้แรงงานมีผลิตภาพสูง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และให้ กระทรวงแรงงาน เป็นโอกาสของแรงงานไทย ” นายพงศ์กวิน กล่าว
สิทธิประกันสังคมคลอด-สงเคราะห์บุตร
สำหรับสิทธิประกันสังคมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการฝากครรภ์ คลอดบัตรและสงเคราะห์บุตร ประกอบด้วย
ค่าคลอดบุตร
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเกิดสิทธิ
- จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร
- จ่ายค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายกรณีคลอดบุตรให้แก่ผู้ประกันตนในอัตรา 15,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง สำหรับผู้ประกันตนหญิงมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วันสำหรับการใช้สิทธิบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน
- กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่จำกัดจำนวนบุตร/ครั้ง
ค่าตรวจและรับฝากครรภ์
เท่าที่จ่ายจริง จำนวน 5 ครั้ง ไม่เกิน 1,500 บาท ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด (มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 64) ดังนี้
- อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง
ไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง
ไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง
ไม่เกิน 200 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ขึ้นไป จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 200 บาท
สงเคราะห์บุตร
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเกิดสิทธิ
- ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39
- จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน สิทธิที่ท่านจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 1,000 บาทต่อบุตรหนึ่งคน คราวละไม่เกิน 3 คน ( มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2568 )
- ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น
- อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์
การหมดสิทธิรับเงินกรณีสงเคราะห์บุตร
- เมื่อบุตรมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
- บุตรเสียชีวิต
- ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
ปรับมาตรฐานน้ำหนักขณะตั้งครรภ์
ขณะที่พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การที่หญิงตั้งครรภ์มีน้ำหนักเพิ่มมากหรือน้อยเกินไป อาจก่อให้เกิดผลกระทบและภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ การคลอดบุตร และภาวะสุขภาพของเด็กในครรภ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด การเสียชีวิตของแม่และเด็ก ภาวะเด็กแรกเกิดน้ำหนักน้อย หรือ ตัวโตผิดปกติ รวมทั้งความเสี่ยงต่อโรค NCDs ในอนาคต
กรมอนามัยจึงพัฒนาและจัดทำมาตรฐานการเพิ่มน้ำหนักขณะครรภ์ของประเทศไทย (ชุดใหม่) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และหญิงตั้งครรภ์ ในการติดตามและประเมินการเพิ่มน้ำหนักขณะตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ ระยะคลอด และหลังคลอดของหญิงตั้งครรภ์และทารก
มาตรฐานการเพิ่มน้ำหนักขณะครรภ์ของประเทศไทย (ชุดใหม่) ถูกพัฒนาขึ้นในรูปแบบ กราฟการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักในหญิงตั้งครรภ์ไทย(Vallop curve2) โดยแบ่งเป็น 4 ภาวะโภชนาการก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งใช้เกณฑ์ค่าดัชนีมวลกายก่อนตั้งครรภ์ ได้แก่ ผอม น้ำหนักปกติ น้ำหนักเกิน และอ้วน
“จะเป็นเครื่องมือของบุคลากรทางการแพทย์ในการติดตามและประเมินการเพิ่มน้ำหนักของหญิงตั้งครรภ์ได้ครอบคลุมทุกคน และช่วยให้หญิงตั้งครรภ์ทราบถึงแนวทางการกินอาหารและการดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างเหมาะสม เพื่อส่งผลให้ทารกมีการเจริญเติบโตสมบูรณ์ แข็งแรง และมีน้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 2,500 กรัม”พญ.อัมพรกล่าว
ทั้งนี้ กรมอนามัย จะนำมาตรฐานการเพิ่มน้ำหนักขณะครรภ์ของประเทศไทย (ชุดใหม่) ไปใช้ในการติดตามและประเมินการเพิ่มน้ำหนักในหญิงตั้งครรภ์ให้สถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ และจะบรรจุมาตรฐานการเพิ่มน้ำหนักขณะครรภ์ของประเทศไทย (ชุดใหม่) ในรูปแบบกราฟการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักในหญิงตั้งครรภ์ (Vallop curve2) ลงสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก (สมุดสีชมพู) ปี พ.ศ. 2568 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้กับบุคลากรทางแพทย์ทุกระดับ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ไทยทุกคน สามารถติดตามการติดตามการเพิ่มน้ำหนักของตนเองได้อย่างเหมาะสมต่อไป
นพ.ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเสริมว่า การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพทั้งมารดาและทารก การควบคุมน้ำหนักที่เหมาะสมตลอดการตั้งครรภ์ มีความจำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน อาทิ โรคเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูง และการคลอดก่อนกำหนด
“ข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2565 (MICs 7) พบว่า ประเทศไทยยังมีอัตราภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ในระดับสูง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการควบคุมน้ำหนักที่ไม่เหมาะสม”นพ.ปองพลกล่าว
ในการแก้ไขปัญหานี้ กรมอนามัย ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการและคณะทำงานกำหนดมาตรฐานการเพิ่มน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ของประเทศไทย จึงได้พัฒนามาตรฐานการเพิ่มน้ำหนัก ขณะตั้งครรภ์ของประเทศไทย ที่เหมาะสมสำหรับหญิงตั้งครรภ์ไทยในปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นแนวทางระดับประเทศ
โดยอ้างอิงดัชนีมวลกายของหญิงไทย ช่วยให้หญิงตั้งครรภ์สามารถควบคุมน้ำหนักได้เหมาะสม ลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน และเป็นเครื่องมือให้บุคลากรสาธารณสุขติดตาม และให้คำแนะนำด้านสุขภาพแม่และเด็กได้อย่างใกล้ชิด