เอสเพรสโซ No.1 เครื่องดื่มมีคาเฟอีนสูงที่สุด ชาเขียวรั้งอันดับ 5
ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ผู้คนวัยทำงานทั้งในเมืองเล็กเมืองใหญ่ ต่างก็ต้องการเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเพื่อกระตุ้นพลังงานและเพิ่มความสดชื่นในยามเช้า แก้วโปรดของหลายๆ คนอย่าง ชา กาแฟ ช็อกโกแลต จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ของวัยทำงานทั่วโลกไปแล้ว
สำหรับคอกาแฟและคนรักเครื่องดื่มที่ต้องการเติมพลังงานในวันทำงาน เคยสงสัยไหมว่าเครื่องดื่มแก้วโปรดที่คุณดื่มประจำนั้น มีปริมาณคาเฟอีนอยู่เท่าไร? ล่าสุด มีการเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเข้มข้นของคาเฟอีนในเครื่องดื่มยอดนิยมหลากหลายชนิด ซึ่งเผยให้เห็นว่า "เอสเพรสโซ" คือแชมป์เครื่องดื่มที่ให้ปริมาณคาเฟอีนสูงสุด!
จากข้อมูลการสำรวจล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ที่รวบรวมจาก Health Canada และ Consumer Reports พบว่า เครื่องดื่มยามเช้าที่เราดื่มกันทุกวันนั้น แต่ละชนิดนั้นมีปริมาณ "คาเฟอีน" (สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท) แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
โดยแหล่งข้อมูลข้างต้น ได้เปิดเผยปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มยอดนิยมแต่ละประเภท ซึ่งนำมาเปรียบเทียบต่อหน่วย 30 มิลลิลิตร (1 ออนซ์) ซึ่งข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับพลังงานตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อเพิ่มความตื่นตัวในเวลาที่ต้องการสมาธิการทำงาน หรือหลีกเลี่ยงอาการ "คาเฟอีนตกค้างในร่างกาย" ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น ช่วงค่ำหรือใกล้เวลาเข้านอน
'เอสเพรสโซ' แชมป์เครื่องดื่มคาเฟอีนสุดเข้มตัวจริง!
ผลการศึกษาชี้ชัดว่า "เอสเพรสโซ" คือเครื่องดื่มที่อัดแน่นไปด้วยคาเฟอีนมากที่สุด โดยมีปริมาณสูงถึง 62.5 มิลลิกรัมต่อ 30 มิลลิลิตร หรือคิดเป็น กว่า 3 เท่า ของกาแฟชงทั่วไป (brewed coffee) และมากกว่ากาแฟดีแคฟถึง 60 เท่า!
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเอสเพรสโซแก้วเล็กๆ ถึงสามารถปลุกความสดชื่นและกระตุ้นการทำงานของสมองได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความตื่นตัวในเวลาอันสั้น
สำหรับกาแฟประเภทอื่นๆ เช่น กาแฟดริป (Roasted & ground, filter drip) มีคาเฟอีน 22 มิลลิกรัมต่อ 30 มิลลิลิตร ขณะที่กาแฟที่ชงด้วยหม้อต้ม (percolated coffee) มีปริมาณคาเฟอีน 15 มิลลิกรัมต่อ 30 มิลลิลิตร ขณะที่กาแฟชงทั่วไป (Brewed coffee) มีปริมาณคาเฟอีนอยู่ที่ 17 มิลลิกรัมต่อ 30 มิลลิลิตร
มัทฉะติดอันดับ 5 ในลิสต์ แต่คาเฟอีนก็เข้มแรงแซงชาทั่วไป
แม้จะไม่เข้มข้นเท่ากาแฟ แต่ "ชาเขียวมัทฉะ" ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็มีปริมาณคาเฟอีนที่น่าสนใจ โดยอยู่ที่ 8.75 มิลลิกรัมต่อ 30 มิลลิลิตร ซึ่งสูงกว่าชาดำและชาเขียวแบบใส (4-6 มิลลิกรัมต่อ 30 มิลลิลิตร) และชามาเต (ชาสมุนไพร) ที่ชงแบบปกติทั่วไป (4-6 มิลลิกรัมต่อ 30 มิลลิลิตร) นี่จึงอธิบายได้ว่าทำไมการดื่มมัทฉะถึงช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่ยังคงความผ่อนคลายได้ดี
ส่วนเครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีปริมาณคาเฟอีนน้อย ได้แก่ ชาสำเร็จรูป (Instant tea) ที่มีปริมาณคาเฟอีน 1.9 มิลลิกรัม, เครื่องดื่มช็อกโกแลตใส่นม (Chocolate milk) ที่มีปริมาณคาเฟอีน 1 มิลลิกรัม
ขณะที่ "เครื่องดื่มประเภท Decaf" (สกัดสารคาเฟอีนออกไป) เช่น กาแฟดีแคฟสำเร็จรูป (Instant decaffeinated coffee) ที่มี 0.6 มิลลิกรัม และกาแฟคั่วบดดีแคฟ (Roasted & ground, decaffeinated coffee) ที่มี 0.4 มิลลิกรัม ซึ่งจัดเป็นเครื่องดื่มคาเฟอีนที่มีคาเฟอีนน้อยที่สุด
10 อันดับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แก้วไหนเข้มข้นมากสุด-น้อยสุด
ทั้งนี้ มีข้อมูลการจัดอันดับเพื่อเปรียบเทียบปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มยอดนิยม (ต่อ 30 มิลลิลิตร หรือ 1 ออนซ์) ดังนี้
เอสเพรสโซ ปริมาณคาเฟอีน 62.5 มิลลิกรัม
กาแฟคั่วบด, ชงแบบดริป ปริมาณคาเฟอีน 22 มิลลิกรัม
กาแฟชงทั่วไป ปริมาณคาเฟอีน 17 มิลลิกรัม
กาแฟชงแบบ percolated ปริมาณคาเฟอีน 15 มิลลิกรัม
ชาเขียวมัทฉะ ปริมาณคาเฟอีน 8.75 มิลลิกรัม
ชาดำหรือชาเขียวชงปกติ ปริมาณคาเฟอีน 4-6 มิลลิกรัม
ชาสมุนไพร ปริมาณคาเฟอีน 4-6 มิลลิกรัม
ชาสำเร็จรูป ปริมาณคาเฟอีน 1.9 มิลลิกรัม
ช็อกโกแลตใส่นม ปริมาณคาเฟอีน 1.0 มิลลิกรัม
กาแฟดีแคฟสำเร็จรูป ปริมาณคาเฟอีน 0.6 มิลลิกรัม
กาแฟคั่วบด, ดีแคฟ ปริมาณคาเฟอีน 0.4 มิลลิกรัม
ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนอย่างไร ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์?
ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำว่า การเข้าใจปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ความเร็วในการบริโภค และ ความเข้มข้น ของเครื่องดื่มนั้นๆ เพราะการจิบเอสเพรสโซเพียงเล็กน้อย อาจให้พลังงานได้รวดเร็วกว่าการค่อยๆ จิบกาแฟแบบดริป หรือชาหนึ่งแก้วใหญ่
การตระหนักถึงปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มแต่ละชนิดจะช่วยให้คุณสามารถวางแผนการบริโภคได้อย่างชาญฉลาด เพื่อรักษาระดับพลังงานให้คงที่ตลอดวัน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความสดชื่นก่อนการประชุมสำคัญ หรือหลีกเลี่ยงการดื่มมากเกินไปในช่วงเย็นเพื่อให้นอนหลับพักผ่อนได้อย่างเต็มที่
ดังนั้น จากนี้ไปก่อนจะสั่งเครื่องดื่มแก้วโปรด ลองพิจารณาปริมาณคาเฟอีนว่ามีเท่าไหร่ เพื่อที่วัยทำงานจะได้ปรับปริมาณการดื่มให้เหมาะสมกับสุขภาพ และเลือกดื่มในเวลาเหมาะสมต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น ในแต่ละวันของคุณ!
อ้างอิง: visualcapitalist, health-canada, consumer reports