เบื้องหลังความมั่งคั่ง “ตระกูลอยู่วิทยา” รวย 1.4 ล้านล้าน เศรษฐีเบอร์ 1 ไทย "กระทิงแดง-Red Bull"
เรียกว่าเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้ว ที่ตำแหน่ง “มหาเศรษฐีไทย” ถูกเปลี่ยนมือ มาอยู่ที่ “เฉลิม อยู่วิทยา” เจ้าพ่อกระทิงแดงและครอบครัว จากการจัดอันดับของ forbes นิตยสารชื่อดังระดับโลก ประจำปี 2025
โดยตระกูลอยู่วิทยา ร่ำรวยทรัพย์สิน ด้วยมูลค่าพุ่งแตะสถิติใหม่ รวม 44,500 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 1.44 ล้านล้านบาท เจ้าของร่วม Red Bull เครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งมียอดขายมากกว่า 1.3 หมื่นล้านกระป๋องทั่วโลก ในปี 2024 ที่ผ่านมา
ซึ่งแน่นอนความร่ำรวยนี้ ไม่ได้มาจากโชคช่วย แต่เป็นการส่งต่อ“รากเหง้าแห่งความมั่งคั่ง” ของต้นตระกูลผู้เป็นพ่อ บุคคลสำคัญอย่าง “เฉลียว อยู่วิทยา” คนไทยเชื้อสายจีนที่เริ่มจากขายยา-ขายวิตามิน แล้วกล้าผลิตเครื่องดื่มกระทิงแดงที่ตลาดเมินไว้อย่างน่าศึกษา
การพบกันของ “เฉลียว” และ “Dietrich Mateschitz” (ฝั่งออสเตรีย) ก็กลายเป็นต้นกำเนิดของ Red Bull เวอร์ชันอินเตอร์ แต่ในขณะเดียวกัน “เฉลียว” ก็ไม่ฝากอนาคตไว้กับตะวันตกเพียงด้านเดียว
เมื่อมองเห็นโอกาสที่ใหญ่กว่าใน “จีน” จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรพอร์ตธุรกิจทำเงินมหาศาลในแต่ละปี ผ่านกลุ่ม TCP ให้กับลูกหลาน แม้จะเสียชีวิตไปตั้งแต่ ปี 2555 แล้วก็ตาม โดยปัจจุบัน มี “สราวุฒิ อยู่วิทยา” ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP อย่างมั่นคง
จากชายขายวิตามิน สู่อาณาจักร Red Bull ที่กินรวบทั้งจีนและโลก
ย้อนไป 60 ปี ก่อน “เฉลียว อยู่วิทยา” เริ่มต้นทำงานด้วยอาชีพเป็นเซลล์ขายยา และต่อมามีแนวความคิดที่อยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง จึงตัดสินใจตั้งบริษัทขายยาขึ้น เมื่อปี 2499 ในชื่อว่า “หจก. ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล” ในยุคที่หนังเร่ วิทยุ รถแห่ โฆษณาผ่านสื่อป้ายไฟบนหลังคารถแท็กซี่ กำลังรุ่งเรือง
ก่อนเริ่มขยายกลุ่มสินค้า ไปยังเครื่องสำอาง ยี่ห้อ “แท็ตทู” และบุกตลาดเครื่องดื่มอย่างจริงจังในประเทศไทย ผ่านการคิดค้นเครื่องดื่มให้พลังงาน มีชื่อสินค้าแรกในชื่อ “ทีโอเปล็กซ์ - ดีไซรัพ” ภายใต้เครื่องหมายการค้า “กระทิงแดงคู่” และถูกเรียกขายติดปากว่า “เครื่องดื่มกระทิงแดง”
อีกทั้งการเป็นผู้ประกอบการรายแรกๆของไทย ที่ใช้กลยุทธ์แบบถึงลูกถึงคน ทั้งลด แลก แจกแถม ชิงโชคแลกฝา ก็ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วในยุคนั้น
อย่างไรก็ดี นอกจากความสำเร็จของกระทิงแดง ที่มาจากจุดเปลี่ยน จากการที่ “เฉลียว”ได้รู้จักกับ “Dietrich Mateschitz” จนสร้างเป็น เรดบูล (Red Bull) ผลิตและขายไปยังตลาดโลก นับ 70 ประเทศในปัจจุบันแล้ว
พื้นที่เบื้องหลัง ที่นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการทำธุรกิจของเรดบูล ยังเกิดขึ้นที่ “ประเทศจีน” ซึ่งปัจจุบัน Red Bull แบรนด์สัญชาติไทย อยู่ในตำแหน่งเบอร์ต้นของตลาด ที่มีมูลค่าราว 135,814 ล้านหยวน หรือกว่า 6.7 แสนล้านบาท
กลุ่มธุรกิจ TCP เป็นผู้บุกเบิกและเป็นเจ้าของแบรนด์เรดบูลในประเทศจีน โดยชาวจีนเรียก เรดบูล ในชื่อ "หงหนิว" ผ่านการเข้าไปบุกเบิกของ “เฉลียว” ตั้งแต่ ปี 2536 ณ มณฑลไห่หนาน ก่อตั้ง บริษัท ไห่หนาน เรดบูล ดริ้งค์ จำกัด (Hainan Red Bull Drink Co. Ltd.)
ภายหลังปี 2563 กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ประกาศการลงทุนกว่า 1 พันล้านหยวน เพื่อสร้างและขยายธุรกิจในประเทศจีน รวมไปถึงการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้เครื่องหมายการค้า “หงหนิว” (กระทิงแดง) และเตรียมนำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เป็นนวัตกรรมจากแบรนด์ในเครือ TCP สู่ตลาดประเทศจีนที่กว้างใหญ่
เรียกว่า ปัจจุบัน เครื่องดื่ม “หงหนิว” ของกลุ่มธุรกิจ TCP มีจำหน่ายในประเทศจีน 2 สูตร คือ “หงหนิว ทอรีน” (Red Bull® Vitamin Taurine Drink) และ หงหนิว ไวตามิน เฟลเวอร์ ดริ๊งค์ (Red Bull® Vitamin Flavor Drink) เครื่องดื่มกระทิงแดงรสชาติดั้งเดิม
กลายเป็นเครื่องดื่มยอดฮิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของจีน ไม่ว่าจะเป็นสตรีมเมอร์ ไรเดอร์ส่งของ หรือคนขับรถผ่านแอปพลิเคชัน ประกอบกับกระแสความรักในกีฬาที่เติบโต ทำให้ฐานผู้บริโภคเครื่องดื่มให้พลังงานขยายตัวต่อเนื่อง จึงอาจกล่าวได้ว่า การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจจีนคืออีกหนึ่งพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งเสริมให้แบรนด์เรดบูลแข็งแกร่งขึ้น
สะท้อนถึงการคิดไกลนำตลาดของผู้ก่อตั้ง ที่เริ่มต้นมานานก่อนที่ตลาดเครื่องดื่มให้พลังงานจะรุ่งเรืองเช่นในปัจจุบัน และไม่ได้มาจากแค่การพัฒนาสินค้า แต่เป็นการสร้างแบรนด์ให้เกิดภาพจำ วางตำแหน่ง “เรดบูล” ในจีน ไว้เหนือคู่แข่ง จนสร้างรายได้ติดท็อปฟอร์ม แบรนด์ที่มาแรงที่สุดในจีน
“สราวุฒิ อยู่วิทยา” ระบุว่า กลุ่มธุรกิจ TCP ในประเทศจีนไม่ใช่ปรากฏการณ์ชั่วข้ามคืน แต่เป็นบทพิสูจน์ของความทุ่มเทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับตั้งแต่การก่อตั้งโรงงานเรดบูลแห่งแรกในเมืองไหหนานไปจนถึงการขยายฐานการผลิตที่ทันสมัยในมณฑลเสฉวน (เมืองเน่ยเจียง) ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตถึง 1.44 พันล้านกระป๋องต่อปี
ล่าสุดยังมีฐานการผลิตแห่งใหม่ในเมืองหนานหนิง ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งเป็นโครงการมูลค่า 1.3 พันล้านหยวน ยังได้เริ่มทำการผลิตแล้วในช่วงต้นปี 2568 ที่ผ่านมา ยิ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความเชื่อมั่นอันแน่วแน่ของกลุ่มธุรกิจ TCP ในศักยภาพของจีน
จากเรื่องราวทั้งหมด ล้วนมาจากจุดเริ่มต้น ของชายขายวิตามิน…สู่ตระกูลมหาเศรษฐีล้านล้านของไทย วันนี้ “เฉลียว อยู่วิทยา” ไม่เพียงสร้างกระทิงแดงให้ดัง แต่วางหมากล่วงหน้าสำหรับรุ่นลูกรุ่นหลาน และทำให้ “Red Bull” กลายเป็นชื่อที่โลกให้การยอมรับในฐานะแบรนด์ไทยอีกด้วย
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : Thairath Money
- LINE Official : Thairath