รู้จัก "อาชีพใหม่" ที่ผู้ชายทั่วโลกหวาดกลัว...!
กลายเป็นกระแสร้อนทั่วโลก! หลังเกิดเหตุการณ์ชวนอึดอัดกลางคอนเสิร์ต “Coldplay” ที่เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อกล้องในงานแพนไปยังแฟนเพลงคู่หนึ่งที่กำลังกอดกันอย่างมีความสุข แต่เมื่อทั้งสองเห็นว่าตัวเองขึ้นจอขนาดยักษ์ หญิงสาวรีบหันหลังให้กล้อง ส่วนฝ่ายชายรีบนั่งหลบกล้องทันที
ภาพดังกล่าวกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว ชาวเน็ตเริ่มสืบค้นและพบว่าชายคนดังกล่าวคือ CPO ของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งมีครอบครัวและลูกแล้ว ขณะที่ผู้หญิงที่อยู่ด้วยกันกลับไม่ใช่ภรรยา แต่เป็น “กิ๊ก” ที่ทำงานอยู่ในบริษัทเดียวกัน สุดท้ายภรรยาของ CPO รายนี้ประกาศ "หย่า" ทันที
เหตุการณ์นี้จุดกระแสให้สังคมกลับมาตั้งคำถามถึงพฤติกรรมการ “นอกใจ” ซึ่งพบมากขึ้นในยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะในรูปแบบที่จับได้หรือจับไม่ได้ โดยเฉพาะในประเทศบราซิลที่ขณะนี้กำลังมี “อาชีพใหม่” เกิดขึ้น และได้รับความนิยมอย่างมาก
"นักทดสอบความซื่อสัตย์" หรือ Loyalty Tester กำลังได้รับความสนใจอย่างมากบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง TikTok และ Instagram โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่สงสัยในพฤติกรรมของแฟน หรือสามี
สำหรับวิธีการทำงานของ "นักทดสอบความซื่อสัตย์" มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เริ่มตั้งแต่ 1.รับงานจากลูกค้า ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ไม่มั่นใจในคู่รักของตน 2.ติดต่อเป้าหมาย โดยนักทดสอบจะส่งข้อความหาเป้าหมายผ่านช่องทางโซเชียล เช่น WhatsApp, Instagram โดยแกล้งทำเป็นรู้จักกันผิดคน
3.หลอกล่อด้วยบทสนทนา เป็นขั้นตอนที่จะเริ่มพูดคุยในเชิงชู้สาวเพื่อทดสอบว่าเป้าหมายจะตอบสนองอย่างไร และ4.รวบรวมหลักฐาน หากมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม นักทดสอบจะเก็บหลักฐาน เช่น แชต หรือภาพ แล้วส่งให้ลูกค้า
แม้จะได้รับความนิยม และสร้างรายได้อย่างดีในบราซิล บางรายทำเงินได้หลายหมื่นบาทต่อเดือนจากการทดสอบลักษณะนี้ แต่อาชีพนี้ก็เผชิญกับเสียงวิจารณ์ทางด้านจริยธรรมและกฎหมายอย่างหนักในหลายมิติ ได้แก่ 1.ละเมิดความเป็นส่วนตัว ซึ่งการหลอกล่อคู่รักในลักษณะนี้ถือเป็นการบุกรุกสิทธิส่วนบุคคล
2.ผลลัพธ์ไม่น่าเชื่อถือ 100% เพราะพฤติกรรมของคนอาจเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ 3.ผลกระทบทางอารมณ์ เพราะการถูกจับได้หรือล้มเหลวในการทดสอบอาจสร้างความเสียหายทางจิตใจอย่างรุนแรง และ4.สถานะทางกฎหมายยังคลุมเครือ แม้การจ้างนักสืบในบราซิลจะไม่ผิดกฎหมายโดยตรง แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า การหลอกล่อเช่นนี้สามารถนำไปใช้ในกระบวนการทางกฎหมายได้หรือไม่
ถึงแม้ว่า "อาชีพนักทดสอบความซื่อสัตย์" จะสะท้อนถึงปัญหาความไว้วางใจในความสัมพันธ์ยุคดิจิทัล และเป็นเครื่องมือที่ช่วยเปิดเผยความจริง แต่ก็มาพร้อมกับคำถามด้านศีลธรรมและกฎหมายที่ยังต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน เพราะหลายฝ่ายยังเชื่อว่าผลลัพธ์ที่ออกมา มีแต่ด้านลบแค่อย่างเดียวเท่านั้น