“กัณวีร์” เสียดาย กฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับประชาชน ไม่ผ่าน!
นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่า ตนรู้สึกน่าเสียดายที่ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล (พรรคประชาชน) และของภาคประชาชนไม่ผ่านวาระแรกในการประชุมสภาผู้แทนราษฏรวันนี้ มันสะท้อนให้เห็นว่า เราไม่สามารถระบุถึงปลายทางที่เราปรารถนาร่วมกันได้อย่างแนบแน่นของการนิรโทษกรรมว่ามันคืออะไร และสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงของการได้รับการนิรโทษกรรมคือใครบ้าง ดังนั้นฉันทานุมัติที่เห็นพ้องกันอย่างชัดเจนต่อสองประเด็นนี้จึงไม่เกิดในครั้งนี้
นายกัณวีร์ กล่าวต่ออีกว่า จริงๆ แล้วในทัศนะของตน การนิรโทษกรรมควรเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ใหญ่กว่านั้น ขออนุญาตเรียกสั้นๆ ว่า การเมืองแห่งการให้อภัย และกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” ซึ่งความพยายามของเราทั้งหมดในวันนี้ ก็เพื่อมุ่งหวังร่วมกันที่จะออกจากความขัดแย้งรุนแรงที่ยืดเยื้อที่มันฝังรากและทิ่มลึกลงไปในความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยด้วยกันเอง
“ ตนมองว่า ร่างทั้ง 3 ร่างที่ผ่าน เป็นเพียงร่างกฎหมายที่จะคำนึงถึงเพียงการ ลบล้างความผิด เพียงแค่แง่มุมเดียว ซึ่งมันไม่ตอบความเป็นจริงของการเมืองของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงไม่รู้จะคาดหวังอะไรกับคณะกรรมาธิการฯ ที่เกิดขึ้น เพราะ กมธ.นี้จะเป็นการพิจารณากฎหมายที่ไม่ได้ทำให้การเมืองมีการ ให้อภัย และกระบวนการยุติธรรมที่ยังไม่สามารถ เปลี่ยนผ่าน ได้เท่านั้นเอง" นายกัณวีร์ กล่าว
นายกัณวีร์ ยังได้กล่าวถึงจุดยืนของตนเองต่อการนิรโทษกรรม ซึ่งต้องรวมถึงการนิรโทษกรรมความผิดมาตรา 112 อย่างมีเงื่อนในระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมือง โดยมี 4 จุดยืนสำคัญคือ
1.ควรนิรโทษกรรมการกระทำที่มีมูลเหตุจูงใจในการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองและการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุดังกล่าวทั้งหมด โดยครอบคลุมการกระทำตั้งแต่ปี 2548-2567
2.เรื่องกรณีการนิรโทษกรรมความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น ตอนนี้เราอยู่บนทางแพร่งการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ต้องสร้างการเดินหน้าทางการเมือง ดังนั้น ควรรวมมาตรา 112 ด้วย แต่จะต้องไม่รวมการกระทำอันเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายอย่างชัดแจ้ง และต้องไม่มีการกระทำผิดซ้ำในระยะเวลาที่กำหนด
3.ขอให้มีการหยิบยกกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาพิจารณาด้วย โดยการนิรโทษกรรมนั้นจะต้องไม่รวมการกระทำที่เป็นการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ
และ 4.การนิรโทษกรรมโดยทั้งหมดจะต้องไม่รวมการประทุษร้ายต่อชีวิตหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง