น่าห่วง! 'เด็กไทย 41%' ถูกบูลลี่ออนไลน์ สูงกว่าชาติอื่น
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 16 ก.ค. 2568 ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และองค์กรภาคีเครือข่าย
จัดงานประกาศรางวัลดีเด่นด้านการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการรู้เท่าทันสื่อ ปี 2568 หรือ “MIDL Awards 2025” ภายใต้โครงการสานพลังนโยบายสู่ปฏิบัติการเท่าทันสื่อ สนับสนุนโดย สสส. เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ในการร่วมขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการใช้สื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างสรรค์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิดแล้ว! 'ศูนย์ซึมเศร้า'BMHH ชู 'ยาพ่นจมูก' นวัตกรรมลดซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย
‘BLC’ ดัน ‘สมุนไพรนวัตกรรม’เสนอภาครัฐทำงานร่วม เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
เด็กและเยาวชนทั่วโลกกว่า 70% เผชิญความเสี่ยงทางไซเบอร์
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีระบบนิเวศสื่อเพื่อสุขภาวะ โดยสนับสนุนด้านการจัดการความรู้ สานพลังภาคีเครือข่ายพัฒนากลไกเฝ้าระวังสื่อภาคประชาชน และการพัฒนานโยบายที่ทันต่อภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันแม้เด็กและเยาวชนจะอ่านออก เขียนได้ แต่ถ้าขาดทักษะรู้เท่าทันสื่อโลกออนไลน์ ไม่สามารถแยกแยะข้อมูลจริงและข้อมูลหลอกลวงที่ถูกปรับแต่งมา เพื่อหลอกล่ออารมณ์ ชักนำความคิด เด็กจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงภัยคุกคามและการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์
สอดคล้องกับรายงานผลการสำรวจดัชนีชี้วัดความปลอดภัยบนสื่อออนไลน์สำหรับเด็ก (COSI) ปี 2566 โดยสถาบันดีคิว (DQ Institute) พบเด็กและเยาวชนอายุ 8-18 ปี ทั่วโลกหรือกว่า 70% ต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางไซเบอร์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ที่น่าสนใจ พบว่า เด็กไทย 41% ถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ ซึ่งอยู่ที่ 39% เท่านั้น
“สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงาน MIDL Awards 2025 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อประกาศรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติทั้งประเภทบุคคลต้นแบบ และองค์กรต้นแบบ ในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และการรู้เท่าทันสื่อ ” รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
นักสื่อสารสุขภาวะและองค์กรสุขภาวะที่เข้มแข็ง
การสร้างแรงบันดาลใจให้กับภาคีในการร่วมกันขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการใช้สื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ เกิดความตระหนักนำไปสู่การกำหนดนโยบาย วางแผน และออกแบบกิจกรรมในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการรู้เท่าทันสื่อให้แก่เด็กและเยาวชน ทั้งนี้ สุขภาวะทางการสื่อสารจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องสานพลังของทุกภาคส่วนที่เป็นพลังพลเมืองตื่นรู้ หรือ Active Citizen เพื่อร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และเสริมสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อไปพร้อมกัน
ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) กล่าวว่า สสดย. ร่วมกับ สสส. มุ่งสร้างค่านิยมและแรงบันดาลใจให้แก่สังคม เกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อสร้างสุขภาวะดีทุกมิติ เปิดโอกาสให้บุคคลและองค์กรทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งผู้ได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติประเภทบุคคลต้นแบบ 5 คน จากผู้สมัคร 53 คน และประเภทองค์กรภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ที่ขับเคลื่อนด้านการสร้างสรรค์การสื่อสารสุขภาวะต้นแบบ 8 แห่ง จากภาคี 28 แห่ง
ถือเป็นกำลังสำคัญที่จะเป็นนักสื่อสารสุขภาวะและองค์กรสุขภาวะที่เข้มแข็ง สามารถสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อได้อย่างกว้างขวาง พร้อมเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ และองค์กรในหลายระดับ ให้ตื่นตัวและร่วมสร้างสรรค์การสื่อสารที่ดีสู่สังคม เพื่อลดปัญหาความรุนแรง การกลั่นแกล้ง ความขัดแย้ง และอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ภัยเร่งด่วนของสังคมไทยที่กำลังเผชิญคือ "ภัยออนไลน์" และการถูกคุกคามเพื่อแสวงหาประโยชน์” จากการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการติดเกม ติดพนันออนไลน์ บุหรี่ไฟฟ้าที่โฆษณาในสื่อออนไลน์ ทำให้เด็กเข้าใจผิดและส่งผลกระทบสุขภาพกลายมิติ รวมถึงการนำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว และสังคมโดยรวม
จากผลการสำรวจสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ ปี 2567 โดยกรมประชาสัมพันธ์ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยเรามีโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่ดีมาก ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและเร็ว และสามารถสร้างหรือใช้ประโยชน์จากสื่อได้มากมาย แต่กลุ่มวัยที่สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงในการได้รับผลกระทบจากสื่อที่ไม่ปลอดภัย และผลกระทบต่อระบบสุขภาพ นั่นคือ กลุ่มเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงวัย
“การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และรู้เท่าทันสื่อ ให้ประสบผลสำเร็จได้ในการแก้ไขปัญหานั้นคือ 1.การสร้างความรอบรู้ เท่าทันข้อมูลและความสามารถด้านดิจิทัล หรือ Digital Literacy รวมถึงการสร้างเนื้อหาที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมสื่อสารเชิงบวก 2.การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการเสนอแนะนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม โดย สช. ได้มีการผลักดันมติที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของสื่อต่อเด็กและเยาวชน ผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พร้อมสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน 3. การเสริมพลังความร่วมมือ สร้างความตระหนักรู้และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เท่าทันสื่อ ไปพร้อมๆ กับการบังคับใช้กฎหมายที่ที่มีประสิทธิภาพ ร่วมมือกับแพลตฟอร์มต่างๆ” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
สำหรับรายชื่อผู้ให้รับรางวัลดีเด่น ด้านการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการรู้เท่าทันสื่อ ปี 2568“MIDL Awards 2025”
1. ประเภทสถานศึกษาดีเด่น
(1) โล่รางวัล ได้แก่ โรงเรียนเทศบาล 5 เด่นห้า ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
(2) เกียรติบัตร จำนวน 2 โรงเรียน ได้แก่
- โรงเรียนห้วยซื้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก ตำบลหัวยข้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
- โรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
2. ประเภทบุคคลดีเด่น อายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์
(1) โล่รางวัล ได้แก่ นายวรภัทร เด็นเพชรหนัง
(2) เกียรติบัตร ได้แก่ นายสุภชัย อุดคำ
3. ประเภทบุคคลดีเด่น อายุเกิน 25 ปีบริบูรณ์
(1) เกียรติบัตร จำนวน 3 คน ได้แก่
- นางโสภิดา มั่งอะนะ
- นางสาวนภาพร ไตรวิทย์วารีกุล
- นายเอกพงษ์ หริ่มเจริญ
4. ประเภทองค์กรภาคประชาสังคมดีเด่น
(1) โล่รางวัล ได้แก่ มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
(2) เกียรติบัตร ได้แก่ สถานีเด็ก
5. ประเภทองค์กรภาคเอกชนดีเด่น
(1) โล่รางวัล ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
(2) เกียรติบัตร ไม่มีผู้ได้รับรางวัล
6. ประเภทองค์กรภาครัฐ ดีเด่น
(1) โล่รางวัล จำนวน 2 องค์กร ได้แก่
- กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
- กรมสอบสวนคดีพิเศษ
(2) เกียรติบัตร ไม่มีผู้ได้รับรางวัล