เจาะมูลค่า T-VER เมื่อคาร์บอนเครดิตไทย ‘ไม่ได้ถูก’ อย่างที่คิด
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เปิดเผยข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า ‘ราคา’คาร์บอนเครดิตของประเทศไทยที่หลายฝ่ายมองว่า ‘ถูกกว่า’ ต่างประเทศนั้น อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะแท้จริงแล้ว ราคาคาร์บอนเครดิตในแต่ละประเทศไม่ได้สามารถเปรียบเทียบกันตรงไปตรงมา เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อราคา โดยเฉพาะ ‘กลไกตลาด’ ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศไทย
ตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ดำเนินงานภายใต้ ‘ตลาดภาคบังคับ’ (Compliance Market) ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้กำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านระบบ Cap-and-Trade และจัดสรรสิทธิในการปล่อยมลพิษให้กับภาคอุตสาหกรรม หากบริษัทใดปล่อยก๊าซเกินกว่าเพดานที่ได้รับ ก็จะต้องซื้อสิทธิเพิ่มเติม หรือซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชย ซึ่งกลไกนี้ทำให้เกิดความต้องการขนาดใหญ่ที่มีความแน่นอน ส่งผลให้ราคาคาร์บอนเครดิตในตลาดภาคบังคับสูงขึ้นตามกลไกอุปสงค์และอุปทาน ในทางกลับกัน ประเทศไทยใช้ ‘ตลาดภาคสมัครใจ’ (Voluntary Market) ซึ่งไม่มีการบังคับทางกฎหมาย องค์กรต่างๆ เข้าร่วมโดยสมัครใจเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม หรือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กร ด้วยเหตุนี้ ราคาจึงมีความผันผวนและหลากหลายมากกว่าตลาดภาคบังคับ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาคาร์บอนเครดิตในตลาดภาคสมัครใจมีความหลากหลาย ได้แก่ ประเภทของโครงการ เช่น โครงการป่าไม้ พลังงานทดแทน หรือการเกษตร มาตรฐานการรับรอง เช่น VERRA หรือ Gold Standard รวมถึง ปีที่เกิดเครดิต (Vintage Year) และ ผลประโยชน์ร่วมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (Co-benefits) อาทิ การสนับสนุนชุมชน หรือการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อราคาคาร์บอนเครดิตในระดับโครงการ
ปัจจุบัน โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER ภายใต้การกำกับของ อบก. ถือเป็นตลาดหลักของประเทศไทย ราคาซื้อขายเฉลี่ยของคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER มักถูกนำไปเปรียบเทียบกับราคาของตลาดภาคบังคับในต่างประเทศ จนนำไปสู่ข้อสรุปว่า ‘ราคาถูก’ กว่า แต่ในความเป็นจริง การพิจารณาเพียงแค่ ‘ราคาเฉลี่ย’ อาจไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของคาร์บอนเครดิตแต่ละประเภท และอาจถูกบิดเบือนไปจากข้อตกลงการซื้อขายที่มีปริมาณมากผิดปกติ ซึ่งดึงราคาเฉลี่ยไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งอย่างไม่เป็นธรรม
การประเมินราคาคาร์บอนเครดิตที่ถูกต้องจึงควรพิจารณาทั้งภาพรวมจากราคาเฉลี่ย เพื่อดูแนวโน้มของตลาด และพิจารณาราคาแยกตามประเภทโครงการเพื่อสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุน ผู้ซื้อขาย หรือผู้กำหนดนโยบาย การวิเคราะห์ราคาที่แยกตามประเภทโครงการจะช่วยให้เห็นว่าตลาดให้คุณค่าแค่ไหนกับคาร์บอนเครดิตจากโครงการต่างๆ เช่น โครงการป่าไม้ที่มีผลประโยชน์ร่วมสูง มักได้รับความสนใจมากกว่าพลังงานทดแทนที่มีผลประโยชน์ร่วมต่ำกว่า
แม้ว่าโดยภาพรวมราคาเฉลี่ยของโครงการ T-VER อาจดูไม่สูงนักเมื่อเทียบกับตลาดภาคบังคับในต่างประเทศ แต่หากพิจารณารายละเอียดเชิงลึก จะพบว่าบางประเภทของคาร์บอนเครดิตไทยมีราคาสูงมาก โดยเฉพาะโครงการป่าไม้หรือโครงการที่มีผลประโยชน์ร่วมชัดเจน ซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดคาร์บอนโลก ข้อมูลจากเว็บไซต์ตลาดคาร์บอน ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2568 ระบุว่า คาร์บอนเครดิตจากโครงการป่าไม้มีราคาซื้อขายสูงสุดถึง 3,000 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) หรือประมาณ 92.22 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่โครงการ P-REDD+ มีราคาสูงสุด 2,000 บาทต่อตัน และราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,510.20 บาทต่อตัน ส่วนคาร์บอนเครดิตจากโครงการพลังงานทดแทนอย่างชีวมวล มีราคาซื้อขายอยู่ที่ 50–75 บาทต่อตัน หรือประมาณ 1.5–2 ดอลลาร์สหรัฐฯ
หากเปรียบเทียบกับตลาดต่างประเทศในช่วงเดียวกัน รายงาน State and Trends of Carbon Pricing 2025 ระบุว่า โครงการประเภทป่าไม้ในตลาดภาคสมัครใจมีราคาปิดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน หรือ 504.21 บาท และโครงการ REDD+ อยู่ที่ 5.30 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน หรือ 172.41 บาท ขณะที่โครงการพลังงานทดแทนมีราคาต่ำกว่ามาก โดยอยู่ที่ราว 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 35 บาทต่อหน่วยเท่านั้น
ข้อเท็จจริงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า คาร์บอนเครดิตไม่ได้มีมูลค่าเท่ากันทุกประเภท ราคาขึ้นอยู่กับกลไกตลาด ความต้องการในระบบ และคุณลักษณะของแต่ละโครงการ ดังนั้นการจะสรุปว่า ‘คาร์บอนเครดิตไทยราคาถูก’ จึงไม่สามารถใช้เพียงราคาเฉลี่ยเป็นตัวตัดสิน แต่จำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลเชิงลึกควบคู่กันไป ทั้งประเภทโครงการ คุณภาพเครดิต และแนวโน้มของตลาดในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้เข้าใจภาพรวมและมูลค่าที่แท้จริงของคาร์บอนเครดิตไทยอย่างรอบด้าน.