เปิดกลยุทธ์ลงทุนหุ้นไทย จังหวะภาษีไทย-สหรัฐฯ ยังไร้ความชัดเจน
ผลการเจรจาภาษีนำเข้าสหรัฐฯ กับหลายประเทศมีความคืบหน้ามากขึ้น ล่าสุด ฟิลิปปินส์ จะเปิดตลาดเสรีให้แก่สินค้าจากสหรัฐ (ภาษี 0%) และจะร่วมมือกันด้านการทหาร แลกกับการที่สหรัฐฯ ลดภาษี RECIPROCALS เหลือ 19% (จาก 20%)
เช่นเดียวกัน ญี่ปุ่น จะลงทุนในอเมริกามูลค่าถึง 5.5 แสนล้านดอลลาร์ แลกกับการที่สหรัฐฯ ลดภาษี RECIPROCALS เหลือ 15% (จาก 25%)
ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้มีข้อตกลงทางการค้าไปแล้วหลายประเทศ ได้แก่ อังกฤษ (10%), เวียดนาม (20%), อินโดนีเซีย (19%) ,จีน (30%)
ขณะที่ไทย ยื่นข้อเสนอรอบสุดท้ายในให้กับสหรัฐฯ ในวันนี้ (23 ก.ค.2568) หลังจากยื่นข้อเสนอรอบแรกไปเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2568 และมีการเจรจาอย่างเป็นทางการระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ล่าสุดเมื่อค่ำวันที่ 17 ก.ค.2568 ที่ผ่านมา
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ภาษีในระดับต่างๆ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยแตกต่างกันออกไป
- หากภาษีเท่าเดิม 36% (หนักสุด) มีโอกาสเพิ่ม DOWNSIDE ให้กับ GDP GROWTH ไทยปีนี้โตต่ำกว่า 2.3%YoY ที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออก รวมถึงการลงทุน FDI มีความเสี่ยงต่อการเกิด TECHNICAL RECESSION (GDP ติดลบ 2 ไตรมาสต่อกัน)
- หากภาษีลดลงอยู่ในช่วง 20-36% ยังมีความเสี่ยงที่ต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่อัตราภาษีต่ำกว่า อย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แต่ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกที่จะลดผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย และลดความเสี่ยงต่อการเกิด TECHNICAL RECESSION
- หากภาษีต่ำกว่า 20% ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกันกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน คาดลดแรงกดดันต่อภาคส่งออกและ FDI ขณะที่ GDP GROWTH มีโอกาสที่จะขยายตัวได้ราว +2%YoY
อย่างไรก็ตาม ตามข้อเสนอของ รมว.คลัง ที่ออกแถลงตามสื่อต่างๆ จับใจความได้ว่ามีข้อเสนอที่คล้ายคลึงกับประเทศเพื่อนบ้าน คือการยกเลิกภาษีทั้งหมดสำหรับสินค้าสหรัฐฯ และเปิดตลาดให้สหรัฐฯ แบบปลอดภาษี (0%) รวมถึงการซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น ทั้งเครื่องบิน BOEING-สินค้าเกษตร-อุปกรณ์ทางการทหาร, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในสหรัฐฯ เป็นต้น
ดังนั้นจึงมองว่าไทยน่าจะถูกเก็บ RECIPROCAL TARIFF ใกล้เคียงกับเพื่อนบ้าน คือระดับต่ำกว่า 20% และหนุนเม็ดเงินไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงในอนาคตเช่นเดียวกัน
โดยกลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ เน้นหุ้นที่ต่างชาติให้ความสนใจ โดยการซื้อสุทธิเยอะสุด 10 ใน 11 วันทำการ (ข้อมูลสิ้นสุด 7 -22 ก.ค.2568) และผลตอบแทนยังไม่ปรับตัวขึ้นมากนัก อาทิ AOT, CPALL, KTC, KBANK, CPN, SCC, WHA, CPF, BBL, ADVANC, OR, CBG, PTT, HANA, AMATA, TOP, BH, SAWAD, PTTGC, CK เป็นต้น