นับถอยหลังปิดฉาก”แพทองธาร” มติแขวน7ต่อ2พลิกกลับยาก
แม้มติที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 1 ก.ค. จะมีมติด้วยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ให้ "แพทองธาร ชินวัตร" หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีไว้จนกว่าการวินิจฉัยคำร้องของกลุ่ม 36 สมาชิกวุฒิสภาที่ยื่นถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งจากกรณีคลิปเสียงอัปยศจะเสร็จสิ้นลง
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตุลาการศาล รธน.เสียงข้างน้อย 2 เสียง คือ ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาล รธน. และอุดม สิทธิวิรัชธรรม ก็ไม่ได้เห็นแย้งหรือคัดค้านว่าไม่ควรให้ แพทองธารหยุดปฏิบัติหน้าที่ หยุดการใช้อำนาจฝ่ายบริหารในฐานะนายกฯ เพียงแต่เห็นว่า ควรให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะ 3 เรื่อง ด้านความมั่นคง ด้านการต่างประเทศ และด้านการคลัง จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ก็คือเหมือนกับที่ก่อนหน้านี้ ศาล รธน.เคยสั่งให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม หยุดปฏิบัติหน้าที่การดูแลบังคับบัญชากรมสอบสวนคดีพิเศษ และไม่ให้ทำหน้าที่รองประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ ในคำร้องที่ สว.ร้องถอดถอน พ.ต.อ.ทวี ด้วยข้อกล่าวหาใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในการสอบสวนและแทรกแซงการสอบสวนการเลือก สว.โดย 2 ตุลาการ “นครินทร์-อุดม” ชี้ว่า “เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง” ก็เสนอว่า ให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ในงาน 3 ด้านข้างต้น แต่ก็แพ้เสียงข้างมาก เพราะ 7 ตุลาการศาล รธน.เห็นว่า พฤติการณ์ตามคำร้องมีน้ำหนัก ไม่สมควรปล่อยให้ทำหน้าที่นายกฯ ต่อไปได้ ต้องระงับการใช้อำนาจการเป็นนายกฯ ไว้ก่อน
อ่านเจตจำนงของ 9 ตุลาการศาล รธน.ก็เห็นได้ชัดว่า ต่างเห็นสอดคล้องกันว่า จากพฤติการณ์ของแพทองธารที่ปรากฏในคลิปเสียงอัปยศ ที่สนทนากับฮุน เซน มีน้ำหนัก รับฟังได้นั่นเอง ก็ต้องแขวนไว้ก่อน
เมื่อเป็นแบบนี้ แพทองธาร ชินวัตร ก็โคม่า มีโอกาสสูงที่จะหลุดจากนายกฯ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
เรียกได้ว่า นับถอยหลังรอฝังกลบทางการเมือง
และทำให้ ครม.อิ๊งค์ 2 ที่โปรดเกล้าฯ ลงมาเมื่อช่วงเช้าวันที่ 1 ก.ค. ที่เป็นวันเดียวกับที่แพทองธารถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ไม่แน่อาจจะกลายเป็น ครม.ที่มีอายุการทำงานแค่ไม่กี่เดือน ก็ต้องมาตั้งรัฐบาลกันใหม่ โหวตนายกฯ คนใหม่เพื่อมาแทนแพทองธาร
เพราะอย่างที่ฉายภาพมติตุลาการศาล รธน.ที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ 7 ต่อ 2 ข้างต้นเอาไว้ มันก็เห็นชัดว่า โอกาสที่แพทองธารจะพลิกกลับมาชนะคดี ยังได้เป็นนายกฯ ต่อ น่าจะยากพอสมควร เพราะหากเป็นมติแบบ 5 ต่อ 4 หรือ 6 ต่อ 3 แบบนี้ ยังพอได้ลุ้นชนะคดีได้อยู่ แต่พอเป็น 7 ต่อ 2 แถม 2 เสียงก็เห็นด้วยให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ให้หยุดเฉพาะแค่ 3 ภารกิจ
ทำให้หากประเมินตอนนี้ โอกาสที่แพทองธารจะกลับมาได้ก็พอมี แต่ริบหรี่ ยกเว้นมีตัวแปร-ตัวพลิกเกม ที่จะพลิกสถานการณ์ให้อิ๊งค์ชนะคดี แต่ถ้าดูจากหน้างานตอนนี้ยังไม่เห็นวี่แวว
อ่านจังหวะการเดินเกมของ ทักษิณ-เพื่อไทย ต่อจากนี้เชื่อว่า ลำดับแรกจะใช้วิธี ประคองสถานการณ์-ยื้อเวลาเพื่อให้รัฐบาลเพื่อไทยอยู่ในอำนาจนานที่สุด
ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การให้ แพทองธารใช้สิทธิ์ขยายเวลาในการส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งตามขั้นตอนสามารถขยายได้ 2 รอบ
วิธีการก็คือ ที่ศาล รธน.ให้แพทองธารส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน ที่ก็คือจะครบประมาณกลางเดือน ก.ค. ทางแพทองธาร-ทีมทนายความ ก็ขอขยายเวลาต่อไปอีก 15 วัน ก็จะเป็น 30 วัน และหากจะยื้ออีก ก็ขยายได้อีก 15 วัน เบ็ดเสร็จก็ร่วม 45 วัน นับจาก 1 ก.ค. แต่การขยายเวลารอบ 2 ต้องดูด้วยว่า ศาล รธน.จะให้หรือไม่ อาจจะไม่ให้ก็ได้
จากนั้นพอแพทองธารส่งไปให้ศาล รธน. ทางศาลก็ต้องส่งเอกสารของนายกฯ ไปให้กลุ่ม 36 สว.เพื่อทำ "คำโต้แย้ง" สวนนายกฯ ที่ก็มีเวลา 15 วัน และขยายได้อีก 15 วันเช่นกัน แต่เชื่อว่ากลุ่ม 36 สว.ต้องการ ปิดเกมเร็ว คงไม่ขยายเวลา คงใช้เวลา 15 วันก็เพียงพอ หรือต่อให้เต็มที่ก็อาจขยาย 1 รอบ ก็รวมเป็น 30 วัน
จากนั้นศาล รธน.จะส่งเอกสารของ สว.กลับไปให้แพทองธารอีกครั้งหนึ่ง ขั้นตอนนี้แพทองธารก็มีเวลาอีก 15-30 วัน ในการทำ เอกสารชี้แจงคำโต้แย้งของ สว. จากนั้นศาล รธน.จะส่งกลับไปให้ สว.อีกครั้งเป็นรอบสุดท้าย ก็ถือว่าจบขั้นตอนดังกล่าว ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนครึ่งถึง 3 เดือน อันนี้คือกรณีแบบใช้สิทธิ์ขยายเวลากันเต็มที่ แต่หากทั้ง สว.และแพทองธารไม่มีการขอขยายเวลา การพิจารณาคดีก็จะเสร็จเร็วขึ้นร่วมเดือน
จากนั้นตุลาการศาล รธน.จะมาดูแล้วว่า พยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่ จำเป็นต้องเปิดห้องพิจารณาคดีไต่สวนหรือไม่ เพื่อเรียกผู้ร้องคือ กลุ่ม 36 สว.กับแพทองธาร ผู้ถูกร้อง มาให้ถ้อยคำต่อศาล รธน. ซึ่งหากเห็นควรให้เปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดี ก็อาจใช้เวลาในส่วนนี้อีกประมาณ 15-30 วัน แต่หากไม่มีการเปิดห้องไต่สวน คดีก็จะยิ่งจบเร็วขึ้นมาอีก
เนื่องจากศาล รธน.ก็ไม่อยากให้คดีล่าช้า เพราะการที่ประเทศ ไม่มีนายกฯ ตัวจริงบริหารประเทศ ย่อมไม่เป็นผลดี ตรงนี้ตุลาการศาล รธน.รู้ดีอยู่แล้วว่าควรทำคดีให้จบแบบสะเด็ดน้ำ รู้ผลกันไปเลย แต่จะเปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่ายสู้คดีกันอย่างเต็มที่ หากเห็นว่าฝ่ายไหนพยายามดึงเวลาให้ยื้อจนเกินเหตุ อาจไม่ยอม
โดยนอกจากการใช้แผนดึงเวลาการพิจารณาคดีออกไปให้นานที่สุดแล้ว ทักษิณ-เพื่อไทยก็ต้องวางแผนสู้ศึกอีกหลายอย่าง เช่น อาจร้องขอให้มีการเปิดห้องไต่สวนเพื่อหวังให้แพทองธารได้กล่าวเปิดใจ กรีดน้ำตา กลางห้องพิจารณาคดี เพื่อให้ภาพข่าวออกไปทั่วประเทศ โดยหวังผลทางการเมืองและการตัดสินคดี เป็นต้น
ขณะที่การสู้คดี ยังไงทักษิณต้องลงมาคุมเอง จะไม่ลอยตัว เอามือล้วงกระเป๋า ดูแบบห่างๆ แบบสมัยเศรษฐา ทวีสิน โดนคดีศาล รธน. เพราะหากลูกสาวต้องพ้นจากนายกฯ ยังไงก็คงต้องการให้พ้นไปแบบบอบช้ำน้อยที่สุด มีแผลน้อยที่สุด จึงต้องระดมมือกฎหมาย-ทนายความมือดีๆ มาช่วยวางแผนสู้คดี โดยเฉพาะพวกรุ่นใหญ่ เช่น ชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี, ชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด เพื่อช่วยในเรื่องการดูประเด็นข้อต่อสู้ที่จะยื่นศาล รธน.
ที่ข้อต่อสู้หลักๆ ก็น่าจะ เช่น คลิปเสียงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการไต่สวนคดีได้-การสนทนาดังกล่าวเป็นการสนทนาแบบไม่เป็นทางการ จึงใช้คำพูดแบบคนรู้จักกันมาก่อน-การยืนยันว่าเป็นนายกฯ ที่รักชาติ ไม่ยินยอมให้ประเทศเสียอธิปไตย เป็นต้น
แต่อย่างที่บอก สถานการณ์ของแพทองธารยามนี้ เข้าสู่killing zone แดนสังหารแล้ว โอกาสจะชนะคดีมีอยู่ แต่น้อยมาก เพราะจำนนด้วยหลักฐาน ความผิดปรากฏชัด คนทั้งประเทศรับรู้ได้ ทำให้โอกาสที่ศาล รธน.จะปล่อยให้พ้นผิด หลายกระแสประเมินว่าริบหรี่.