‘เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง’ สนามพิสูจน์สมรรถนะ ประสิทธิภาพ และนวัตกรรมจากมิชลิน
การแข่งรถรายการ ‘เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง’ ที่มีชื่อเสียงระดับตำนาน ประจำปี 2568 ซึ่งเป็นการแข่งขันครั้งที่ 93 ปิดฉากลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ท่ามกลางสภาพอากาศปลอดโปร่ง การแข่งขันยอดนิยมรายการนี้มีทีมผู้ผลิตรถยนต์ไฮเปอร์คาร์ 8 รายร่วมลงสนามแข่ง โดยทุกรายติดตั้งยางมิชลินให้กับรถแข่งของตน และเป็นอีกครั้งที่สมรรถนะและประสิทธิภาพสม่ำเสมอของยางมิชลินยังคงสร้างความประทับใจที่น่าจดจำให้กับการแข่งขัน
บนสนามแข่งที่พื้นผิวอยู่ในสภาพแห้งตั้งแต่เริ่มจนจบการแข่งขัน ยาง ‘มิชลิน ไพลอต สปอร์ต เอ็นดูรานซ์’ สูตรเนื้อยางแข็งปานกลางเป็นหัวใจสำคัญของแผนกลยุทธ์หลักของทีม โดยความยืดหยุ่นในการใช้งานที่เหนือกว่าของยางรุ่นนี้ส่งผลให้ทีมนักแข่งสามารถใช้ยางชุดเดียววิ่งต่อเนื่องสามช่วงการแข่งรถได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนยางในพิท (Triple Stints) และไม่กระทบต่อสมรรถนะในการขับขี่ แม้อุณหภูมิสนามแข่งระหว่างกลางวันและกลางคืนจะผันผวนและแตกต่างกันอย่างมากก็ตาม
ปิแอร์ อัลเวส ผู้จัดการฝ่ายการแข่งขันประเภทระยะยาวแบบมาราธอน หรือ “เอ็นดูรานซ์” ของ 'มิชลิน มอเตอร์สปอร์ต' เปิดเผยว่า การแข่งขัน ‘เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง’ ในปีนี้ มอบประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง นอกจากสภาพอากาศจะแจ่มใสเป็นใจต่อการแข่งขันแล้ว ยังมีผู้สนใจเข้าชมการแข่งขันตลอดช่วงสุดสัปดาห์จำนวนสูงถึง 330,000 คน อีกทั้งยาง ‘มิชลิน ไพลอต สปอร์ต เอ็นดูรานซ์’ สูตรเนื้อยางแข็งปานกลางยังได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในใช้งานที่เป็นเยี่ยม โดยให้ประสิทธิภาพสูงอย่างสม่ำเสมอในการวิ่งต่อเนื่องสามช่วงการแข่งรถ หรือ Triple Stints ตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมงของการแข่งขัน
ชัยชนะในฤดูกาลแข่งขันล่าสุดของทีม ‘เอเอฟ คอร์เซ่’ และทีม ‘เฟอร์รารี่’ ส่งผลให้มิชลินครองตำแหน่งแชมป์ในการแข่งขัน ‘เลอ ม็องส์’ ติดต่อเป็นสมัยที่ 28 นับจากหวนกลับมาเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันรายการนี้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2541 ณ สนามแข่งซาร์ธ (Sarthe) ขณะเดียวกันยังเป็นการคว้าชัยในการแข่งรถรายการ ‘เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง’ ติดต่อกันเป็นสมัยที่ 3 สำหรับทีม ‘เฟอร์รารี่’ ทำให้ทีมที่มีฉายา “ม้าลำพอง” โดดเด่นเป็นพิเศษในรายการแข่งรถระยะทางไกล FIA World Endurance Championship (WEC) ประจำปี 2568 ด้วยการประเดิมกวาดชัยชนะ 3 สนามแรก
นอกจากเรื่องสมรรถนะ การแข่งขัน ‘เลอ ม็องส์’ ปีนี้ยังเป็นก้าวสำคัญสำหรับมิชลินในด้านกลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Strategy) ด้วย โดยการผสานพันธมิตรกับธุรกิจสตาร์ทอัพสัญชาติสวีเดน ‘เอ็นไวโร’ (Enviro) ทำให้มิชลินสามารถนำยางรถไฮเปอร์คาร์ทุกเส้นที่ใช้ในการแข่งขันเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลผ่านการย่อยสลายโดยใช้ความร้อนในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน หรือ “ไพโรไลซิส” (Pyrolysis) โดยได้รับ ‘คาร์บอนแบล็ค’ (Carbon Black), น้ำมัน และเหล็กกล้า จากการรีไซเคิลกลับมาหมุนเวียนใช้ในการผลิตยางใหม่
ขณะเดียวกัน มิชลินยังคงทุ่มเทคิดค้นนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้ว่ายางตัวอย่างสำหรับจัดแสดง ในปัจจุบันใช้วัสดุรีไซเคิลและวัสดุหมุนเวียนเป็นส่วนประกอบในสัดส่วนสูงถึง 71% ถือเป็นอีกก้าวแห่งความสำเร็จสู่การผลิตยางที่ยั่งยืน 100% ภายในปี 2593 ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดมาใช้ในยางสำหรับรถยนต์ต้นแบบ H24EVO ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฮโดรเจน และรถแข่ง Porsche GT4 e-Performance ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% แล้ว
ยางที่พัฒนาขึ้นด้วยระบบจำลองภาพเสมือนจริงและพิสูจน์ศักยภาพบนสนามแข่ง ยาง ‘มิชลิน ไพลอต สปอร์ต เอ็นดูรานซ์’ (MICHELIN Pilot Sport Endurance) รุ่นปี 2568 ได้รับการออกแบบทุกขั้นตอนด้วยระบบจำลองภาพเสมือนจริง จึงช่วยลดจำนวนการผลิตยางต้นแบบลงได้อย่างมาก ซึ่งไม่เพียงเป็นการจำกัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง แต่ยังส่งผลให้ยางมีสมรรถนะในการใช้งานจริงที่ดีขึ้น
ภายในปี 2569 มิชลินจะรุกก้าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์ยางรุ่นใหม่สำหรับรถไฮเปอร์คาร์ที่ไม่เพียงใช้วัสดุรีไซเคิลและวัสดุหมุนเวียนเป็นส่วนประกอบในสัดส่วน 50% แต่ยังโดดเด่นด้วยลวดลายกำมะหยี่บนดอกยางที่เรียกว่า Race to Vision พัฒนาการดังกล่าวเป็นก้าวสำคัญในแผนงานของกลุ่มมิชลินที่มุ่งผสานสมรรถนะด้านกีฬามอเตอร์สปอร์ตเข้ากับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ในการแข่งขัน ‘เลอ ม็องส์’ ประจำปีนี้ มิชลินได้ระดมสรรพกำลังของบุคลากรด้านมอเตอร์สปอร์ตจำนวน 110 คน เพื่อให้บริการแก่พันธมิตร 21 รายซึ่งลงแข่งขันประเภทไฮเปอร์คาร์ โดยสนับสนุนยางทั้งสิ้น 4,100 เส้น แต่ได้จัดส่งยางจำนวน 3,700 เส้นไปล่วงหน้าก่อนการแข่งขัน เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก หรือ “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” (Carbon Footprint) ที่เกิดจากการขนส่ง
โดย นรินทร โชติภิรมย์กุล