GenAI ยอดใช้พุ่งทั่วโลก "พาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์" พบทราฟฟิกเพิ่ม 9 เท่าตัว
พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ (Palo Alto Networks) พบการเรียกใช้ปัญญาประดิษฐ์ (GenAI) มีสัดส่วนพุ่งสูงขึ้นถึง 890% ในปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าการใช้เครื่องมือ GenAI เพื่อเขียนโค้ด สร้างคอนเทนต์ ไปจนถึงการให้บริการลูกค้าในองค์กร ล้วนเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 9 เท่า ชี้องค์กรโดยเฉลี่ยใช้แอป GenAI ถึง 66 ตัว และแอป GenAI ที่คนไทยใช้งานมากที่สุดคือแกรมมาร์ลี่ (Grammarly)
นายปิยะ จิตต์นิมิตร ผู้จัดการประจำประเทศไทยของพาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ กล่าวว่าภาครัฐและเอกชนของประเทศไทยกำลังนำ AI มาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและนวัตกรรมด้านบริการ เมื่อการใช้งาน AI ขยายตัวอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญ คือการเตรียมรับมือกับความเสี่ยงใหม่ที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างรอบด้าน
"การวางกรอบการกำกับดูแลที่เข้มงวด การใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรมและปลอดภัย ตลอดจนการพัฒนาทักษะดิจิทัลของคนไทย คือ กุญแจสำคัญในการผลักดันประเทศไทยสู่บทบาทผู้นำด้าน AI ในภูมิภาคในอนาคต”
ผลการศึกษาของพาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ ตอกย้ำว่าในแต่ละวันที่ชาวโลกใช้ AI ช่วยทำงาน ช่วยเขียนอีเมล หรือแม้แต่หาข้อมูลมีเบื้องหลังคือการสร้างทราฟฟิกมหาศาลที่เติบโตพรวดเดียว 890% โดยตัวเลขการเติบโตของทราฟฟิกจาก Generative AI หรือ GenAI ที่พุ่งสูงขึ้นนั้นเป็นโอกาสของ Palo Alto Networks บริษัทความปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลกที่กำลังส่งสัญญาณว่าแม้การเติบโตของ AI จะให้ประโยชน์ด้านประสิทธิภาพการทำงานอย่างมีนัยสำคัญ แต่การใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และการขาดการกำกับดูแล ก็ได้ขยายจุดเปราะบางขององค์กรเพิ่มมากขึ้นไปอีกระดับ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น
ในรายงานสถานการณ์เจเนอเรทีฟ AI ประจำปี 2568 ของพาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ ระบุว่าโดยเฉลี่ยแล้ว องค์กรหนึ่งแห่งต้องรับมือกับแอปพลิเคชัน GenAI ถึง 66 รายการ และที่น่ากังวลคือ 10% ในนั้นถูกจัดว่าเป็นแอป ที่มีความเสี่ยงสูง! ซึ่งดูเหมือนประตูที่เปิดอ้ารอรับการโจมตีโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว
สำหรับประเทศไทย พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ มองว่าการที่รัฐบาลไทยตั้งเป้าผลักดันไทยให้เป็น AI Hub ของภูมิภาค ด้วยเม็ดเงินลงทุนที่คาดว่าจะสูงถึง 5 แสนล้านบาท ทั้งคลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ GPU ถือคือคลื่นการลงทุนครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งในขณะที่ไทยเรากำลังจะกลายเป็นศูนย์กลาง AI ไทยย่อมต้องเตรียมพร้อมรับมือกับด้านมืด AI ด้วยเช่นกัน
พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ ชี้ว่าหนึ้งในความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุดตอนนี้ มีชื่อเรียกว่า "Shadow AI" ซึ่งเป็นการที่พนักงานในองค์กรแอบใช้เครื่องมือ AI ที่บริษัทไม่ได้อนุมัติ ซึ่งสร้าง "จุดบอด" ขนาดใหญ่ให้ฝ่ายความปลอดภัย ไม่สามารถควบคุมได้ว่ามีข้อมูลสำคัญอะไรของบริษัทรั่วไหลออกไปบ้าง
ตัวเลขจากรายงานชี้ว่า เหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลที่เกี่ยวกับ GenAI เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า และคิดเป็น 14% ของปัญหาด้านความปลอดภัยทั้งหมดในปัจจุบัน
สถิติในประเทศไทย ยังชี้ว่าแอปฯ ที่มีการใช้งานสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ Grammarly (36%), Microsoft PowerApps (31%) และ OpenAI ChatGPT (23%) ซึ่งล้วนเป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่หลายคนคุ้นเคย
ปิยะทิ้งท้ายว่าเมื่อการใช้งาน AI ขยายตัวอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญคือการต้องเตรียมรับมือกับความเสี่ยงใหม่ และการสร้างนวัตกรรมต้องเดินไปพร้อมกับการกำกับดูแลที่เข้มแข็ง โดยแนะนำว่าองค์กรต้องสร้างสมดุลให้ได้ระหว่างการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ กับการวางสถาปัตยกรรมความปลอดภัยที่ออกแบบมาเพื่อรับมือกับ AI โดยเฉพาะ หรือที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมแบบ Zero Trust เพื่อป้องกันตั้งแต่ข้อมูลรั่วไหล ไปจนถึงภัยคุกคามที่ซับซ้อนในอนาคตอย่าง Agentic AI หรือ AI ที่คิดและลงมือทำได้เอง.
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO