ตลาดรถหรูไฟฟ้ามาแน่ วิจัยชี้สิ้นปี 2030 โตเกือบเท่าตัว
ที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าถูกโฟกัสลงไปที่กลุ่มรถยนต์ระดับกลางถึงล่าง ซึ่งการพัฒนารถยนต์ประเภทนี้ออกสู่ตลาดคือ การช่วยลดค่าพลังงานในการใช้งานแต่ละวัน และเป็นกลุ่มฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ ขณะที่แบรนด์รถยนต์ระดับหรูเองก็มีการทำตลาดด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้มีทางเลือกที่มากหรือเยอะเท่า
อย่างไรก็ตาม มีการเปิดเผยถึงบริษัทวิจัยอย่าง The Business Research Company ได้เปิดเผยรายงานพร้อมระบุว่าตัวเลขของมูลค่าตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าระดับหรูจะขยับจาก 248.38 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มาเป็น 473.96 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2029 อย่างแน่นอน
แม้ว่าจำนวนในเชิงตัวเลขยอดขายรถยนต์จะไม่ได้มาก แต่รถยนต์ที่ถูกขายในแต่ละคันจะมีมูลค่าที่ค่อนข้างมาก และรถยนต์ระดับหรูปลอดภัยจากสงครามตัดราคาที่แบรนด์จีนโหมกระหน่ำเข้ามา รวมถึงแบรนด์รถยนต์จีนที่พยายามบอกตัวเองว่าเป็นพรีเมียมนั้น ยังไม่สามารถก้าวข้ามขึ้นมาแข่งขันกับแบรนด์ระดับหรูของจากยุโรป อเมริกาและญี่ปุ่นได้อย่างเต็มที่
วิจัยชี้ตลาดไฟฟ้าหรูไปได้ดีแน่ในอนาคต
งานวิจัยจำนวน 200 หน้าของ The Business Research Company ที่ถูกเปิดเผยเมื่อต้นปีนี้มีการคาดการณ์ว่าขนาดตลาดรถยนต์ไฟฟ้าระดับหรูจะเติบโตอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยจะเติบโตถึง 473.96 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2029 ด้วยอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 17.5%
ขณะที่งานวิจัยของ Towards Automotive ยืนยันว่า ตัวเลขมูลค่าตลาดจะขยับเป็น 625.38 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2034 หรือมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 12.05% ในระหว่างปี 2025-2034
การเติบโตในช่วงคาดการณ์นั้นสามารถอธิบายได้ด้วยหลากหลายปัจจัยที่เอื้อต่อการใช้งาน เช่น การสนับสนุนและแรงจูงใจจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ความพร้อมจำหน่ายของรถยนต์ไฟฟ้าระดับหรูที่เพิ่มขึ้น การขยายเครือข่ายชาร์จเร็ว ความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นสำหรับการขนส่งที่ยั่งยืน การผสานรวมคุณสมบัติการขับขี่อัตโนมัติ แนวโน้มหลักในช่วงคาดการณ์นั้นรวมถึงตัวเลือกการปรับแต่งสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าระดับหรู การผสานรวมระบบอินโฟเทนเมนต์ขั้นสูง การนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการจัดการรถยนต์ การพัฒนารถยนต์ SUV ไฟฟ้าระดับหรู และความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ระดับหรูและบริษัทเทคโนโลยี
นอกจากนั้น ด้วยเหตุที่รถยนต์ระดับหรูมักจะเป็นพื้นที่ในการนำนวัตกรรมที่เพิ่งถูกพัฒนามาใช้งาน ทำให้เป็นจุดเด่นที่สำคัญในการดึงดูดใจลูกค้านอกเหนือจากภาพลักษณ์ และ Brand Value ของแบรนด์รถยนต์เหล่านั้นอีกด้วย
อีกประเด็นที่เป็นตัวช่วยเร่งในเรื่องของตลาดคือ การเพิ่มจำนวนรุ่นหรือโมเดล รวมถึงแบรนด์หรูที่กระโดดเข้ามาสู่ตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้า ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น โดยในปี 2021 อัตราส่วนของรถยนต์ที่จำหน่ายในตลาดระดับหรูนั้น มีโมเดลที่เป็น BEV เพียงแค่ 6% เท่านั้น แต่เชื่อว่าภายในทศวรรษนี้ ตัวเลขจะขยับขึ้นมาเป็น 46% อย่างแน่นอน
โดยตลาดเอเชีย-แปซิฟิก ถูกมองว่าฐานสำคัญสำหรับรถยนต์ประเภทนี้ โดยเฉพาะในจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของรถยนต์พลังไฟฟ้า และกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสินค้าในระดับหรูมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งคนกลุ่มนี้เลือกที่จะใช้รถยนต์ระดับหรูจากยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก
แบรนด์จีนยังไม่สามารถสร้างผลกระทบได้
ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าถูกยึดครองโดยแบรนด์จีน ปัจจัยหนึ่งคือ เรื่องของการเปิดตัวโมเดลที่มีหลากหลายทางเลือกออกมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยราคาที่สามารถเข้าถึงและจับต้องได้ รวมถึงการทำสงครามราคากับแบรนด์ที่เป็นหัวแถวในตลาด แต่ทว่าแบรนด์รถยนต์พลังไฟฟ้าจากจีนยังไม่สามารถทำเช่นนี้ได้กับตลาดรถยนต์ระดับหรู
‘จริงอยู่ที่มีหลายแบรนด์ในตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าระดับหรูมีการแชร์พื้นฐานและโครงสร้างร่วมกับพันธมิตรเป็นแบรนด์จีน แต่ในเรื่องนั่นก็จะอยู่แค่ในกลุ่ม Luxury Entry Level เท่านั้น แบรนด์จีนยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการยกระดับตัวเองขึ้นมา แม้ว่าจะมีหลายแบรนด์ที่อัพเกรดตัวเองขึ้นมาเป็นพรีเมียม BEV ก็ตาม’ นักวิเคราะห์รายหนึ่งให้ความเห็นในงานวิจัยชิ้นนี้ ‘รถยนต์ BEV ระดับหรูก็เหมือนกับสินค้าระดับหรูอื่นๆ พวกเขาขายความพึงพอใจ ภาพลักษณ์ และมูลค่าของแบรนด์มากกว่าเรื่องของสมรรถนะ นวัตกรรม หรือราคา ต้องยอมรับว่าสินค้าระดับหรู คนซื้อใช้อารมณ์กับความรู้สึกในการตัดสินใจมากกว่าหลักเรื่องเหตุและผล ซึ่งตรงนี้ยังถือว่าเป็นจุดที่แบรนด์รถยนต์จีนยังไม่สามารถทำได้ในตอนนี้’
ที่ผ่านมา แม้ว่าจะหลายต่อหลายค่ายพยายามอัพเกรดตัวเองขึ้นด้วยนวัตกรรมและสินค้าที่มีความล้ำสมัย แต่แบรนด์อย่าง Xpeng, Denza, Zeekr หรือ Lynk&Co ก็ทำได้ดีแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถอัพเกรดภาพลักษณ์ขึ้นเทียบชั้นกับแบรนด์ระดับหรูอย่าง Mercedes-Benz, BMW, Audi หรือ Porsche ได้ และยังไม่นับรวมแบรนด์ซูเปอร์ลักชัวรี่อย่าง Aston Martin, Rolls-Royce, Ferrari และ Lamborghini
Ferrari สวนทาง ตลาดหรูไปได้ดี แต่ขอชะลอเปิดตัว
ขณะที่วิจัยชี้ว่าอนาคตของรถยนต์พลังไฟฟ้าระดับหรูมีทิศทางที่ดี แต่สำหรับ Ferrari กลับสวนทาง โดยทาง Reuter ซึ่งอ้างจากแหล่งข่าววงในที่ตรงกันถึง 2 คนว่า ทางแบรนด์กำลังวางแผนชะลอการเปิดตัวรถยนต์พลังไฟฟ้ารุ่นที่ 2 ของแบรนด์ออกไป จากเดิมจะเปิดตัวในปี 2026 แต่ครั้งนี้อาจจะลากยาวออกไปจนถึงปี 2028
เหตุผลของการเลื่อนเปิดตัวนั้นไม่ได้มาจากปัญหาในเชิงเทคนิคทั้งในแง่ของการพัฒนา และการผลิตเท่านั้น แต่มาจากการที่ผลตอบรับของลูกค้าในตลาดที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง บวกกับสภาพตลาดและเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เข้าสู่โหมดชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าหายไป
Ferrari เริ่มปรับนโยบายในการรุกตลาดรถซูเปอร์คาร์ด้วยพลังงานทางเลือกมาตั้งแต่ปี 2019 โดยในตอนนั้นเปิดตัว LaFerrari กับขุมพลังแบบไฮบริด และจากนั้นก็มีการนำเสนอทางเลือกใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งประกาศก้าวเข้าสู่ตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าอย่างเต็มตัวด้วยการเปิดตัวรถสปอร์ต BEV รุ่นแรกในปลายปีนี้ช่วงเดือนตุลาคม
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การขาดเสน่ห์ในเรื่องของเสียงคำรามจากเครื่องยนต์ และแบตเตอรี่ที่จะต้องรองรับต่อสมรรถนะที่เร้าใจของมอเตอร์บวกกับระยะทางการใช้งาน ทำให้ตัวรถต้องมีน้ำหนักเพิ่ม และส่งผลโดยตรงต่อสมรรถนะของการขับขี่ เมื่อบวกกับภาพรวมของเศรษฐกิจ การเลื่อนเปิดตัวน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้
สำหรับแบรนด์คู่แข่งอย่าง Lamborghini นั้น พวกเขาวางแผนเปิดตัวซูเปอร์คาร์พลังไฟฟ้าเช่นกัน แต่เป็นปี 2029 ขณะที่ Porsche เองถือว่าได้บุกเบิกตลาดประเภทนี้แล้วกับรถยนต์รุ่น Taycan แต่ทว่ายังไม่ได้มีแผนการนำระบบไฟฟ้ามาใช้กับรถสปอร์ตที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์อย่าง 911 แต่เลือกใช้ระบบนี้กับรถยนต์ทั่วไปอย่าง Macan และ Cayenne มากกว่า
ขณะที่ Maserati นั้น จะเปิดตัวเวอร์ชันพลังไฟฟ้าในปี 2030 กับรถสปอร์ตรุ่น MC20
ถือเป็นอีกสมรภูมิตลาดที่น่าสนใจว่า สุดท้ายแล้วการวิเคราะห์และการประเมินของบรรดาบริษัทวิจัยทั้งหลายมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปตามที่หวังหรือไม่ เพราะในตอนนี้ตลาดกลุ่มนี้ยังถือว่าแทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากแบรนด์จีนเลย
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO