“จะทําอย่างไรให้เศษอวนที่สร้างปัญหาต่อสัตว์ทะเลกลายเป็นวัสดุที่ ‘โลก’ ต้องรักษา” Aqua-R-Us คอลเล็กชันใหม่จาก PIPATCHARA เก็บขยะ ‘แหอวน’ ใต้ทะเล มาสร้างชุด Ready-to-Wear เพื่อสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราควรให้ความสำคัญ
ท่ามกลางโลกใต้ทะเลของ Sea Life Bangkok Aquarium อันเป็นที่จัดแฟชั่นโชว์ล่าสุดของ PIPATCHARA เมื่อวันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้เราได้เห็นชุดสวยจากแบรนด์รักษ์โลกที่ขึ้นชื่อเรื่องการรีไซเคิลพลาสติกไม่ใช้แล้วมาเป็น Infinitude หรือชิปรูสามช่องที่สามารถครีเอทเป็นชิ้นงานอันเป็นเอกลักษณ์ได้แบบไม่รู้จบ โดยครั้งนี้ทางแบรนด์ได้ร่วมมือกับ บริษัทผลิตไนลอนอย่าง อูเบะ ประเทศไทย (UBE) กับเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ด้วยการรีไซเคิลขยะทะเลอย่างเศษแหอวน ซึ่งสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมในทะเลไทยที่กำลังเผชิญอยู่
ในคอลเลกชัน Aqua-R-Us นี้ PIPATCHARA และ UBE ได้เล็งเห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมทางท้องทะเล ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ทะเลติดอยู่ในซากแหอวน ปะการังตายเพราะไม่ได้รับแสงแดด แม้ว่าอูเบะจะเป็นต้นน้ำในการผลิตไนลอนแต่อูเบะได้ขยายความรับผิดชอบ ด้วยการพัฒนาระบบรีไซเคิลที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ เปลี่ยนอวนประมงที่หมดอายุในการใช้งาน ให้กลายเป็นไนลอนรีไซเคิล (Recycled Polyamide: r-PA)
แหอวนเมื่อนำมาหลอมจะมีสีเขียวดำ แต่ความสำคัญของธุรกิจแฟชั่นคือต้องมีตัวเลือกที่หลากหลายให้ลูกค้า การพัฒนาสีให้หลากหลายจึงเป็นโจทย์ที่อูแบะต้องไขให้ออกกลายเป็นสีที่หลากหลายตั้งแต่ สีฟ้าอ่อน น้ำเงิน น้ำตาล เทา บรอนซ์ พีช ที่ทางแบรนด์ PIPATCHARA ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของ Infinitude ให้มีความโปร่งเบามากขึ้น และมีการดีไซน์ Infinitude ขึ้นมาใหม่ในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น
“เพชรคิดไอเดียขึ้นมากับทีม โดยนึกถึงของเล่นตอนเด็กๆ อย่าง หมากเก็บ เราเลยเปลี่ยน Infinitude ให้เหมือนหมากเก็บที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ เพราะฉะนั้นวันนี้สิ่งที่จะเห็นก็คือเราเริ่มมีเทคนิคใหม่ๆ ที่ต่อยอดไปในเรื่องของการทำแพตเทิร์น ที่เราจะขึ้นไปสอนชุมชนที่เชียงรายและแม่ฮ่องสอนในการทำสิ่งนี้ด้วย ซึ่งเป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่อยากทำต่อและไม่น่าเบื่อด้วยค่ะ” เพชร-ภิพัชรา แก้วจินดา ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์กล่าวในงานเปิดคอลเลกชันครั้งนี้
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการเก็บเกี่ยวแหอวนมาทำเป็นแฟชั่น คือการสนับสนุนให้ชุมชนในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบโรงงานที่จังหวัดระยอง มีส่วนร่วมในการเก็บอวนประมง และได้รับรายได้ตอบแทน หากปริมาณแหที่รวบรวมจากชุมชนยังไม่เพียงพอ อาจมีการจัดหาแหอวนที่ใช้แล้วเพิ่มเติมผ่านพ่อค้าคนกลางตามความจำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสมในแต่ละกรณี กระบวนการนี้ช่วยสร้างระบบการจัดเก็บและรีไซเคิลที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ ช่วยลดปัญหาขยะทะเลอย่างเป็นรูปธรรม และเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าอีกครั้ง
“การพัฒนาสีไนลอนสำหรับ PIPATCHARA ทำให้เรามีแรงบันดาลใจในการนำรีไซเคิลไนลอนไปทำอย่างอื่นต่อ มันเป็นพลุที่จุดประกายให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ชิ้นส่วนของรถยนต์และจักรยานยนต์ ส่วนประกอบของรองเท้า, เฟอร์นิเจอร์, กระเป๋าเดินทาง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นพลุที่ทำให้ทุกคนรู้จักจับต้องได้และช่วยกันทำให้ยั่งยืนต่อไป” คุณอนุสรา สุทธิกุลเวทย์ ประธานบริษัทและซีอีโอ บริษัท อูเบะ เคมิคอลส์ (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) กล่าว
จากภาพจำ Ready-to-Wear ของ PIPATCHARA ที่เราคุ้นในฐานะชุดราตรีหรือชิ้นงานออกงานสุดเนี้ยบ คอลเล็กชั่นนี้ก็ได้เพิ่มลุคบีชแวร์และบิกินี่ที่ใส่ได้จริงในทุกวัน สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับท้องทะเลอย่างตรงไปตรงมา นี่คือวิธีที่ PIPATCHARA เลือกจะลงมือเก็บขยะในพื้นที่ธรรมชาติเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่พูด แต่ส่งสารผ่านดีไซน์ที่สวย ใช้ได้จริง และพาแฟชั่นไปอยู่ในชีวิตประจำวันที่ยังดูแลโลกไปพร้อมกัน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
- “จะทําอย่างไรให้เศษอวนที่สร้างปัญหาต่อสัตว์ทะเลกลายเป็นวัสดุที่ ‘โลก’ ต้องรักษา” Aqua-R-Us คอลเล็กชันใหม่จาก PIPATCHARA เก็บขยะ ‘แหอวน’ ใต้ทะเล มาสร้างชุด Ready-to-Wear เพื่อสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราควรให้ความสำคัญ
- This page is intentionally left ___. ภาษา อำนาจ และประชาชน นิทรรศการศิลปะเชิงพื้นที่ จากจุดตั้งต้นของ ‘พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย’ ที่เขียนในคุกตะรุเตา สู่การตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์ซึ่งสะท้อนมาถึงปัจจุบัน โดยกลุ่ม ‘ยุงลายคอลเลคทีฟ’
- Caitlin Cunningham นักบาสสายกอธิก ที่อยากให้โลกเห็นว่า กีฬาสามารถเป็นพื้นที่ของคนทุกแบบ
ตามบทความก่อนใครได้ที่
- Website : Mirror Thailand.com