โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สำรวจตัวละครแซฟฟิกใน Girl’s Love ไทย จาก Rocket Media Lab เมื่อปัญหาไม่ใช่ความ ‘ไม่แน่ใจ’ ในอัตลักษณ์ทางเพศ แต่คือการคัดง้างกับกรอบความเป็น ลูกสาว แม่ และภรรยา

Mirror Thailand

อัพเดต 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ภาพไฮไลต์

Rocket Media Lab เคยสำรวจซีรีส์วาย BL ในไทยทั้งหมดในรอบ 10 ปี (2014-2023) โดยเลือกสำรวจรสนิยมทางเพศของตัวละครคู่หลักในซีรีส์วาย 418 ตัวละคร 209 คู่ ซึ่งนับเฉพาะคู่หลักของเรื่อง พบว่าในจำนวนซีรีส์วาย 209 เรื่อง (จำนวน 209 คู่) จากปี 2014 ถึงปี 2023 มีตัวละครพระเอกและนายเอกที่แสดงให้เห็นรสนิยมทางเพศอย่างชัดเจนว่าชอบเพศเดียวกัน จำนวน 129 เรื่อง คิดเป็น 61.72%

ย้อนกลับไปที่ ซีรีส์ BL (Boys' Love) หลายคนมักนึกถึงพล็อตหรือเอกลักษณ์จำเพาะ เช่น เรื่องราวความรักในรั้วมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือการที่ "ชายแท้" สองคนค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์จนเกิดเป็นความรัก คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วในฝั่งของซีรีส์ GL (Girls' Love) มีเอกลักษณ์ทำนองนี้บ้างหรือไม่?

ขณะที่ฝั่ง GL จากการสำรวจรสนิยมทางเพศของตัวละครคู่หลักในซีรีส์ Girls' Love (GL) ทั้งหมด 51 คู่ ซึ่งครอบคลุมตัวละคร 102 ตัว ในที่นี้แบ่งบทบาทของตัวละคร โดยจะเรียกว่าเป็นนางเอกคนที่ 1 และนางเอกคนที่ 2 พบ ดังนี้

กลุ่มที่ 1: ตัวละคร GL ที่มีรสนิยม "ไม่ระบุ/ไบเซ็กชวล" หรือลื่นไหล

ในซีรีส์ Girls' Love (GL) ตัวละครที่มีรสนิยม "ไม่ระบุ/ไบเซ็กชวล" หรือมีลักษณะความลื่นไหลทางเพศ (fluidity) เป็นกลุ่มที่พบมากที่สุด โดยมีจำนวนถึง 52 ตัวละคร (50.98%) พบในนางเอกคนที่ 1 จำนวน 27 ตัวละคร และนางเอกคนที่ 2 จำนวน 25 ตัวละคร การนำเสนอเช่นนี้มักเป็นเพราะเนื้อเรื่องไม่ได้มุ่งเน้นการระบุอัตลักษณ์ทางเพศของตัวละครอย่างชัดเจน ปล่อยให้เป็นพื้นที่ที่ผู้ชมสามารถตีความความสัมพันธ์ได้เอง ซึ่งสะท้อนความหลากหลายของรสนิยมทางเพศในชีวิตจริงได้ดี

ตัวอย่างซีรีส์ที่มีตัวละครในกลุ่มนี้ ได้แก่:

The Dreamer คอนโด/บาริสต้า/สถาปนิก (ปี 2016): เรื่องราวความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างปอง (สถาปนิกหญิง), เติ้ล (บาริสต้าหญิง) และเท็ด (สถาปนิกชาย) ซึ่งจบลงแบบปลายเปิด ทำให้ผู้ชมตีความได้หลากหลายว่าปองจะลงเอยกับเท็ดหรือเติ้ล แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เปิดกว้างทางเพศสภาพ

Club Friday The Series 11 ตอน รักล้ำเส้น (ปี 2019): ตัวละครบุหงาและธาร ต่างไม่เคยมีประวัติชอบผู้หญิงมาก่อน และมีสถานะเป็นแม่สามีกับลูกสะใภ้ แต่กลับดึงดูดและตกหลุมรักกันอย่างลึกซึ้งตั้งแต่แรกพบ ความซับซ้อนของเรื่องจึงไม่ได้อยู่ที่การยอมรับเพศสภาพของตนเองเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์เชิงชู้สาว ซึ่งสะท้อนถึงความรักที่เกิดขึ้นเหนือความคาดหมายและกรอบเกณฑ์เดิมๆ

Lucky my love รักนี้มากับดวง (ปี 2023): ตัวละครหลักอย่างนับดาว เคยผ่านประสบการณ์การนัดบอดกับผู้ชายมาก่อน ก่อนที่เรื่องราวจะดำเนินไปสู่ความสัมพันธ์กับเวฬา ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าตัวละครไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่การชอบเพศตรงข้ามเท่านั้น

Reverse 4 You The Series ดาวบริวาร (ปี 2024): เล่าเรื่องของ จัตวา เด็กสาวผู้ควบคุมกาลเวลาที่ได้พบกับโฟร์ รุ่นพี่นิสัยไม่ดีในวันที่กรุงเทพฯ มีหิมะตก ทั้งคู่ตกหลุมรักกันอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยไม่ได้เน้นย้ำถึงอัตลักษณ์ทางเพศเริ่มต้นของตัวละคร ทำให้ความรักดูเป็นธรรมชาติและไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบเพศสภาพ

หม่อมเป็ดสวรรค์ (Mhom Ped Sawan) (ปี 2024): เป็นการตีความใหม่ของเรื่องราวความรักระหว่าง คุณขำ และ คุณสุด หม่อมห้ามในสมเด็จเจ้าวังหน้าฯ ที่มีความรู้สึกเกินเพื่อนให้กัน แม้จะถูกพันธนาการด้วยกฎเกณฑ์สังคมในอดีต แต่การนำเสนอใหม่นี้อาจสื่อถึงรสนิยมที่ลื่นไหลหรือไบเซ็กชวล ที่สามารถมีความรักและความสัมพันธ์กับผู้หญิงได้ แม้จะต้องใช้ชีวิตอยู่ในกรอบของเพศตรงข้ามก็ตาม

กลุ่มที่ 2: ตัวละคร GL ที่มีรสนิยม "ชอบผู้หญิงมาก่อน" หรือ "แซฟฟิก" อย่างชัดเจน

ตัวละครในกลุ่มนี้มีจำนวน 38 ตัวละคร (37.25%) โดยแบ่งเป็น พบในนางเอกคนที่ 1 จำนวน 18 ตัวละคร และพบในนางเอกคนที่ 2 จำนวน 20 ตัวละคร โดยมีลักษณะร่วมคือการระบุหรือแสดงออกอย่างชัดเจนว่าตนเองเป็นแซฟฟิก หรือมีความสนใจในเพศหญิงมาตั้งแต่ต้น ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มแรกที่เน้นความลื่นไหลหรือการค้นพบตัวเองในภายหลัง ตัวละครกลุ่มนี้มักเปิดเรื่องมาพร้อมกับอัตลักษณ์ทางเพศที่ชัดเจน และความสัมพันธ์ที่มุ่งตรงไปที่ความรักระหว่างผู้หญิงด้วยกัน

ตัวอย่างซีรีส์ที่มีตัวละครในกลุ่มนี้ ได้แก่:

รักแท้หรือแค่ความหวัง (Club Friday The Series 8) (ปี 2017): ซีรีส์เรื่องนี้เล่าถึงซี เจ้าของห้องเสื้อที่มีรสนิยมชอบผู้หญิงด้วยกันอย่างชัดเจน เธอตกหลุมรักเคท นางแบบ ทั้งคู่เป็นคู่รักเลสเบี้ยน/แซฟฟิกที่ปรารถนาจะมีลูก แต่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถทำ IVF ได้ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่สูง เพื่อเติมเต็มความต้องการที่จะเป็นแม่ เคทจึงตัดสินใจไปหาผู้ชายเพื่อตั้งครรภ์ ซึ่งจบลงด้วยการที่เคททิ้งซีและไปอยู่เมืองนอกกับสามี (พ่อของลูก) สะท้อนภาพความรักที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคทางสังคมและกฎหมายในยุคนั้น

Love Senior พี่ว้ากคะ รักหนูได้มั้ย (ปี 2023): ซีรีส์เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงตัวละครที่มีรสนิยมชัดเจนในการชอบเพศเดียวกัน โดยมะนาวแสดงออกชัดเจนว่าชอบเกี๊ยวซ่ารุ่นพี่ผู้หญิง นอกจากนี้ เกี๊ยวซ่ายังมีรักแรกเป็นพอย (ผู้หญิง) และมะนาวก็มีประสบการณ์ทางเพศกับผู้หญิงคนอื่นมาก่อนหน้านี้เช่นกัน

The Loyal Pin ปิ่นภักดิ์ (ปี 2024): ซีรีส์พีเรียดเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวความรักระหว่างหม่อมเจ้าหญิงอนิลภัทร (ท่านหญิงอนิล) และหม่อมราชวงศ์ปิลันธิตา (คุณหญิงปิ่น) ทั้งสองรักกันมาตั้งแต่ต้น และต้องฝ่าฟันอุปสรรคทั้งเรื่องฐานันดรศักดิ์และกฎเกณฑ์ทางสังคม

ตัวละครในกลุ่มนี้แสดงให้เห็นถึงการก้าวไปอีกขั้นของซีรีส์ GL ในการนำเสนอความรักที่ตรงไปตรงมา และอัตลักษณ์ทางเพศที่ชัดเจน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ชมกลุ่มเป้าหมายรู้สึกเชื่อมโยงและเห็นการเป็นตัวแทนของตนเองในสื่อบันเทิงมากขึ้น

กลุ่มที่ 3: ตัวละคร GL ที่ "ชอบผู้ชายมาก่อน" หรือ "ชอบเพศตรงข้าม"

ในกลุ่มนี้มีจำนวน 12 ตัวละคร (11.76%) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่พบน้อยที่สุดในกลุ่มตัวละครหลัก โดยแบ่งเป็นนางเอกคนที่ 1 พบ 6 ตัวละคร และนางเอกคนที่ 2 พบ 6 ตัวละคร ของซีรีส์ Girls' Love (GL) ตัวละครเหล่านี้มีรสนิยมทางเพศที่เคยสนใจหรือมีความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามมาก่อน ก่อนที่จะมาค้นพบความรู้สึกต่อเพศเดียวกัน

ตัวอย่างซีรีส์ที่มีตัวละครในกลุ่มนี้ ได้แก่:

รักออนไลน์ (Club Friday The Series 7) (ปี 2016): เอ้ ตัวเอกในเรื่องเคยแต่งงานและมีลูกมาแล้วแต่เลิกกับสามี เธอเริ่มต้นหาเพื่อนคุยออนไลน์โดยปลอมโปรไฟล์เป็นผู้ชาย และใช้ชื่อผู้ชายในการสนทนากับ รุ้ง เจ้าของร้านเสื้อผ้าออนไลน์ ต่อมาความสัมพันธ์พัฒนาจนเกิดเป็นความรักที่ถอนตัวไม่ขึ้น แต่เมื่อทั้งคู่ได้นัดเจอกันและรุ้งพบว่าเอ้เป็นผู้หญิง ความสับสนในความสัมพันธ์ก็เกิดขึ้น นำไปสู่บทสรุปที่ว่าเอ้และรุ้งจะรักกันต่อไปหรือหยุดไว้แค่นั้น

7 Project ตอน Remember (ปี 2021): ใน EP. 3 ตอนที่ชื่อว่า 'Remember' เล่าเรื่องราวของพราว หญิงสาวที่พยายามจะลืมความรักครั้งเก่ากับแฟนเก่าที่เป็นผู้ชาย จนกระทั่งเธอได้พบกับ ใจดีที่เข้ามาช่วยสร้างสีสันให้กับชีวิต แต่ในขณะที่พราวกำลังจะก้าวไปข้างหน้า ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็เริ่มซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

23.5 องศาที่โลกเอียง (ปี 2023): ซีรีส์แซฟฟิกเรื่องแรกของ GMMTV นำเสนอเรื่องราวขององศา ที่แอบชอบซัน ซึ่งเป็นดาวโรงเรียน แม้ว่าองศาจะที่เคยมีแฟนเป็นผู้ชายมาก่อน แต่เมื่อมาชอบซัน เธอก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะบอกชอบผู้หญิงได้ด้วยหรือ ในเรื่องนี้ยังมีความน่าสนใจเพิ่มเติมด้วยการนำเสนอคู่ของครูนิดา กับแบมแบมซึ่งเป็นคู่รักทรานส์ (หญิงข้ามเพศ) ทั้งคู่ นับเป็นการนำเสนอภาพคู่รักทรานส์เพศหญิงด้วยกันที่ยังไม่เคยได้รับการนำเสนอในสื่อไทยมาก่อน

Club Friday The Series: Love Bully รักให้ร้าย (ปี 2024): เรื่องราวของไอรีน ที่ตกหลุมรักไนท์ บาร์เทนเดอร์สาวสวยตั้งแต่แรกเห็นและรุกจีบทันที ความสัมพันธ์ที่รวดเร็วนี้ดำเนินไปจนเกิดเป็นความรัก แต่ไนท์มีปมในใจเกี่ยวกับอดีตและพ่อของเธอ (น้าโจ ซึ่งเป็นกะเทย) และเคยมีแฟนเป็นผู้ชายมาก่อน ไนท์ตัดสินใจบอกความจริงทั้งหมดให้ไอรีนรู้ เพื่อให้ไอรีนตัดใจจากเธอ แต่ไอรีนยังคงมั่นใจในความรักที่เธอมีให้ไนท์และยอมรับในสิ่งที่น้าโจเป็น อย่างไรก็ตาม ความรักของทั้งคู่ต้องเผชิญอุปสรรคจากแม่ของไอรีน ซึ่งเป็นนักธุรกิจผู้มีอิทธิพลและไม่ยอมรับที่ลูกสาวรักผู้หญิงด้วยกัน ทั้งสองจึงต้องฝ่าฟันเพื่อความรักของตนเองโดยมีน้าโจคอยให้กำลังใจอยู่เคียงข้างเสมอ

ตัวละครในกลุ่มนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเดินทางของการค้นพบตนเองและการเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศ ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งของการนำเสนอความสัมพันธ์ GL ที่เน้นย้ำถึงความซับซ้อนและพลวัตของความรักในชีวิตจริง จนกล่าวได้ว่า จุดนี้ถือเป็นข้อแตกต่างที่น่าสนใจ เพราะในซีรีส์ BL เราไม่ค่อยได้เห็นตัวละครหลักที่เป็นพ่อม่ายหรือเคยมีครอบครัวมาก่อนบ่อยนัก ขณะที่พล็อตของ GL มีตัวละครที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตอย่างการเป็นแม่ม่าย แม่เลี้ยงเดี่ยว หรือผ่านการหย่าร้างมาก่อน ทำให้ตัวละครมีความขัดแย้งภายในใจและมีประเด็นเรื่องการได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะลูก และการเริ่มต้นชีวิตใหม่ หากเอกลักษณ์ของ BL คือการเล่าเรื่องรักครั้งแรกของหนุ่มวัยรุ่น เอกลักษณ์ของ GL ก็เปรียบเสมือนการเล่าเรื่องรักครั้งใหม่ของผู้หญิงที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาแล้ว ซึ่งอาจหล่อหลอมให้ตัวละครมีมิติที่ลึกซึ้งและเผชิญกับความท้าทายที่แตกต่างออกไป

จากผลสำรวจทั้งหมด จะพบว่า ไม่ว่าจะเป็นนางเอกคนที่ 1 หรือนางเอกคนที่ 2 ของเรื่องพบว่าตัวละครที่มีรสนิยมทางเพศแบบไม่ระบุอัตลักษณ์ทางเพศสูงที่สุด ซึ่งอาจสะท้อนถึงแนวโน้มของซีรีส์ GL ที่ต้องการนำเสนอความลื่นไหลทางเพศ หรือการที่ตัวละครไม่ได้จำกัดอัตลักษณ์ของตนเองตายตัว

แต่ทั้งนี้ ที่ไม่พบเลยคือประเภทที่ตั้งคำถามกับอัตลักษณ์ตัวเองอย่างหนัก แตกต่างจากฝั่ง BL โดยจะพบว่า ซีรีส์ GL ไทย มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่คือการที่ตัวละครหญิงมักจะก้าวข้ามการตั้งคำถามเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ กล่าวคือพวกเธอมักตกหลุมรักกันโดยธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการตั้งคำถามกับตัวเองอย่างหนักหน่วงเหมือนที่พบได้บ่อยในซีรีส์ BL โดยพบว่าหลายเรื่องเปิดตัวละครมาโดยระบุชัดเจนว่าเป็นเลสเบี้ยนหรือแซฟฟิก

และความขัดแย้งหลักในซีรีส์ GL ไม่ได้เกิดจากภายในใจของตัวละคร แต่เป็นการปะทะกับกำแพงภายนอก อย่างสถาบันครอบครัวและแนวคิดที่คาดหวังให้เป็นลูกสาวที่ดี ต้องแต่งงานกับผู้ชายเพื่อรักษาหน้าตาและสืบทอดวงศ์ตระกูล

ภาพนี้สะท้อนชัดเจนในซีรีส์อย่าง GAP The Series ทฤษฎีสีชมพู (2022) และภาคแยก Blank เติมคำว่า (รัก) ลงในช่องว่าง (2024) ที่ตัวละครอย่างหม่อมสาม และคุณหนึ่ง ไม่เคยสับสนในความรักที่มีต่อผู้หญิงด้วยกัน แต่ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการต่อสู้กับหม่อมย่า ที่พยายามจับคู่ให้ หรือในเรื่อง Club Friday The Series: Love Bully รักให้ร้าย (2024) ที่ปัญหาซับซ้อนยิ่งกว่าแค่เรื่องของตัวละคร เมื่อไนท์ต้องเจอกับเปิดเผยความจริงเรื่องพ่อที่เป็นกะเทย ซึ่งเป็นบาดแผลจากการถูกบูลลี่มาทั้งชีวิต คู่ไปกับการที่คนรักอย่างไอรีนต้องเผชิญหน้าปัญหาที่ว่า แม่ที่รับไม่ได้ที่ชอบผู้หญิง

ทั้งนี้อาจมองว่า แนวคิดเรื่องความลื่นไหลที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่มีรากฐานที่เชื่อมโยงกับบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยมายาวนาน อย่างคำว่า “เล่นเพื่อน” ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์ ที่เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงในราชสำนัก ซึ่งไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธการแต่งงานกับผู้ชายอย่างสิ้นเชิง แต่เป็นการโอนอ่อนตามโครงสร้างสังคม ขณะเดียวกันก็ยังรักษาความชอบของตนไว้ด้วย

ลักษณะร่วมเช่นนี้ยังพบได้ในวัฒนธรรมเอเชียอื่นๆ ดังที่งานวิจัย The matrices of female bonding and lesbian sexuality: female homoerotic cinema in Mainland China โดย Fan Yang ได้เสนอแนวคิด “การกลับบ้าน” (Coming-Home) ที่เลสเบี้ยนจีนมักจะมุ่งหวังให้ครอบครัวยอมรับคนรักของตนในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว มากกว่าจะใช้วิธี “Coming Out” แบบตะวันตกที่เน้นการเผชิญหน้าเพื่อประกาศอัตลักษณ์ทางการเมือง

กลยุทธ์การกลับบ้านนี้สอดคล้องกับความลื่นไหลในซีรีส์ GL ไทย ที่ตัวละครไม่ได้ต้องการปฏิวัติสังคม แต่ปรารถนาที่จะได้ใช้ชีวิตกับคนที่ตนรักกับครอบครัว

หากเปรียบเทียบกับฝั่ง BL ซึ่งมักจะเน้นไปที่แรงกดดันในฐานะลูกชาย ซึ่งเป็นของลูกชายของครอบครัว หรือต้องพบการพิสูจน์ตัวเองให้พ่อแม่เห็นว่าความรักแบบชาย-ชายนั้นมั่นคงเพียงใด ฝั่ง GL ก็มีแรงกดดันไม่ต่างกัน โดยตัวละครหญิงในซีรีส์ GL มักจะถูกนำเสนอในฐานะผู้ที่ผ่านประสบการณ์ชีวิต มีความมั่นคงและยอมรับในตัวตนของตัวเองได้อย่างลื่นไหล แต่ปัญหาคือพวกเธอต้องต่อสู้กับขนบธรรมเนียมและจารีตในฐานะผู้หญิง และลูกสาว (และบางครั้งอาจรวมถึงบทบาทแม่ด้วย)

การต่อสู้ในเรื่องราวของจักรวาล GL จึงไม่ใช่แค่การประกาศอิสรภาพด้านความรัก แต่คือการให้ภาพถึงทางเลือกอื่นในชีวิตของผู้หญิงด้วย

ดูข้อมูลทั้งหมดได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-13-years-thai-gl-evolution

Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Mirror Thailand

“จะทําอย่างไรให้เศษอวนที่สร้างปัญหาต่อสัตว์ทะเลกลายเป็นวัสดุที่ ‘โลก’ ต้องรักษา” Aqua-R-Us คอลเล็กชันใหม่จาก PIPATCHARA เก็บขยะ ‘แหอวน’ ใต้ทะเล มาสร้างชุด Ready-to-Wear เพื่อสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราควรให้ความสำคัญ

6 ชั่วโมงที่ผ่านมา

“อัลบั้มนี้ฉันมีจุดมุ่งหมายที่จะปลดปล่อยตัวเองอย่างเต็มร้อย ระเบิดโลกที่อยู่ในใจให้ออกมา” การกลับมาของ LORDE ในอัลบั้ม Virgin ที่สำหรับเธอแล้วคือ ‘ภารกิจ’ การเยียวยาตัวเองในทุกช่วงวัย

7 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

"ขนมถ้วยฟูทุเรียนมูซานคิง" แปลกใหม่ ชวนชิม หรอยแรงแห่งพังงา

Manager Online

หมอจุฬาฯ เผยวิธีผ่าตัดรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) แห่งแรกในไทย

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

คอนเสิร์ต BLACKPINK ที่ Goyang Stadium มีคนดูรวม 2 วันทะลุ 78,000 คน

THE STANDARD

ใครหยุดบ้าง 10-13 ก.ค. 2568 เช็กวันเปิดทำการธนาคาร - ไปรษณีย์ - เอกชน

Thai PBS

“Price War: สงครามราคาครั้งนี้ ใครได้ ใครเสีย?!”

GM Live

ยิ่งใหญ่สมการรอคอย “งานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช” ปี 2568 จังหวัดนครพนม

Manager Online

MEYOU แท็กทีม JAONAAY-JAOKHUN ร่วมกันถ่ายทอดอารมณ์คนเหงาผ่านซิงเกิลล่าสุด 4TH JULY

THE STANDARD

ทำไมนอนตะแคงถึงทำให้หน้าเหี่ยว?

สยามรัฐวาไรตี้

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...