ยุโรปวิกฤติ คลื่นความร้อน ทะลุ 40 องศา คร่าชีวิตแล้ว 6 ศพ เด็กตายต่อหน้าพ่อแม่
หลายประเทศในทวีปยุโรปเผชิญคลื่นความร้อนระลอกใหญ่ อุณหภูมิพุ่งทะลุ 40 องศาเซลเซียส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 6 ราย ขณะที่หลายพื้นที่ต้องเผชิญไฟป่า การอพยพฉุกเฉิน และภาวะสุขภาพเสี่ยงสูงจากความร้อน โดยองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ย้ำชัดว่า นี่เป็นผลจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์ก่อขึ้นเอง
สเปน ไฟป่าคร่าชีวิตชาวไร่ พื้นที่เสียหาย 6,500 เฮกตาร์ ใกล้เมือง Coscó แคว้นคาตาโลเนีย ประเทศสเปน ชาวไร่สองคน อายุ 45 และ 32 ปี เสียชีวิตหลังติดอยู่กลางวงล้อมไฟป่า แม้จะพยายามขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าก่อนหน้านั้น แต่ฝ่าวงไฟเข้าไปไม่ได้
เจ้าหน้าที่เผยว่าไฟลุกลามรวดเร็ว กินพื้นที่แล้วกว่า 6,500 เฮกตาร์ ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาสเปนคาดว่า เมืองคอร์โดบาจะมีอุณหภูมิแตะ 41°C ในวันพุธ และบางเมืองในยามค่ำคืนยังร้อนถึง 28°C
เหตุเศร้าอีกเหตุเกิดใน ฝรั่งเศส เด็กหญิงอเมริกันวัย 10 ปี ล้มลงและเสียชีวิตต่อหน้าครอบครัว ที่ลานพระราชวังแวร์ซาย เวลาราว 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นวันอังคาร (2 ก.ค.) แม้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและทีมฉุกเฉินจะพยายามช่วยเหลือ แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้
รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศส อานเญส ปานิเยร์-รูนาแชร์ เปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตจากความร้อนแล้ว 2 ราย และกว่า 300 คนต้องเข้ารับการปฐมพยาบาลฉุกเฉิน ฝรั่งเศสยังเผชิญ อุณหภูมิร้อนที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์เดือนมิถุนายน 4 แคว้นยังอยู่ในระดับ “เตือนแดง” ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ได้แก่ Aube, Cher, Loiret และ Yonne
บนเกาะ ซาร์ดิเนีย ชายวัย 75 ปีเสียชีวิตหลังเป็นลมริมชายหาด Budoni ขณะที่ชายวัย 60 ปีอีกคนหนึ่งก็ป่วยกะทันหันที่ชายหาด Lu Impostu ส่วนในแคว้น Vicenza มีคนงานก่อสร้าง 2 คนหมดสติขณะทำงานกลางแดด หนึ่งในนั้นอยู่ในอาการโคม่า
เจ้าหน้าที่กรีซเตือนภัยไฟป้าระดับสูงในหลายพื้นที่ รวมถึง Attica, ครีต, เพโลพอนนีส และหมู่เกาะทะเลอีเจียน โดยในเขต Halkidiki ไฟป่ากระจายตัวเร็วในป่าสนแห้งแล้ง บริเวณหมู่บ้าน Vourvourou ทำให้ต้องอพยพนักท่องเที่ยวและประชาชน
บนเกาะ Crete ไฟลุกลามใกล้หมู่บ้านชายทะเล Achlia คุกคามที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐาน ทหารและนักดับเพลิงกว่า 100 นายเร่งควบคุมสถานการณ์
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า ความร้อนที่รุนแรงและเกิดบ่อยขึ้นในปัจจุบันเป็นผลโดยตรงจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะในเขตเมืองที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ “เกาะความร้อน”
“เมืองที่เต็มไปด้วยอาคาร พื้นถนน รถยนต์ และแหล่งความร้อน ทำให้อุณหภูมิสูงกว่าชานเมือง ส่งผลให้ความเครียดจากความร้อนรุนแรงขึ้น และเพิ่มอัตราการเสียชีวิต” แถลงการณ์จาก WMO
ดิมเพิล รานา ผู้เชี่ยวชาญด้านความร้อนและภูมิอากาศจากบริษัท Arup ยังระบุด้วยว่า “เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุดในสถานการณ์นี้” รวมถึงกลุ่มแรงงานรายได้น้อยที่ต้องทำงานกลางแจ้งก็เผชิญความเสี่ยงไม่แพ้กัน
ทั้งสเปนและอังกฤษเพิ่งทำสถิติ เดือนมิถุนายนร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ ขณะที่แนวโน้มจาก IPCC และ WMO ชี้ชัดว่า ความร้อนสุดขั้วเช่นนี้จะเกิดบ่อยขึ้นในอนาคต และส่งผลกระทบต่อสุขภาพและโครงสร้างสังคมมากกว่าที่เคยเป็น
คลื่นความร้อนต่างจากอากาศร้อนปกติยังไง ทำไมแค่ 40 องศาคนถึงตาย
ในช่วงฤดูร้อน หลายคนอาจคิดว่าอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียสไม่น่าจะรุนแรงขนาดทำให้คนตายได้ แต่ความจริงแล้ว หากเป็น “คลื่นความร้อน” (Heatwave) ผลกระทบต่อร่างกายอาจรุนแรงกว่าที่คาดไว้มาก เพราะคลื่นความร้อนไม่ใช่แค่ “อากาศร้อนธรรมดา” แต่เป็นภาวะที่อุณหภูมิสูงเกินค่าปกติอย่างต่อเนื่องหลายวัน แถมร้อนไปจนถึงตอนกลางคืน อุณหภูมิไม่ลดลงต่ำกว่า 25–28 องศาเซลเซียส ทำให้ร่างกายไม่มีโอกาสฟื้นตัวหรือพักจากความร้อนสะสม
ความแตกต่างสำคัญระหว่างอากาศร้อนทั่วไปกับคลื่นความร้อนคือ ความต่อเนื่อง และ ความรุนแรงสะสม อากาศร้อนอาจเกิดขึ้นวันสองวัน แล้วเย็นลงในช่วงค่ำ แต่คลื่นความร้อนจะร้อนทั้งวันทั้งคืนติดกันเป็นเวลาหลายวัน บางครั้งอาจกินเวลายาวเป็นสัปดาห์ ทำให้ร่างกายคนเราต้องแบกรับอุณหภูมิสูงโดยไม่มีโอกาสพัก การระบายความร้อนของร่างกายผ่านเหงื่อจึงไม่ทัน กลายเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้
อันตรายของคลื่นความร้อนคือมันโจมตีแบบ “เงียบ” ส่งผลร้ายแรงในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และแรงงานที่ต้องทำงานกลางแจ้ง หากอุณหภูมิภายในร่างกายสูงเกิน 39.5 องศา อาจเกิดอาการลมแดด (Heatstroke) ทำให้หมดสติ สมองบวม หรือถึงขั้นเสียชีวิตจากอวัยวะล้มเหลวได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
บรรยากาศในเขตเมือง คนอาศัยอยู่เยอะ เลวร้ายยิ่งขึ้นจากปรากฏการณ์ “เกาะความร้อนในเมือง” ซึ่งทำให้เมืองร้อนกว่าชานเมือง 2–7 องศา เนื่องจากถนนปูน ตึกสูง และเครื่องยนต์สะสมความร้อนไว้มหาศาล เมื่อไม่มีต้นไม้หรือแหล่งระบายอากาศ ความร้อนจะย้อนกลับมากระทบร่างกายมนุษย์ซ้ำอีกชั้น
อีกหนึ่งปัจจัยที่น่ากังวลคือ คลื่นความร้อนมักเกิดโดยไม่ทันตั้งตัว ไม่มีเสียงเตือนเหมือนพายุหรือฝนตกหนัก ทำให้ประชาชนไม่รู้ว่าต้องป้องกันตัวอย่างไร ไม่ได้ลดกิจกรรมกลางแจ้ง ไม่ดื่มน้ำเพิ่ม หรือไม่เปิดพัดลม เครื่องปรับอากาศเพียงพอ คนที่มีรายได้น้อยและอยู่ในพื้นที่ไม่มีระบบระบายอากาศจึงตกอยู่ในความเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง