สั่งเฝ้าระวังลุ่มแม่น้ำยม-น่าน รับมือฝนต่อเนื่อง เร่งระบายน้ำ-ตั้งเครื่องสูบน้ำ
นายวรพจน์ เพชรนรชาติ รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในเขตลุ่มน้ำยม–น่าน ที่ห้องประชุม 1 สำนักงานชลประทานที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายสมจิตฐิพงศ์ อำนาจศาล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 นายทวีวัฒน์ สืบสุขมั่นสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 นายโชค พรินทรากูล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 4 นายสมคิด สะเภาคำ ผู้อำนวยการศูนย์อุทกวิทยาชลประทานภาคเหนือตอนล่าง และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมรายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำและแนวทางการดำเนินงานในพื้นที่
จากนั้น รองอธิบดีฯ นำทีมลงพื้นที่บริเวณท้ายประตูระบายน้ำคอรุม เพื่อตรวจสอบระดับน้ำในแม่น้ำยม พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถวางแผนล่วงหน้า ปรับจุดติดตั้งอุปกรณ์ และจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นย้ำแนวทาง “บูรณาการร่วมกับชุมชนและท้องถิ่น” เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำที่ตอบสนองสถานการณ์ได้ทันท่วงที ปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม–น่าน อาศัยการระบายผ่านคลองเชื่อม “ยม–น่าน” จากจุดหลัก ได้แก่ คลองหกบาท ช่องน้ำยมสายเก่า และคลองผันน้ำ โดยเร่งพร่องน้ำจากพื้นที่เหนือประตูระบายน้ำ ลงสู่ท้ายแม่น้ำ ควบคู่กับการเสริมแนวคันกั้นน้ำชั่วคราว และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ในจุดเสี่ยงน้ำหลาก พร้อมเร่งพร่องน้ำในลำน้ำสาขาด้านท้ายน้ำ ทั้งนี้แม้พายุโซนร้อน “วิภา” จะอ่อนกำลังลงแล้ว แต่จากฝนที่ตกต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำยมและลำน้ำสาขาหลายแห่งยังคงอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำในจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของศูนย์อุทกวิทยาชลประทานภาคเหนือตอนล่าง ระบุว่า ระหว่างวันที่ 24–26 กรกฎาคม 2568 อาจมีฝนตกในบางพื้นที่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง กรมชลประทาน จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง เน้นการบริหารจัดการน้ำเชิงรุกเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีความเสี่ยงสูง ปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนในอัตราที่เหมาะสม พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงกว่า 10 จุด เพื่อเร่งพร่องน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรและชุมชน ตลอดจนเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และบุคลากรลงพื้นที่ทันทีเมื่อต้องรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ลุกลาม