คนไทยตื่นตัวรับมือวิกฤตน้ำท่วม -ไทยปะทะกัมพูชา เน้นเช็กข่าว-เชื่อภาครัฐ
"สวนดุสิตโพล" ชี้คนไทยตั้งรับภาวะวิกฤติได้ดีประชาชนติดตามข่าวสารอย่างมีสติ คาดหวังข้อมูลถูกต้อง รวดเร็ว และปฏิบัติได้จริง พร้อมรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมเหนือและความขัดแย้งไทย-กัมพูชาอย่างรอบด้าน
"สวนดุสิตโพล" โดย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,148 คน (ทั้งออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 24-25 กรกฎาคม 2568 ในหัวข้อ "คนไทยกับการติดตามข่าวสารในภาวะวิกฤต" ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการรับมือและการคาดหวังของประชาชนต่อข่าวสารในสถานการณ์ฉุกเฉิน
พฤติกรรมการรับมือข่าวสารวิกฤต เมื่อได้รับข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤต 75.61% ของประชาชนจะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลจากหลายแหล่ง ตามมาด้วย 52.44% ที่ติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมรับมือในกรณีฉุกเฉิน และ 35.37% เลือกที่จะไม่แชร์ข่าวต่อเนื่องจากยังไม่แน่ใจในความจริงของข้อมูลนั้น
แหล่งข่าวที่ประชาชนเชื่อถือสูงสุด ในภาวะวิกฤต ประชาชนให้ความเชื่อถือ "หน่วยงานหลักของภาครัฐและศูนย์ข้อมูลของรัฐ" มากที่สุดถึง 76.83% รองลงมาคือสำนักข่าวและนักข่าวที่มีชื่อเสียง 50.61% และนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 23.78%
ความคาดหวังต่อภาครัฐและสื่อมวลชน ประชาชนต้องการให้ภาครัฐและสื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลที่ "ถูกต้อง รวดเร็ว ต่อเนื่อง" สูงสุดถึง 81.10% นอกจากนี้ 72.56% อยากให้มีการแจ้งข้อควรปฏิบัติอย่างชัดเจน และ 57.93% ต้องการให้ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่เป็นทางการเกินไป
ความต้องการในสถานการณ์น้ำท่วม สำหรับกรณีน้ำท่วม ประชาชนอยากให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง "จัดเตรียมพื้นที่พักพิงและเส้นทางอพยพ" มากที่สุด 78.66% ตามด้วยการแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างแม่นยำและทั่วถึง 76.22% และการแจกจ่ายอาหาร น้ำ และของจำเป็นอย่างทั่วถึง 74.75%
ความกังวลในสถานการณ์ไทย-กัมพูชา ในประเด็นความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา ประชาชนรู้สึกเป็นห่วงและกังวลเรื่อง "การบาดเจ็บและความสูญเสียของทั้งสองฝ่าย" สูงสุดถึง 86.50% รองลงมาคือโรงพยาบาลและโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ 58.90% และการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารในสื่อและโซเชียลมีเดีย 55.83%
น.ส.พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล สรุปว่า คนไทยมีความตื่นตัวในการรับมือสถานการณ์วิกฤตด้วย "ข้อมูล" และ "สติ" โดยคาดหวังการสื่อสารที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือความขัดแย้งที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและความมั่นคงของประเทศ สิ่งที่ประชาชนต้องการไม่ใช่เพียงแค่ข้อมูลที่รวดเร็ว แต่ต้อง "ถูกต้อง" และ "ปฏิบัติได้จริง" ดังนั้น บทบาทของรัฐและสื่อจึงมีความสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่น และนำพาสังคมให้ก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน