เปิดกรุ ‘สามก๊กฉบับหมอบรัดเลย์' นริศเล่าไม่กั๊ก! 'ยาขอบ' ติดใจจนเขียน 'ผู้ชนะสิบทิศ' ไม่จบ
ไม่มีกั๊ก! นริศ เปิดกรุหนังสือเก่าฯ โชว์สามก๊ก ‘ฉบับหมอบรัดเลย์’ – เล่าเกร็ด ‘ยาขอบ’ ติดใจสามก๊ก จนเขียนผู้ชนะสิบทิศไม่จบ – ย้อนเล่ายุคงิ้วเปาบุ้นจิ้น เวอร์ชั่นภาษาไทยครั้งแรก สนับสนุนโดยผงซักฟอกเจ้าดังในตำนาน
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค (อาคาร West ชั้น 2) พระโขนง กรุงเทพฯ ในวาระพิเศษของการครบรอบ 50 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทย–จีน เครือมติชนเปิดม่านเทศกาลวัฒนธรรมครั้งยิ่งใหญ่ “Thai–Chinese Golden Fest 2025 เทศกาลร้อยเรื่องราวไทย–จีน” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11–13 กรกฎาคม เวลา 10.00–18.00 น. ซึ่งวันนี้เป็นการจัดงานวันที่ 2
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ ตั้งแต่เวลา 10.30 น. ทีประชาชนทยอยเดินทางมาลงทะเบียนเข้าร่วมงานในช่วงเช้า เพื่อรอเข้าร่วมชมนิทรรศการ “จีนไทย ก้าวไปด้วยกัน” ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ.2518 และร่วมสำรวจทิศทางความร่วมมือกันต่อไปในอนาคต
ต่อมาเวลา 11.00 น. นายนริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักวิชาการอิสระและนักสะสมหนังสือเก่า พร้อมด้วย นายจุมพฏ สายหยุด ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) นำชมนิทรรศการ “จีนไทย ก้าวไปด้วยกัน” ท่ามกลางประชาชนที่เข้าร่วมรับฟังอย่างจดจ่อ
ในตอนหนึ่ง นายจุมพฏ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมติชน กล่าวว่า กิจกรรมวันนี้จะมีทั้งหมด 4 ส่วน ได้แก่ 1. ปฏิบัติการ 1,326 วัน สถาปนาความสัมพันธ์ไทยจีน 2. รายงานสดย้อนหลัง 50 ปี นาทีประวัติศาสตร์ 3. ในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายและพลิกผัน ไทยและจีนก้าวหน้าไปด้วยกัน และ 4. หนังสือ ‘มรดกภูมิปัญญาสองแผ่นดิน’ ซึ่งโดยความพิเศษของวันนี้ คือ ส่วนของกรุหนังสือเก่า ที่เราจัดแสดงแบบดิจิทัลผ่านจอ แต่วันนี้เจ้าของคอลเล็กชั่นหนังสือเก่าเหล่านี้ มานำบรรยายด้วยตนเอง
ด้าน นายนริศกล่าวว่า จากหนังสือเก่าที่ตนเก็บสะสมมา เล่มเริ่มต้นที่คนน่าจะรู้จักกันดี คือ ‘สามก๊ก’ ซึ่งโดยทั่วไปก็จะเรียกว่า ‘การเรียบเรียง’ ไม่ได้แปลยกมาเป๊ะๆ ซึ่งได้เริ่มเรียบเรียงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 หรือเมื่อปี พ.ศ.2348 โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่ว่าตอนนั้นมันยังเป็นสมุดไทยแบบพับสา
“เรามีหนังสือสามก๊กที่พิมพ์แบบสมุดฝรั่ง คือ เล่มสามก๊ก ฉบับพงศาวดาร ของหมอบรัดเลย์ ซึ่งตอนนี้เล่มจริงผมถืออยู่ในมือแล้ว โดยพิมพ์เมื่อปี 1866 สมัยปลายรัชกาลที่ 4 โดยตอนนั้นพิมพ์ออกมาทั้งสิ้น 4 เล่ม และพิมพ์แบบสมุดไทย 95 เล่ม
ผมถือว่า ถ้าเราจะเริ่มต้นวรรณกรรมจีนที่อยู่ในสังคมไทย ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ สามก๊ก เพราะมันไม่ใช่หนังสือต่างประเทศที่พิมพ์จำนวนซ้ำมากที่สุดในไทย แต่ผมคิดว่ามันมีลำดับการพิมพ์เยอะมาก เหมือนพระไตรปิฎกแล้วกัน เช่น อรรถกถา หรือ อนุฎีกา ซึ่งมีการตีความเต็มไปหมด ฉะนั้นผมคิดว่า มันเป็นสายธารวรรณกรรมจีนในไทย ก็ต้องเริ่มต้นจากเล่มนี้” นายนริศระบุ
นายนริศกล่าวต่อว่า หลังจากนั้นก็มีการตีพิมพ์สามก๊กออกมามากมาย กลายเป็นที่นิยมอย่างมาก โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ก็ยังพิมพ์อยู่ 4 เล่ม แต่สามก๊กที่เราอ่านอยู่ทุกวันนี้มันมาเมื่อเกือบ 100 ปี
“เราสามารถพูดได้เลยว่า หนังสือสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง ที่เราอ่านๆ กันอยู่ ไม่ว่าจะจากสำนักพิมพ์ดอกหญ้า เมื่อ 30 กว่าปีก่อน จนมีอยู่ในทุกวันนี้ หรือ สำนักพิมพ์แสงดาว ก็เอามาพิมพ์จำนวนมากนั้น มาจากกรมพระยาดํารง ราชานุภาพ ที่ชำระจากเล่มของหมอบรัดเลย์มา จากปลายสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อที่จะพิมพ์ในงานพระศพของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี ที่วังบางขุนพรหม
“ฉบับนี้เรียกได้ว่า เป็นฉบับแรกที่ชำระโดยสมเด็จกรมพระยาดํารงฯ ทั้งหมดทั้งสิ้นจำนวน 4 เล่ม และหนังสือชุดนี้กรมสมเด็จพระยาดำรงฯ เขียนหนังสือเพิ่มอีก 1 เล่ม ฉะนั้นมันจะไม่ใช่แค่ 4 เล่ม แต่จะเป็น 5 เล่ม โดยมีชื่อว่า ตำนานสามก๊ก ซึ่งจะบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ แม้อาจจะเป็นฉบับพงศาวดารจีน แต่น่าจะเป็นเนื้อเรื่องแนวนวนิยายมากกว่า
ตอนนั้น คนไทยเราก็นิยมวรรณกรรมจีน เรียกว่า พงศาวดารจีนอย่างโน้นอย่างนี้ แต่จริงๆ มันมาจากสไตล์ซานกว๋อเอี่ยนอี้ ที่ประพันธ์มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง และตอนนั้นสมเด็จกรมพระยาดํารงฯ ก็จะไล่เลยว่าในตำนานสามก๊กมันเป็นหนังสือเชิงวิชาการเลย นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 7 โดยตอนนั้นในสมัยรัชกาลที่ 7 สมเด็จกรมพระยาดํารงฯ ระบุไว้ว่า ตอนนั้นมีการแปลสามก๊กประมาณ 34 เรื่อง” นายนริศระบุ
นายนริศกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีหนังสือ ‘เปาบุ้นจิ้น’ ที่มาฮิตสุดในยุคที่มีจอแก้วขึ้นมา ซึ่งตอนที่มันโด่งดังโครมครามอย่างมาก ในสมัย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บริบทหลังจากที่เดินทางไปสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน เมื่อปี 2518 แล้วนั้น
“ต่อมามีเรื่องเล่าว่า ในปี 2522 งิ้วไทยเรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จมาก โดยมี เม้ง ป.ปลา หรือ อำพัน เจริญสุขลาภ ได้มาจัดแสดงงิ้วครั้งแรก ในวาระการฉลอง 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์พอดี ซึ่งจัดแสดงตอน ‘เปาบุ้นจิ้นประหารเปาเหมี่ยน’ ซึ่งเป็นการสนับสนุนใหญ่ของสหพัฒนพิบูล ผู้ผลิตผงซักฟอกเปาบุ้นจิ้น อันนี้ก็เป็นความเชื่อมโยงกันระหว่างวรรณกรรมจีน ที่มาสร้างความนิยมในรูปแบบสไตล์ชีวิตของคนไทยอย่างไร” นายนริศชี้
นายนริศกล่าวต่อว่า ความนิยมของวรรณกรรมจีนเริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงหลังปี พ.ศ.2475 ตอนนั้นคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้ไปปรึกษากับ คุณมาลัย ชูพินิจ และ ‘ยาขอบ’ นามปากกาของ โชติ แพร่พันธุ์ ได้คุยกันว่า เราะจะทำอย่างไรให้เกิดการสร้างสรรค์วรรณกรรมใหม่ๆ ดีไหม จนกลายเป็นที่มาของ ยาขอบ ที่ได้แต่งหนังสือเรื่อง ‘ผู้ชนะสิบทิศ’ ซึ่งเป็นวรรณกรรมคลาสสิคอันหนึ่ง ที่มาฆ่าพวกพงศาวดารจีนหมดเลย
“มันมีเรื่องที่ย้อนแย้งอยู่นิดหนึ่งที่ว่า ตอนหลังมาไม่กี่ปี คือ พ.ศ.2476 หนังสือผู้ชนะสิบทิศ ฮิตระเบิดระเบ้อ แต่ปรากฏว่า 5 ปีต่อมา ยาขอบมาเริ่มเขียนสามก๊ก โดยเริ่มจาก ‘กวนอู’ เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ แล้วตอนนั้นกวนอูก็ได้ลงหนังสือพิมพ์ประชาชาติเหมือนกัน หลังจากผ่านมา 5 ปี ให้หลังเรื่องผู้ชนะสิบทิศ ซึ่งตอนนั้นได้รับความนิยมมาก
แล้วเขาว่ากันว่าในหนังสืองานศพของยาขอบ จะมีเล่มสามก๊ก ฉบับวังบางขุนพรหมชุด 5 เล่มนั้น วางอยู่บนหัวเตียงเลย ซึ่งนับว่าอ่านสามก๊กเชี่ยวชาญมากแต่ยาขอบคิดว่าจะทำอย่างไรให้สามก๊กได้รับความนิยม จึงไปเอาฉบับภาษาอังกฤษมาเรียบเรียงเป็นตัวละครย่อยๆ ประมาณ 17-18 ตัวละคร ซึ่งสามก๊กเล่มแรกที่ยาขอบทำเกี่ยวกับตัวละครกวนอู พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2485 โดยวันนี้ผมก็เอาเล่มจริงมาให้ดูกัน ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 80 ปีแล้ว” นายนริศเผย
นายนริศกล่าวอีกว่า ตอนนั้นยาขอบหลงใหลในสามก๊กมาก เขาเขียนไป 10 กว่าปี จากเริ่มแรกคือ เล่มกวนอู ที่บอกว่าดังแล้ว แต่ยังมีเล่มที่ดังที่สุดสำหรับสามก๊ก คือ ‘ขงเบ้ง’ ซึ่งตอนนนั้นถัดมาอีกปีหนึ่ง คือปี พ.ศ.2486 ตอนนั้นพิมพ์ซ้ำเล่มขงเบ้งไป 3-4 ครั้งเลย เรียกว่า ได้รับความนิยมอย่างสูง มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สามก๊กเป็นที่นิยมอย่างมากในสังคมไทย
“คนที่อ่านสามก๊กจะรู้เลยว่า อ่านฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ก็จะเนือยๆ หน่อย อ่านได้เรื่อยๆ แต่ถ้าหยิบงานของยาขอบมาอ่าน ที่ไม่ว่าจะเรื่องของผู้ชนะสิบทิศ หรือ งานใดใดของยาขอบ คุณจะเห็นถึงความสนุกสนาน ซึ่งหลังจากขงเบ้งแล้ว ปี พ.ศ.2487 ก็มาเรื่องคู่อริของขงเบ้งเลย คือ สุมาอี้ แล้วเขียนมาเรื่อยๆ จนมาจบที่โจโฉ เมื่อปี พ.ศ.2496 ซึ่งรวมทั้งสิ้นเกือบ 20 ตัว หลังจากนั้น ยาขอบก็ไม่ได้กลับไปเขียนผู้ชนะสิบทิศอีกเลย**
ฉะนั้น มันจึงเป็นประวัติศาสตร์ช่วงที่สำคัญมาก คือ นักเขียนที่เก่งกาจที่สุดของสังคมไทยในสมัยหลัง พ.ศ.2475 ที่ฆ่าพงศาวดารจีน ด้วยผลงานผู้ชนะสิบทิศ แต่เขากลับไปหลงใหลวรรณกรรมจีนอย่าง สามก๊ก จนไม่สามารถกลับมาเขียนผู้ชนะสิบทิศจนจบ สุดท้ายยาขอบก็เสียชีวิตในปี พ.ศ.2500 จากการดื่มสุราเยอะ อันนี้เป็นเกร็ดประวัติของวรรณกรรมจีน
แต่สุดท้ายก่อน ยาขอบตาย เขาปรารถานาสิ่งหนึ่งคือ เขาอยากจะแปลสามก๊กจากภาษาจีนอยู่เหมือนกัน ด้วยการตั้งคณะอะไรสักอย่าง ซึ่งทำสำเร็จครั้งแรกในปี พ.ศ.2521-2522 ก็คือ บริบทหลังจาก หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปจับมือกับ เหมา เจ๋อตุง 3-4 ปี” นายนริศกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนริศ นำหนังสือสะสมเก่าเล่มจริง มาแสดงในงานจำนวนทั้ง 14 เล่ม โดยแบ่งตามหมวดหมู่ของวรรณกรรมที่นำเสนอในนิทรรศการ “จีนไทย ก้าวไปด้วยกัน” ซึ่งนายนริศระบุว่า หนังสือเล่มที่นับว่าทรงคุณค่าที่สุดในกรุหนังสือเก่า คือ หนังสือสามก๊ก ฉบับหมอบรัดเลย์ ชุด 95 เล่ม ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1866
ทั้งนี้ สามารถเดินทางมาร่วมงานได้ตั้งแต่วันที่ 11–13 กรกฎาคม 2568 ณ True Digital Park อาคาร West ชั้น 2 กรุงเทพฯ ลงสถานี BTS สถานีปุณณวิถี มีพื้นที่จอดรถรองรับภายในอาคาร เข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เปิดกรุ ‘สามก๊กฉบับหมอบรัดเลย์’ นริศเล่าไม่กั๊ก! ‘ยาขอบ’ ติดใจจนเขียน ‘ผู้ชนะสิบทิศ’ ไม่จบ
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th