DV8-ECF....ใครตอบได้ทำไมวิ่งแรง / สุนันท์ ศรีจันทรา
หุ้นขนาดเล็กในตลาดหลักทรัพย์ MAI จำนวนนับสิบบริษัทกำลังถูกจุดพลุเก็งกำไรครั้งใหม่ ราคาปรับตัวขึ้นร้อนแรง พร้อมกับมูลค่าซื้อขายที่หนาแน่นขึ้น แต่ที่ร้อนแรงสูดเหวี่ยง ราคาขยับขึ้นมาหลายร้อยเปอร์เซนต์หรือนับพันเปอร์เซ็น มีเพียง 2 บริษัทเท่านั้น
หุ้นบริษัท อิสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF และหุ้น บริษัท ดีวี 8 จำกัด (มหาชน) หรือ DV8 เป็นหุ้น 2 บริษัทที่ร้อนจัด ทั้งที่ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง และไม่มีปัจจัยสนับสนุนราคาที่พุ่งทะยานขึ้นมาแต่อย่างใด
หุ้น ECF ถูกจุดชนวนลากราคาขึ้นมาก นับตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา จากราคาปิด 37 สตางค์ ลากขึ้นมาปิดล่าสุดวันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคมที่ราคา 1.97 บาท โดยระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือนปรับตัวขึ้นมา 1.60 บาท หรือ เพิ่มขึ้น 448.64%
ECF มีเพียงข่าวการรวมพาร์ จากราคาพาร์ 25 สตางค์ รวมเป็นพาร์ 5 บาท และประกาศเพิ่มทุน นำหุ้นเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 20 หุ้นใหม่ เสนอขายในราคาหุ้นละ 20 สตางค์ โดยแจกใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญหรือวอร์แร้นต์ฟรี ในสัดส่วน 20 หุ้นใหม่ต่อ 8 วอร์แร้นท์ กำหนดราคาแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญเพียง 8 สตางค์
ผลประกอบการ ECF ขาดทุนต่อเนื่องหลายปี และไตรมาสแรกปีนี้ ขาดทุนหนัก โดยขาดทุนสุทธิ 72.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 16.85 ล้านบาท และเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นลงมาตลอด
การปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ยังไม่มีมาตรการกำกับการซื้อขายแต่อย่างใด ทั้งที่ราคาและมูลค่าการซื้อขาย เพิ่มขึ้นอย่างไม่ปกติ มีเพียงคำสั่งให้ชี้แจงการเปลี่ยนแปลงราคาและอัตราการใช้สิทธิ ECF-W5 ในเวลากระชั้นชิดเท่านั้น
ส่วนหุ้น DV8 ถูกลากขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา จากจุดปิดที่ 53 สตางค์ ราคาพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคมขึ้นมาปิดที่ 5.50 บาท รวมระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน ปรับตัวขึ้นมา 5.02 บาท หรือเพิ่มขึ้น 946.147%
DV8 ถูกลากขึ้น โดยมีข่าวลือบริษัทข้ามชาติจะญี่ปุ่น จะเข้ามาเทกโอเอร์หรือครอบงำกิจการ ซึ่งเมื่อตลาดหลักทรัพย์สอบถามไปยังบริษัท ฯ ได้รับคำตอบจากฝ่ายบริหาร ECF โดยปฏิเสธข่าวลืออย่างสิ้นเชิง แต่ต่อมาได้แจ้งถึงการเสนอขอจัดทำคำเสนอซื้อหุ้นหรือเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้น ECF จำนวน 100% ของทุนจดทะเบียน พร้อมวอร์แร้นต์ของบริษัทต่างชาติ 8 แห่ง โดยมีบริษัทขนาดใหญ่จากญี่ปุ่นอยู่เบื้องหลัง
ราคาเทนเดอร์ออฟเฟอร์ กำหนดไว้เพียงหุ้นละ 56 สตางค์เท่านั้น แต่ราคาหุ้นบนกระดานพุ่งไประดับ 6 บาทแล้ว การทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์จึงไม่มีวันเกิดขึ้นจริง เพราะใครจะนำหุ้นมาขาย ในเมื่อราคาบนกระดานสูกว่าราคาเทนเดอร์ออฟเฟอร์ 10 เท่าตัว
ผลประกอบการ DV8 ขาดทุนหลายปีติดต่อ เพียงมีกำไรในปี 2567 จำนวน 3.43 ล้านบาท แต่ไตรมาสแรกปีนี้ขาดทุน 20.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 8.15 ล้านบาท และเป็นสาเหตุที่หุ้นเงียบเหงา ราคาทรุดลง
ตลาดหลักทรัพย์ประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายขั้นที่ 1 หุ้น DV8 มีผลถึงวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ โดยกำหนดให้ซื้อขายด้วยเงินสดหรือบัญชีแคชบาลานซ์ และห้ามคำนวณวงเงินซื้อขายหุ้น
แต่มาตรการกำกับของตลาดหลักทรัพย์ ฯ ไม่อาจสยบความร้อนแรงของหุ้น DV8 ได้ โดยราคายังถูกลากอย่างหวือหวา มูลค่าซื้อขายที่สูงขึ้น สะท้อนความไม่ปกติ โดยไม่มีปัจจัยใดสนับสนุนราคา เพราะการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ เสนอซื้อในราคาเพียงหุ้นละ 56 สตางค์เท่านั้น
ไม่รู้ว่า ตลาดหลักทรัพย์ ฯ จะทนดู ความไม่ปกติของการซื้อขายหุ้น ECF และ DV8 ไปอีกนานสักเท่าไหร่
จะทนดูหมูวิ่งชนปังตอ หรือดูแมลงเม่าบินเข้ากองไฟตลอดไปหรือไม่
ถ้ามีเหตุผลคำอธิบายหรือปัจจัยสนับสนุน ความร้อนแรงของราคาหุ้น ECF และ DV8 คงไม่มีใครติดใจในพฤติกรรมอันไม่ปกติของหุ้นขนาดเล็กทั้งสองตัวนี้
แต่ถ้าใครถามว่า ทำไมหุ้น ECF และ DV8 จึงร้อนนัก และพุ่งแรงนับพันเปอร์เซ็นมาได้อย่างไร มีใครปั่นหรือไม่ ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ ฯ ให้คำตอบได้หรือไม่
หุ้นที่ขึ้นแรงอย่างผิดปกติ โดยไร้ปัจจัยสนับสนุน ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ สร้างความเสี่ยงให้นักลงทุนที่พัดหลงเข้าไปเก็งกำไร แต่กลับไม่มีมาตรการเด็ดขาดเพื่อกำราบหรือยับยั้งพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์โดยทันที
กำลังตอกย้ำความหละหลวม มาตรการกำกับการซื้อขายหุ้นที่ขาดความเข้มข้น
หุ้นปั่นที่คิดว่าสาบสูญไปแล้ว จึงทยอยฟื้นคืนชีพกันนับสิบตัวในตลาด MAI นักลงทุนระวังตัวกันให้ดีแล้วกัน
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO