วิจัยชี้! นอนเพิ่ม 2 ชั่วโมง ช่วยลดความวิตกในกลุ่มวัยรุ่น แต่ระวังอย่านอนเยอะเกิน
นักวิจัยเผย การนอนเพิ่มวันละ 2 ชั่วโมง สามารถช่วยลดความวิตกกังวลในกลุ่มวัยรุ่นได้จริง แต่เตือน! การนอนมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต และร่างกายเช่นกัน
สื่อต่างประเทศเผย วัยรุ่นในยุคนี้มี“ข้ออ้างใหม่” ในการกดปุ่มเลื่อนปลุกแล้ว แต่ นักวิจัยเตือนอย่ามากจนเกินไป!
โดยงานวิจัยใหม่พบว่า“การได้นอนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 ชั่วโมงในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ อาจช่วยให้วัยรุ่นรู้สึกวิตกกังวลน้อยลง” อย่างไรก็ตาม หากนอนมากเกินไปกว่านั้น อาจส่งผลตรงกันข้าม ทำให้เกิดความเครียดภายในเพิ่มขึ้น แทนที่จะรู้สึกผ่อนคลายอย่างที่คาดหวัง
ด้าน ดร.โซจอง คิม นักวิจัยหลัก และนักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโอเรกอน จากสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ทั้งการนอนน้อยกว่าวันธรรมดาในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และการนอนมากเกินไปในช่วงวันหยุด ต่างก็มีความเกี่ยวข้องกับระดับอาการวิตกกังวลที่สูงขึ้น”
ในการศึกษาครั้งนี้ ซึ่งเก็บข้อมูลจากวัยรุ่นเกือบ 1,900 คน ที่มีอายุระหว่าง 12 - 15 ปี จากทั่วสหรัฐฯ นักวิจัยใช้เครื่องติดตามการนอนหลับ ‘Fitbit’ เพื่อวัดระยะเวลา และคุณภาพของการนอน โดยใช้แบบสอบถาม‘Child Behavior Checklist’ ซึ่งเป็นแบบประเมินที่ผู้ปกครองตอบเอง เพื่อประเมินอารมณ์ และพฤติกรรมของเด็ก
ดร.เวนดี้ ทรอกเซล นักวิทยาศาสตร์พฤติกรรมอาวุโสจากสถาบัน ‘RAND’ เปิดเผยกับสื่อต่างประเทศว่า “แม้ว่าการปล่อยให้วัยรุ่นได้นอนตื่นสายขึ้นประมาณ 2 ชั่วโมง จะช่วยให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นในระยะสั้น”
ภาพประกอบ
“ทว่า! หากนอนเกินกว่านั้นมาก อาจเสี่ยงต่อภาวะที่เรียกว่า ‘social jetlag’ หรือ ‘ความแปรปรวนของวงจรการนอนหลับ’ ที่เกิดจากพฤติกรรมทางสังคม เช่น การนอนดึก และตื่นสายในวันหยุด จนทำให้นอนหลับได้ยากในคืนวันอาทิตย์ และส่งผลให้เริ่มสัปดาห์เรียนด้วยความง่วงซึม”
โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่า ผลการศึกษานี้สะท้อนถึง“วิกฤตการนอนหลับ” ที่กำลังเกิดขึ้นในหมู่วัยรุ่นอเมริกัน
“ตอนนี้เรากำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนการนอนอย่างรุนแรงในหมู่เยาวชน” ดร.ราเชล วิโดม นักระบาดวิทยาและศาสตราจารย์จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมินนิโซตา กล่าว พร้อมเสริมว่า “เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้นอนหลับเพียงพอในคืนที่มีเรียนเลย”
ตามรายงานของศูนย์ควบคุม และป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC)มีเพียง 23% ของวัยรุ่นในสหรัฐฯ เท่านั้นที่ได้นอนหลับในช่วงเวลาที่แนะนำ คือ 8 - 10 ชั่วโมงต่อคืน
โดยส่วนใหญ่นอนเฉลี่ยเพียง 6 - 7 ชั่วโมง ซึ่งลดลงอย่างน่าเป็นห่วง และเชื่อมโยงกับปัญหาหลายด้าน ทั้ง“ความวิตกกังวล, การขาดเรียนเรื้อรัง, การตัดสินใจที่ผิดพลาด และพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ”
ภาพประกอบ
เพราะเหตุนี้ ดร.เวนดี้ ทรอกเซล ชี้ว่า “สาเหตุที่วัยรุ่นนอนหลับไม่เพียงพอมีหลายปัจจัย เช่น การบริโภคคาเฟอีนเพิ่มขึ้น การใช้หน้าจอมากเกินไป และตารางชีวิตที่แน่นเกินไป” แต่เธอย้ำว่า เวลาที่โรงเรียนได้เริ่มทำการเรียนการสอนในตอนเช้านั้นเร็วเกินไป ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในอุปสรรคที่สำคัญที่สุดต่อการนอนหลับอย่างมีคุณภาพของวัยรุ่น
ทั้งดร.ราเชล วิโดม และดร.เชลบี แฮร์ริส นักจิตวิทยาจากวิทยาลัยการแพทย์อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เห็นพ้องว่าการปรับเวลาเริ่มเรียนของโรงเรียนให้เป็น 8:30 น. ซึ่งเป็นเวลาขั้นต่ำตามคำแนะนำของสมาคมกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน (AAP) “อาจช่วยบรรเทาวิกฤตการนอนหลับนี้ได้” โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพในช่วงวัยแรกรุ่น ที่ทำให้การตื่นเช้าเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นสำหรับวัยรุ่น
“งานวิจัยนี้เน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นที่วัยรุ่นควรได้นอนหลับมากกว่านี้โดยรวม” ดร.เชลบี แฮร์ริส กล่าวกับสื่อต่างประเทศ
ภาพประกอบ
“โรงเรียนส่วนใหญ่มักเริ่มเรียนเร็วเกินไป ทั้งที่ตามธรรมชาติแล้ว วัยรุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงของนาฬิกาชีวภาพ ทำให้พวกเขานอนดึกและตื่นสายมากขึ้น”
โดยรวมแล้ว การนอนหลับให้เพียงพอ และมีคุณภาพถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลสุขภาพจิตของวัยรุ่น งานวิจัยชิ้นนี้จึงช่วยย้ำเตือนว่า การให้วัยรุ่นได้ “นอนชดเชย” ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์อย่างพอดี อาจช่วยลดความวิตกกังวลได้ แต่ก็ต้องระวังไม่ให้นอนมากเกินไปจนรบกวนนาฬิกาชีวภาพของพวกเขา
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำให้มีการปรับเปลี่ยนเวลาการเริ่มเรียนในโรงเรียนให้เหมาะสมกับนาฬิกาชีวภาพของวัยรุ่น เพื่อช่วยแก้วิกฤตการนอนหลับที่กำลังแพร่หลาย และส่งเสริมให้เยาวชนมีสุขภาพกายใจที่ดีขึ้นในระยะยาว
ภาพประกอบ
ขอบคุณที่มา: New York Post
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : วิจัยชี้! นอนเพิ่ม 2 ชั่วโมง ช่วยลดความวิตกในกลุ่มวัยรุ่น แต่ระวังอย่านอนเยอะเกิน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.khaosod.co.th