เศรษฐกิจโลกเสี่ยงสูญ 39 ล้านล้านดอลลาร์ หากพื้นที่ชุ่มน้ำหายไป
ตามรายงานของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (Convention on Wetlands) ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พบว่า การทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก ซึ่งมีบทบาทสนับสนุนการประมง เกษตรกรรม และการควบคุมอุทกภัย อาจส่งผลให้สูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมูลค่าสูงถึง 39 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2050
รายงานระบุอีกว่า ราว 22% ของพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก ทั้งระบบน้ำจืด เช่น พื้นที่พรุ แม่น้ำ และทะเลสาบ รวมถึงระบบชายฝั่งทะเลอย่างป่าชายเลนและแนวปะการัง ได้หายไปตั้งแต่ปี 1970 ซึ่งถือเป็นอัตราการสูญเสียที่เร็วที่สุดในบรรดาระบบนิเวศทั้งหมด
แรงกดดันที่ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำลดลง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน มลพิษ การขยายตัวของภาคเกษตร การรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและภัยแล้ง
ฮิวจ์ โรเบิร์ตสัน ผู้เขียนรายงานกล่าวว่า ขนาดของการสูญเสียและเสื่อมโทรมอยู่ในระดับที่เราไม่สามารถเพิกเฉยได้
รายงานเรียกร้องให้มีการลงทุนปีละ 275,000 ล้านดอลลาร์ถึง 550,000 ล้านดอลลาร์เพื่อย้อนกลับภัยคุกคามต่อพื้นที่ชุ่มน้ำที่ยังหลงเหลืออยู่ พร้อมระบุว่า การใช้จ่ายในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่จำเป็นอย่างมาก เเต่ไม่ได้ระบุตัวเลขที่แน่ชัด
ตามรายงาน ระบุว่า โลกได้สูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำไปแล้ว 411 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งเทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 500 ล้านสนาม และหนึ่งในสี่ของพื้นที่ชุ่มน้ำที่ยังเหลืออยู่ขณะนี้ ถูกจัดอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้แก่ การควบคุมอุทกภัย การฟอกน้ำ และการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในช่วงเวลาที่ระดับน้ำเพิ่มขึ้น และพายุเขตร้อนกับเฮอร์ริเคนรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พื้นที่เหล่านี้ยังสนับสนุนอุตสาหกรรมประมงและเกษตรกรรม รวมถึงมีคุณค่าทางวัฒนธรรม
รายงานฉบับนี้ถูกเผยแพร่ก่อนหน้าการประชุมของภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งจะจัดขึ้นที่น้ำตกวิกตอเรีย ประเทศซิมบับเว โดยอนุสัญญานี้เป็นข้อตกลงระดับโลกที่มี 172 ประเทศลงนามตั้งแต่ปี 1971 เพื่อเป็นผู้นำในการอนุรักษ์ระบบนิเวศดังกล่าว กลุ่มประเทศสมาชิกนี้ประกอบด้วยจีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา โดยมีการประชุมทุก 3 ปี แต่ยังไม่ชัดเจนว่าทุกประเทศจะส่งผู้แทนเข้าร่วมหรือไม่
รายงานระบุว่า การเสื่อมโทรมของพื้นที่ชุ่มน้ำรุนแรงเป็นพิเศษในแอฟริกา ละตินอเมริกา และแคริบเบียน แต่สถานการณ์กำลังเลวร้ายลงในยุโรปและอเมริกาเหนือเช่นกัน ขณะนี้มีโครงการฟื้นฟูที่กำลังดำเนินอยู่ในประเทศต่าง ๆ เช่น แซมเบีย กัมพูชา และจีน