ทำไม 'ยาทรามาดอล' ถึงถูกจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ?
ยาทรามาดอล (Tramadol) ถูกจัดเป็น “ยาควบคุมพิเศษ” มีผล ม.ค. 2569
กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ ยาทรามาดอล (Tramadol) ตำรับยาเดี่ยวชนิดรับประทาน เป็นยาในบัญชียาควบคุมพิเศษอย่างเป็นทางการ หลังพบมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน โดยประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วันหลังจากลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเท่ากับจะเริ่มมีผลตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคม 2569
ประกาศดังกล่าวมีชื่อว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ (ฉบับที่ 57)” ออกตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ได้ลงนามเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2568 และเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568
อ่านประกาศฉบับเต็ม “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ (ฉบับที่ 57)”
ทำไมต้องควบคุม "ยาทรามาดอล"?
ยาทรามาดอล เป็นยาแก้ปวดในกลุ่มโอปิออยด์ ที่ออกฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน มีฤทธิ์ระงับปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาพาราเซตามอลหรือยาแก้ปวดทั่วไป แต่เนื่องจากออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเสพติด
เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ ระบุว่า ยานี้เริ่มถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมเรียกกันว่า “ยาเขียวเหลือง” ซึ่งมีลักษณะเป็นแคปซูลสีเขียวเหลือง บางรายนำไปใช้เกินขนาดเพื่อหวังผลในทางมึนเมา
แม้ในการแพทย์จะกำหนดให้รับประทานได้สูงสุดไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน แต่หากได้รับเกิน 500 มิลลิกรัมขึ้นไปหรือประมาณ 10 แคปซูล อาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงถึงขั้นชัก ไตวายเฉียบพลัน และเสียชีวิต
ผลกระทบของการปรับสถานะยา
การปรับสถานะให้ “ยาทรามาดอล” เป็นยาควบคุมพิเศษนั้น มีผลเฉพาะตำรับยาเดี่ยวชนิดรับประทานเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า ต่อจากนี้ไป ร้านขายยาทั่วไปจะไม่สามารถจำหน่ายยาชนิดนี้ได้อีกต่อไป ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยานี้จะต้องได้รับจากสถานพยาบาลที่มีแพทย์กำกับเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ยาสูตรผสม เช่น ทรามาดอลร่วมกับพาราเซตามอล ยังสามารถให้บริการผ่านเภสัชกรในร้านยาได้ต่อไป โดยต้องอยู่ภายใต้การประเมินของผู้ประกอบวิชาชีพ
การตัดสินใจครั้งนี้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการยา ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขา ทั้งด้านการแพทย์ เภสัชกรรม และนโยบายสาธารณสุข โดยพิจารณาจากทั้งหลักฐานทางการแพทย์ สถิติการใช้ผิดวัตถุประสงค์ และรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มเยาวชนทั่วประเทศ
กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า การควบคุมนี้เป็นไปเพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และจะมีการติดตามประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายอย่างใกล้ชิดหลังจากมีผลบังคับใช้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง