มทร.ธัญบุรี จับมือสถานประกอบการปั้นบัณฑิตพร้อมทำงาน
เมื่อวันที่ 7 ก.ค.รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยภายหลังได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมทร.ธัญบุรี สมัยที่ 2 ว่า การดำเนินการพัฒนามทร.ธัญบุรี ตนได้วางเป้าหมายอย่างชัดเจนที่จะให้มหาวิทยาลัยมุ่งไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรม หรือ Innovative University และการที่จะเดินไปยังจุดนี้ได้นั้น จะมุ่งไปที่การสร้างนวัตกร ซึ่งการเรียนการสอนจะต้องปรับปรุงหลักสูตรให้นักศึกษามีความรู้ ความสามารถและมีทักษะที่จำเป็น รวมถึงจะต้องสามารถเป็นผู้ประกอบการเองได้ในอนาคต เพราะฉะนั้นหลักการสำคัญของมทร.ธัญบุรี คือการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ ซึ่งทุกหลักสูตรต้องตอบสนองนโยบายรัฐบาล ผลิตกำลังคนสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนที่ร่วมมือกับสถานประกอบการ โดยได้ดำเนินการร่วมกันมากว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งจากการติดตามประเมินผลพบว่า ผู้ประกอบการเห็นว่าบัณฑิตที่ผลิตร่วมกันนั้น มีทักษะใหม่ ๆ และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังเป็นการเพิ่มทักษะให้กับอาจารย์ด้วย ซึ่งสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับนักศึกษาต่อไป
ปัจจุบันมทร.ธัญบุรี มีทั้งหมด 86 หลักสูตร โดยทุกหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและมีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม สถานประกอบการหลายแห่ง ประกอบด้วย ด้านการเกษตรและอาหาร เช่น บ.เฮอริเทจ สแน็ค แอนด์ ฟู๊ด จก. บ. ที.ซี. ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จก. บ.ในเครือไมเนอร์กรุ๊ป 2. ภาคอุตสาหกรรมและ semiconductor เช่น บ.ฟาบริเนท จก. 3. ไอที และ Digital Literacy หรือทักษะความเข้าใจและความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เช่น บ.หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จก. บ.เอสวีโอเอ จก.(มหาชน) 4. อุตสาหกรรมบริการ เช่น บ.ไทย ไลอ้อน แอร์ จก. บ.การบินไทย จก. บ.บางกอกแอร์เวย์ จก. บ.วิทยุการบินแห่งประเทศไทย โดยทุกบริษัทฯ จะมีการจัดบุคลากรเข้ามาให้ความรู้ทักษะที่ควรมีในแต่ละสายอาชีพ เพื่อให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา พร้อมก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานและทำงานได้ทันที
อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวต่อว่า นอกจากการปรับปรุงการเรียนการสอนให้ตอบรับกับความต้องการของตลาดแล้ว ในสายงานวิศวกรรม ตนได้พยายามให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางในการอบรมวิชาชีพ และทักษะที่มีความสำคัญให้กับช่างต่าง ๆ ที่ต้องการ Upskill เพิ่มและพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมี หรือ Reskill เรียนรู้ทักษะใหม่เพื่อค้นหาเส้นทางอาชีพที่แตกต่าง ซึ่งขณะนี้มทร.ธัญบุรี เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในไทยที่ได้รับการรับรองสถาบันการฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดินและรับรองหลักสูตรฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดิน จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ตามกฎหมายใหม่ โดยหลักสูตรฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดินนี้ได้ปรับปรุงและจัดทำให้เป็นหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน ที่กำหนดสมรรถนะทางวิชาชีพของนักศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพการซ่อมบำรุงอากาศยานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) และองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) เมื่อผู้เรียนสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนี้จะได้รับวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาตรี (วศ.บ. วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน) และได้รับใบประกาศรับรองการจบหลักสูตรฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดิน 3 ประเภทพร้อมกัน คือ ใบประกาศ Categories A1, B1.1 และ B2 และสามารถขอใบอนุญาตนายช่างซ่อมบำรุงภาคพื้นดิน หรือ Aircraft Maintenance Engineering License (AMEL) จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ได้ พร้อมกันนี้มหาวิทยาลัยยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นศูนย์สอบของ EASA (EASA Examination Center) ดังนั้นจึงสามารถจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานตามมาตรฐาน EASA แบบ Non Degree เมื่ออบรมเสร็จและสอบผ่านจะได้รับใบรับรอง EASA Certificated part 66 ในแต่ละประเภทได้ เช่น EASA Certificated part 66 Categories A1, B1.1 หรือ B2 และจัดทำหลักสูตรระยะสั้นตามมาตรฐาน CAAT เมื่อผ่านการอบรมจะได้ใบประกาศและสามารถนำมาใช้กับโครงการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้
รศ.ดร.สมหมาย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยกำลังจะจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดิน หลักสูตร Bridging Course B1.1 และ B1.3เพื่อทำการ Up Skill นายช่างภาคพื้นดินที่ถือใบอนุญาต AMELแบบเดิมให้สามารถได้รับใบอนุญาต AMEL ตามข้อกำหนดของกฎหมายใหม่ได้ จัดทำศูนย์ทดสอบสมรรถนะทางวิชาชีพด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน (Aircraft Skill Test Center) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบสมรรถนะของนายช่างซ่อมบำรุงอากาศยานในการขอรับใบอนุญาต AMEL จาก CAAT ในอนาคตทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายจะเปิดศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul: MRO) ด้านการซ่อมระบบ ล้อ เบรก ชิ้นส่วนอากาศยานรวมถึงระบบอิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย.