สพฐ.ก้าวสู่ปีที่ 23 ยืนหยัด “ องค์กรคุณภาพ สร้างคนดี มีความสุข ”
ในโอกาสวันสำคัญ ครบรอบ 22 ปี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า นับตั้งแต่ตนดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กพฐ.ในปี 2566 ได้ร่วมกำหนดเป้าหมายขับเคลื่อนการศึกษาขั้นพื้นฐานของ สพฐ. ภายใต้วิสัยทัศน์ “องค์กรคุณภาพ สร้างคนดี มีความสุข” ผ่าน 4 กลยุทธ์ คือ กลยุทธ์ที่1.เพิ่มโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับประชากรวัยเรียนทุกคน กลยุทธ์ที่ 2 ยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง กลยุทธ์ที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการศึกษา ซึ่ง สพฐ.เป็นองค์กรใหญ่ มีโรงเรียนในสังกัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 29,005 แห่ง มีข้าราชครูและบุคลากรทางการศึกษา 528,746 คน ดูแลนักเรียนกว่า 6.3 ล้านคน เราทำงานเน้นคุณภาพ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อทำงานได้รวดเร็ว ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์ และมีประสิทธิภาพสูงสุด และ กลยุทธ์ที่ 4 ส่งเสริมการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีความปลอดภัยจากภัยทุกรูปแบบ
หัวใจสำคัญของการศึกษา คือ “ผู้เรียน” และ ภารกิจสำคัญของการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ “การสร้างเด็กให้เป็นคนดี มีวินัย ซื่อสัตย์ สุจริต ปฏิบัติตนอยู่ในหลักคุณธรรม” สพฐ.มุ่งจัดการศึกษาวางพื้นฐาน วางรากฐานทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนทุกคน ให้มีพื้นฐานที่มั่นคง มีคุณภาพ เพื่อสามารถพัฒนาทักษะ ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้อย่างมีคุณภาพ
ผลงานของ สพฐ.มีหลากหลาย และที่สำคัญคือผู้เรียนข้อมูลล่าสุด วันที่ 10 มิถุนายน 2568 เรามีนักเรียนในสังกัด 6,312,911 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กด้อยโอกาส เด็กพิการ เด็กที่อยู่ในพื้นที่ยุ่งยากลำบากรวมอยู่ด้วย เห็นได้ว่า สพฐ.สามารถดูแลเด็กครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย นำเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา เด็กตกหล่น และเด็กออกกลางคัน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ ตามนโยบาย “Thailand Zero Dropout” ของรัฐบาล และในปีการศึกษา 2568 นี้ เพื่อเป็นการสร้างโอกาส สร้างความเท่าเทียมยิ่งขึ้น สพฐ.มีนโยบาย“พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” หรือ OBEC Zero Dropout ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น มีทางเลือกที่ตอบโจทย์ชีวิตนักเรียนที่มีความจำเป็นเฉพาะรายบุคคล โดยนำร่องพาการศึกษาไปให้น้องถึงบ้านแล้ว 2,698 คน และ ได้ตอบสนองเสียงเรียกร้องจากนักเรียน ใช้งบประมาณกว่า 200 ล้านบาท ปรับปรุงห้องน้ำในทุกโรงเรียน ผ่านโครงการ “สุขาดี มีความสุข” ให้นักเรียน-ครู ได้ใช้ห้องน้ำที่สะอาด แห้ง หอมถูกสุขลักษณะร่วมกัน ไม่แยกห้องน้ำนักเรียน ห้องน้ำครู เพื่อฝึกให้ทุกคนอยู่ในสังคมร่วมกัน ซึ่งขอย้ำทุกโรงเรียน ว่า ต้องดูแลห้องน้ำสะอาดต่อเนื่อง
“ สพฐ.ได้กระจายอำนาจเรื่องการบริหารหลายๆอย่างไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา และ สถานศึกษา ในเรื่องที่สามารถมอบได้ก็มอบไปแล้วเกือบหมด มีการยกระดับคุณภาพการศึกษา มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ มีการจัดอบรมพัฒนาทักษะความรู้ดิจิทัลให้แก่ครูและผู้บริหารสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อมีความสามารถในการนำ AI มาช่วยในการบริหาร ช่วยในการจัดการเรียนการสอน พัฒนาคุณภาพผู้เรียนสู่สากล และตอบสนองเรื่องการเตรียมสอบประเมินผลนักเรียนระหว่างประเทศ หรือ PISA ผมขอเน้นย้ำว่าเราไม่ได้ทำเพื่อติวสอบ PISA แต่กำลังยกระดับให้เด็กมีความฉลาดในการเรียนรู้ มีการปลูกฝังให้ทุกโรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ครูเปรียบเสมือน ‘โค้ช’ และ ‘เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้’ เราหวังว่าทักษะที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้พื้นฐาน จะทำให้นักเรียนคิด วิเคระห์เป็น มีคุณภาพชีวิตดี ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง
ก้าวเข้าสู่ปีที่ 23 การขับเคลื่อนงาน สพฐ.ยังยึดวิสัยทัศน์ “องค์กรคุณภาพ สร้างคนดี มีความสุข” วันที่ 8 กรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นวันแรกของการเข้าสู่ปีที่ 23 สพฐ.จะประกาศการเป็นสำนักงานดิจิทัล ทุกระดับเสนองานผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์ 100% ไม่ใช้กระดาษในการเสนองาน ขยายระบบดาต้าข้อมูลต่างๆให้ทันสมัยเป็นปัจจุบัน ตอบโจทย์การตัดสินใจวางแผนการขับเคลื่อนนโยบาย วางแผนรูปแบบการพัฒนาผู้เรียนให้ตรงกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย โดย สพฐ.ส่วนกลาง นำร่องเป็นต้นแบบก่อน ตามนโยบาย“รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์” ทำให้การทำงานประหยัดกระดาษ – น้ำหมึก – การใช้แฟ้มงาน - การเดินทาง และการเก็บข้อมูลบนคลาวด์ ก็สามารถเรียกข้อมูลได้สะดวกทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา
“ ปีนี้ สพฐ.จะใช้เทคโนโลยี ใช้แพลตฟอร์มใหม่ๆเข้ามาช่วยมากขึ้น ปัจจุบันแนวโน้มประชากรลดลงเรื่อยๆ เด็กในพื้นที่ลดลง โรงเรียนที่มีอยู่กลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้น ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทำแผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพ ขับเคลื่อนการใช้ DLIT/DLTV เพิ่มช่องการเรียนรู้บนทีวีดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการเรียนทั้งในและนอกห้องเรียน ใช้ DLTV ทำหน้าที่แทนครูผู้สอนในโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนครู ทำแพลตฟอร์มการเรียนรู้แห่งชาติ (NDLP) ซึ่งเป็นพื้นฐานให้เกิดการศึกษาแบบยืดหยุ่น เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา และที่สำคัญจะเน้นการพัฒนาครู พัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาควบคู่กัน เพราะการที่ผู้เรียนจะมีคุณภาพ เรียนดี มีความสุขได้ ครูต้องเข้มแข็งก่อน สำหรับข้อเสนอจากเพื่อนครู ให้ลดเรื่องการจัดซื้อ จัดจ้าง เรื่องทำบัญชีพัสดุ นั้น สพฐ.ตระหนักเสมอ จะเร่งแก้ปัญหาลดภาระที่ไม่ใช่หน้าที่ของครูให้เหลือน้อยที่สุด โดยหาคนอื่น หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำหน้าที่แทน เพื่อให้ครูได้ทำหน้าที่ครู คืนเวลาสอนให้ครู คืนครูให้กับนักเรียน ”
สพฐ.จะขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้มากขึ้น ซึ่งวันนี้เป็นที่น่ายินดี สพฐ. มีภาคธุรกิจเอกชนในประเทศ เกือบทุกบริษัท เข้ามาร่วมจัดการศึกษา ช่วยเหลือ ดูแลโรงเรียน ผ่านมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ภายใต้โครงการโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED) และโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ทำให้โรงเรียน โดยเฉพาะที่อยู่ห่างไกล กันดาร ได้รับการพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนต่อยอด ทั้งนี้ เพราะภาคีเครือข่ายทุกคนเชื่อว่า ถ้าการศึกษาพื้นฐานดี มีคุณภาพ อนาคตของเด็ก เยาวชน ก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแน่นอน
ความสำเร็จตลอด 22 ปี ของ สพฐ. เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจจากครู บุคลากรทางการศึกษาทุกคน ที่ร่วมกันพัฒนา ขับเคลื่อนทุกนโยบาย และเราจะมุ่งสร้าง สพฐ.ให้เป็น “องค์กรที่มีคุณภาพ สร้างคนดี มีความสุข” อย่างแท้จริง.