“กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เขาปล่อยตัวลื้อแล้ว” คดีม.112 ของอากงวัย 61 ปีผู้ถูกกล่าวหาว่าส่ง SMS หมิ่นสถาบันฯ
“รักเอย..จริงหรือที่ว่าหวาน…หรือทรมานใจคน…ความรักร้อยเล่ห์กล…รักเอยลวงล่อใจคนหลอกจนตายใจ”
“รักเอย” เป็นเพลงลูกกรุงที่แต่งคำร้องโดยเกษม ชื่นประดิษฐ์ และมักขับร้องจนเป็นที่รู้จักโดยธานินทร์ กรัยวิเชียร รักเอยเป็นบทเพลงที่อำพล ตั้งนพกุล ผู้เป็นสามี เคยขอให้รสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยาของเขาร้องให้เขาฟังในวันแต่งงาน และรักเอยยังเป็นชื่อหนังสืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพของเขาด้วย ในหนังสือเล่มนี้บรรจุปากคำจากความทรงจำของ “หญิงผู้เป็นภรรยา” ที่แม้สูญสิ้นจนถึงที่สุดก็ยังยืนยงในศักดิ์ศรีของ “ผู้หญิงที่ยังอยู่”
บทความนี้จะชวนทำความรู้จักปูมหลังชีวิตของอำพลและรสมาลินไปจนถึงการถูกดำเนินคดีในฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการถูก “ปฏิเสธ” สิทธิการประกันตัวหลายครั้งจนท้ายที่สุดนำไปสู่การเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ โดยจะผ่านมุมมองการเล่าเรื่องจากรสมาลิน ตั้งนพกุล ที่เขียนไว้ในหนังสือ “รักเอย”
อำพล ตั้งนพกุล หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อากง” เป็นคำเรียกตามหลานๆ ของเขา อากงถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกศาลพิพากษาให้จำคุก 20 ปี เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ส่งข้อความสั้น (SMS) จำนวนสี่ข้อความไปยังหมายเลขโทรศัพท์ของบุคคลสำคัญทางการเมือง อากงอายุ 61 ปีในวันที่ถูกคุมขัง มีโรคประจำตัวและเสียชีวิตในเรือนจำหลังมีคำพิพากษา การชันสูตรพลิกศพแล้วพบว่าอากงเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับที่ลุกลามไปทั่วร่างกายแล้ว
อำพล เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2493 ที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ สมรสกับรสมาลิน ตั้งนพกุลหรือ "ป้าอุ๊" ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2511 หรือวันฉัตรมงคลซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่เก้า หลังแต่งงานแล้วพวกเขามีลูกด้วยกันเจ็ดคน จนเมื่อมีหลาน หลานๆมักจะเรียกเขาว่า “อากง” ในหนังสือรักเอย รสมาลินจะมักเรียกอำพลว่า “อาปอ” ซึ่งเป็นชื่อเล่นในภาษาจีนของอากง
“มันลำบาก แต่เราก็อยู่กันได้…แค่มีข้าวให้หลานกินทุกมื้อเราก็ไม่ทุกข์แล้ว”
อำพลและรสมารินเกิดในครอบครัวที่ลำบาก ต้องปากกัดตีนถีบตั้งแต่เด็กกันทั้งคู่ จนเมื่อใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน ทั้งคู่ย้ายจากชลบุรีย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ โดยอำพลทำงานเป็นคนขับรถส่งของในร้านวัสดุก่อสร้าง ส่วนรสมาลินหารายได้ด้วยการทำขนมขายหน้าบ้านและรับจ้างเย็บรองเท้า “เวลาฉันทำขนมขาย อากงจะเป็นทั้งคนคอยช่วย คอยชิม เป็นผู้ทดลองให้” รสมาลินเล่า
เธอต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ดูแลเลี้ยงลูก แต่ฐานะทางเศรษฐกิจก็ทำให้พวกเขาเลี้ยงดูลูกไม่ไหวต้องให้ญาติรับลูกไปเลี้ยงดูบางส่วน รสมาลินเคยพูดกับลูกที่ต้องโตมากับญาติว่า “อยู่กับอาม่ามีกับข้าวกินทุกมื้อ แต่อยู่กับแม่บางทีก็มีแต่ข้าวนะ”
“มันลำบาก แต่เราก็อยู่กันได้…แค่มีข้าวให้หลานกินทุกมื้อเราก็ไม่ทุกข์แล้ว” รสมาลินเล่าว่าอำพลป็นคนประหยัดมาก เขามักจะโดยสารฟรี เมื่อขึ้นรถเมล์ก็จะโชว์บัตรประชาชนว่าเขาอายุเยอะแล้ว แล้วเก็บเงินที่เหลือไปซื้อนมไทยเดนมาร์กให้หลานได้กินอยู่อย่างดี บางครั้งก็พยายามซื้อ “สก็อต” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยาน้ำบำรุงสุขภาพ
รสมาลินเล่าว่า อำพลเป็นคนรักแม่มาก ตลอดสิบปีก่อนปี 2551 เขาหยุดงานเพื่อไปดูแลแม่อยู่เป็นประจำ จนในปี 2551 อากงต้องผ่าตัดมะเร็งใต้ลิ้น ผ่าตัดเสร็จก็ไปบวช เมื่อสึกออกมาก็ต้องไปดูแลแม่ แล้วก็กลับมาดูแลหลาน อำพลจะต้องตื่นไปส่งหลานที่โรงเรียนเป็นประจำ พวกเขาตกลงกันว่าถ้ารถสองแถวมาจะต้องนั่งสองแถว แต่หลานๆมักจะพูดว่า “เพี้ยง! ขอให้รถสองแถวไปเลย” เพื่อที่จะได้นั่งรถตุ๊กๆ แทน ซึ่งจะต้องเสียเงินค่าตุ๊กๆที่แพงขึ้นอีก
วันที่ศาลอ่านคำพิพากษา อำพลอายุ 61 ปี ขณะนั้นเขาและรสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยาของเขาอาศัยอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ ย่านสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ ในขณะนั้นเขาอยู่ห้องเช่าที่ต้องจ่ายค่าเช่าเดือนละ 1,200 บาท ต้องเลี้ยงหลาน 3-4 คน โดยที่ลูกๆของอากงจะคอยส่งเงินช่วยเหลือเดือนละ 2,000-3,000 บาท
ไม่รู้ว่ามาเกิดเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องมีเหตุในเรื่องแบบนี้
อำพลถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ส่ง SMS จำนวนสี่ข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือของสมเกียรติ ครองวัฒนสุข ขณะนั้นเป็นเลขานุการส่วนตัวของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งข้อความทั้งสี่นั้นสมเกียรตินำไปแจ้งต่อตำรวจว่าเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จนในวันที่ 3 สิงหาคม 2554 ตำรวจพร้อมด้วยสื่อมวลชนยกโขยงมาจับกุมอำพลที่บ้านพัก และยึดโทรศัพท์มือถือที่อยู่ในบ้านหลังนั้นไปตรวจสอบ
รสมาลินเล่าว่า ตัวเองไม่สนใจเรื่องการเมืองเลย เพราะเวลาส่วนใหญ่จะต้องไปทำมาหากินและดูแลหลาน ภาระทั้งสองก็ไม่มีเวลาที่จะไปคิดเรื่องอื่นแล้ว ส่วนอำพลเคยไปร่วมชุมนุมกับทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลือง ถ้าจะมีความรู้สึกร่วมอยู่บ้างก็มีตรงที่ว่าเขาชอบนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคของทักษิณ ชินวัตร เพราะว่าเมื่อครั้งที่เขาต้องผ่าตัดมะเร็งใต้ลิ้นเขาใช้สิทธินั้นได้ แทนที่จะเสียค่าใช้จ่ายหลักแสนบาท ซึ่งหากไม่มีนโยบายนั้นเขาอาจจะเสียชีวิตไปแล้วก็ได้
ก่อนจะถูกจับกุมหนึ่งวัน มีชายแปลกหน้าทำทีว่าจะมาขอเช่าห้องในตึกแถวเดียวกัน อ้างว่าจะเช่าให้คนเก็บขยะมาอยู่ รสมาลินจึงพาไปดูห้องเช่าและพาไปพบกับเจ้าของบ้านเช่า เธอยังพาชายคนนั้นเข้ามานั่งพักหลบแดดในบ้านเช่าของเธอ ก่อนที่ชายคนนั้นจะถ่ายรูปห้องเช่า ถ่ายรูปหลานๆแล้วก็ยังถ่ายรูปอำพลไปด้วย ซึ่งต่อมาเธอจึงรู้ว่าชายคนนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ในเช้ามืดของวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเคาะประตูบ้านตั้งแต่เช้ามืด “พวกเขามากันเยอะมาก ตั้งแต่เกิดมาฉันไม่เคยเห็นใครมาที่บ้านเยอะอย่างนั้น” รสมาลินระบุ พวกเขาถามเธอว่า “นายอำพลอยู่ไหน” เธอเดินเข้าไปปลุกสามีที่ยังอยู่บนที่นอน ทั้งตำรวจและนักข่าวก็เข้าค้นในห้องเช่า ทุกซอกทุกมุม นักข่าวก็ตามไปถ่ายรูป เดินเหยียบไปบนที่นอน ถ่ายรูปไปทั่วห้อง เธอเล่าว่าสภาพในตอนนั้นคือข้าวของในห้องถูกค้นกระจุยกระจายไปหมด
ทีแรกรสมาลินเข้าใจว่า ตำรวจจะมาจับกลุ่มคนเสื้อแดง เธอจึงถามไปตามความจริงว่า ถ้าไปร่วมการชุมนุมของคนเสื้อแดงแล้วมันผิดตรงไหน อำพลไปร่วมการชุมนุมทั้งเสื้อเหลืองทั้งเสื้อแดง ไปร่วมงานถวายพระพร กิจกรรมอะไรที่มีคนไปร่วมเยอะๆ เขาก็ไปร่วมหมด
“อั๊วะไม่ได้ทำ อั๊วไม่รู้เรื่อง” ขณะถูกจับกุม อำพลก็ยังยืนยันว่าเขาไม่ได้ทำและไม่ได้รับรู้อะไรเกี่ยวกับการส่งข้อความต่างๆ ตำรวจคนหนึ่งกล่าวกับรสมารินว่า “รู้มั้ย แฟนป้าไปทำอะไรผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ถ้าทำจริงครอบครัวป้าเดือดร้อนแน่ ลูกหลานป้าลำบากแน่” รสมาลินเล่าว่า หลังการจับกุม เธอช็อคอยู่ตรงนั้นเลย หมดสภาพ พยายามตั้งสติโทรบอกลูกว่าเกิดอะไรขึ้น ลูกๆของเธอต้องทิ้งงานตามไปที่สถานีตำรวจ ส่วนเธอไม่ได้ตามไป เพราะไม่สามารถทำอะไรหรือไปไหนได้เลยในขณะนั้น
“ถ้าอั๊วะตายก่อน อั๊วไปรอลื้อ ถ้าลื้อตายก่อน ลื้อก็รออั๊วะแล้วกัน” อำพลกล่าวกับรสมาลินขณะเธอเข้าเยี่ยม
รสมาลินระบุว่าผู้ให้ความช่วยเหลืออำพลในตอนนั้นคือเพื่อนนักโทษในเรือนจำ ที่แนะนำให้เธอรู้จักกับนักข่าวประชาไท ทนายอานนท์ นำภา ที่รสมาลินเรียกเขาว่าเป็น “ขุนศึก” ในการดำเนินคดี ส่วนทนายเมย์ พูนสุข พูนสุขเจริญ จะเรียกเธอว่าเป็น “นางฟ้า” คอยช่วยเหลือปลอบประโยนจิตใจในวันที่ย่ำแย่
หลังถูกคุมขังอยู่ 63 วัน อำพลก็ได้รับการประกันตัว รสมาลินบอกกับสามีว่า “เราย้ายบ้านกันดีกว่า อั๊วะไม่ไหวแล้ว” แต่ในท้ายที่สุดความคิดในการย้ายบ้านก็ไม่เกิดขึ้นเมื่ออัยการมีคำสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2554 ขณะที่ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวโดยใช้โฉนดที่ดินเป็นหลักทรัพย์ และระบุว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์ในการหลบหนีใดๆ เป็นเพียงชายสูงอายุธรรมดาที่ต้องอาศัยอยู่ในบ้านเช่ากับภรรยาและหลาน ทั้งยังไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆอีกแล้ว มีเพียงเงินที่ลูกส่งให้เดือนละประมาณ 3,000 บาท และยังใช้สิทธิรักษาโรคมะเร็งตามหลักประกันสุขภาพ มีนัดต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอยู่เสมอ ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวด้วยเหตุว่า คดีนี้มีความร้ายแรง และกระทบต่อความรู้สึกของปวงชนชาวไทย หากปล่อยตัวออกไปเกรงว่าจะหลบหนี
“ขอประกันตัวหลายครั้งก็ถูกปฏิเสธ ฉันก็ได้แต่ทุกข์ใจ คิดว่าทำไมผู้ชายแก่ๆ คนหนึ่งที่เป็นคนธรรมดามาก ต้องมาเจออะไรที่หนักหนาสากรรจ์เช่นนี้” รสมาลินระบุ
ด้วยชีวิตที่ลำบากมาตั้งแต่ต้น ครอบครัวของจึงยังอยู่กันได้ แต่เมื่ออากงถูกปฏิเสธการให้ประกันตัวและต้องเข้าเรือนจำแม้ในวันที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา รสมาลินต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อที่จะได้มีเวลาไปเยี่ยมสามี เธอต้องตื่นตั้งแต่เช้าไปส่งหลานที่โรงเรียน แล้วจึงรีบไปเรือนจำเพื่อเยี่ยมสามี จากนั้นต้องรีบไปตลาดเพื่อซื้อกับข้าว แล้วก็ต้องไปรับหลานกลับจากโรงเรียน
“ฉันเหมือนคนเสียสติไปเลย” รสมาลินเล่าถึงชีวิตตัวเองในช่วงขณะนั้น
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ผู้พิพากษาชนาธิป เหมือนพะวงศ์และภัทรวรรณ ทรงกำพล พิพากษาจำคุกอากงจำนวนสี่กระทง กระทงละห้าปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้น 20 ปี ขณะพิพากษาอากงมีอายุ 61 ปี เท่ากับว่าหากไม่ได้รับการลดโทษจะต้องรับโทษจนกว่าจะอายุ 81 ปี หรือจนกว่าในปี 2574 เขาถึงจะได้พ้นโทษ
“ความรู้สึกตอนนั้นมันคับแค้น ทั้งรู้สึกเหมือนเคว้งคว้างไปหมด ฉันเลยเขียนถึงความทรงจำนี้ จะไม่มีวันลืมความรู้สึกนั้น” รสมาลินเล่าเมื่อทราบคำพิพากษา
ในช่วงที่อากงติดคุกหลังมีคำพิพากษา มารดาของอากงก็เสียชีวิต รวมถึงญาติคนอื่นๆ ก็เสียด้วย อากงซึ่งเป็นคนที่รักแม่ของเขามาก พอรู้ว่าแม่เสียก็ได้แต่ร้องไห้ รสมาลินต้องเขียนจดหมายไปให้กำลังใจ ด้วยที่อากงเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ทำให้เขารู้ขนบธรรมเนียมประเพณีจีนเป็นอย่างดี แต่เขาก็ไม่มีโอกาสได้ทำ
ในระหว่างที่สามีถูกคุมขัง รสมาลินก็เริ่มเขียนอะไรต่างๆ เพื่อบันทึกความทรงจำของเธอไว้ บางส่วนก็ถูกนำไปเผยแพร่ บางส่วนก็เป็นจดหมายที่เธอเขียนถึงผู้คนต่างๆให้ช่วยเหลือสามีของเธอ ซึ่งอากงจะชอบมาก มีครั้งหนึ่งเธอเขียนคำเพื่อตอบโต้ สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกของศาลที่เขียนบทความว่า “อากงปลงไม่ตก” เธอเล่าว่า “โอ คำนี้ทำฉันสติแตกไปเลย ใครปลงได้ยี่สิบปี? ใครจะปลงได้ คนไม่ได้ทำจะปลงได้ยังไง” เธอยังเขียนข้อความอีกว่า
“เรือนร่างอากงคงจะรับใช้ไม่ได้ถึงขนาดนั้นหรอก แล้วขณะที่เขายืนเกาะลูกกรงอยู่ ให้แสงสว่างจ้าแค่ไหน เชื่อว่าตาของเขาคงจะมืดปอด มองไม่เห็นท่ามกลางแสงจ้า”
และเธอยังเขียนอีกว่า
“แจ็คในที่นี้ไม่ฆ่ายักษ์ ขอเพียงยักษ์อย่าฆ่าแจ็ค”
เพื่อนนักโทษของอากงเขียนเล่าเรื่องราวภายในเรือนจำว่า นักโทษคดีการเมืองอย่างคนเสื้อแดงมักจะถูกกลั่นแกล้งและทำร้ายร่างกาย ผู้ที่เขียนเล่าระบุว่า เขาและคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งถูกตบต่อยที่ใบหน้าและร่างกาย และถูกตราหน้าว่าเป็นคนเผาบ้านเผาเมือง แม้อากงจะไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกาย เพราะอายุมากแล้ว แต่เขาก็ถูกกลั่นแกล้งให้ทำงานอย่างหนักแทน
พวกเขาเล่าว่า ในช่วงที่อากงต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำก่อนจะได้ประกันตัว เขาถูกสั่งให้อยู่ในกองงานปั่นถ้วย และต้องปั่นให้เต็มยอด คือห้ากิโลกรัม หรือถ้วย 2,500 ใบ ด้วยความเห็นใจที่อากงเป็นคนชราแล้ว ผู้ต้องขังคนอื่นๆ จึงทนไม่ไหวต้องเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของอากง หลังถูกอัยการมีคำสั่งฟ้องและอากงต้องเข้าเรือนจำอีกครั้ง ก็ถูกกลั่นแกล้งแบบเดิม แต่ยังโชคดีที่ผู้ต้องขังคนอื่นๆ ก็ยังมาช่วยงานอากงเหมือนครั้งก่อน
คนที่อำพลเป็นห่วงที่สุดคือเหล่าหลานๆ รสมาลินเล่าว่า เด็กๆ มีแต่ทุกความทุกข์เมื่อคนที่พวกเขารักและเลี้ยงดูพวกเขามาต้องถูกจับด้วยเหตุผลอะไร เด็กๆ คงไม่รู้ทั้งสิ้น เมื่อถึงวันหนึ่งที่พวกเขาพร้อม เธอจะเล่าให้พวกเขาฟัง แต่หลานๆก็คิดถึงอากง สวดมนต์ “ขอให้อากงได้ออกมา” และยังไปเยี่ยมอากงและยังเขียนจดหมายถึงอากงอยู่ หลานคนหนึ่งเขียนจดหมายว่า
“อากง…ฟ้าขึ้นป.5 แล้วนะ แต่ว่าตอนเก่าอยู่ทับสี่ ตอนนี้ฟ้าได้ไปอยู่ทับหนึ่งแล้ว มันเป็นห้องคิงเป็นห้องที่เก่งที่สุด เป็นห้องเด็กฉลาด เพราะเขามีนโยบายมา อากง…ฟ้าคิดถึงอากงมากๆ เลย ฟ้าสอบได้ที่ 1 นะ
อยากให้อากงอยู่ตอนนี้จังเลย คิดถึงมากๆๆๆๆๆๆ ไม่มีสิ่งใดเปรียบเทียบได้ อือ ฟ้ารักอากงมากๆ อากง…เมื่อไหร่ยายจะพาไปเยี่ยมก็ไม่รู้ ให้แต่น้องป๋อมกับเจ๊ปิ่นไป ไม่เข้าใจยาย
ไม่ว่ามีอะไรก็อย่าท้อนะอากง อย่าร้องไห้ คิดเสมอนะว่ายังมีลูกหลานที่รักอากง โดยเฉพาะฟ้าที่รักมาก ถ้าอ่านจดหมายฉบับนี้หรือฉบับไหนๆ ต้องหัวเราะ รักมาก”
รสมาลินเล่าอีกว่า “มันคงเป็นความสุขที่สุดถ้าเขาได้ออกมา เพราะฉันกับเขานี่ไม่ต้องไปหาความสุขที่ไหน ขอแค่ได้อยู่ด้วยกัน ยิ่งมาตอนหลังมีหลานเป็นกองเชียร์ เราจะแข่งกันว่าหลานจะเข้าข้างใคร แต่ส่วนใหญ่หลานๆก็จะเชียร์เขาอยู่แล้ว เพราะอากงซื้อช็อกโกแลตให้กิน ย่าไม่ค่อยตามใจ”
ฉันไม่รู้เลยว่าจะเป็นวันสุดท้ายของเรา
ในช่วงเดือนเมษายน 2555 ก่อนอากงเสียชีวิตได้ประมาณหนึ่งเดือน รสมาลินไปเยี่ยมสามีเป็นประจำของเธอ โดยอำพลได้บอกเธอว่า เขาปวดหน่วงๆ ในท้อง เขาคิดว่าอาจเป็นเพราะเขาออกกำลังกายมากเกินไป มาอีกระยะหนึ่ง อาการก็ยังคงไม่ดีขึ้น เขาบอกว่าเขาจะต้องไปหาหมอ
เพื่อนนักโทษของอากงเขียนเล่าเรื่องผ่านจดหมายในภายหลังว่า อากงไปเข้าพบพยาบาลในเรือนจำหลายครั้ง ในครั้งหนึ่งที่พยาบาลแค่ถามอาการและให้กลับเข้าแดน อากงโวยวายว่า “ตรวจอั๊วะด้วยซิ อั๊วเจ็บท้องหลายวันแล้ว กินยาก็ไม่หาย ไม่ตรวจจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นอะไร” จึงได้รับการรักษาและได้รับยามาจำนวนหนึ่ง แต่อาการก็ยังไม่หายดี และเพื่อนนักโทษพบว่า บริเวณท้องของอากงใหญ่ขึ้น ตึงขึ้น และมีลักษณะแข็ง
ก่อนการเข้าเยี่ยมครั้งสุดท้ายเพื่อนนักโทษเล่าว่าในวันนั้นอากงปฏิเสธอาหาร กินได้ก็แต่นม โดยปกติเมื่อมีญาติมาเยี่ยม อากงจะรีบออกไปให้เร็วที่สุด แต่ในวันนั้นอากงต้องให้เพื่อนนักโทษพยุงเดิน เขาร้องไห้และร้องขอให้เพื่อนนักโทษช่วยพยุงเขาไปหาภรรยา เพื่อนนักโทษระบุว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ยินอากงพูดด้วยน้ำตาและน้ำเสียงเช่นนั้น
จนถึงการเข้าเยี่ยมครั้งสุดท้ายในวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 รสมาลินเข้าเยี่ยมก่อนในรอบหนึ่ง ซึ่งเมื่อพูดคุยกันได้ครู่หนึ่งอากงก็บอกเธอว่าเขาจำเป็นต้องไปเข้าห้องน้ำ เดี๋ยวจะมาคุยกันใหม่ในรอบเยี่ยมถัดไปภายในวันนั้น เมื่ออากงออกมาในอีกรอบหนึ่งต้องมีเพื่อนนักโทษเป็นคนจูงออกมา เมื่อพูดคุยกันเสร็จในเวลาเยี่ยม 20 นาที อากงก็ยืนโบกมือให้รสมาลิน เพื่อรอให้เธอออกไปก่อน เธอเองก็อยากที่จะยืนรอให้อากงเข้าไปก่อนแต่เขาก็ไม่ยอมเข้าไป “นั่นน่ะ ฉันไม่รู้เลยว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของเรา”
ถัดมาในวันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2555 รสมาลิน เดินทางไปเยี่ยมสามีอีก แต่มีคนบอกกับเธอว่าอากงไปโรงพยาบาล เธอรีบวิ่งไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อไปถึงก็มีคนบอกเธอว่า รถออกไปแล้ว เมื่อเห็นว่ามีรถกำลังออกไปจึงโบกมือใหญ่เพื่อให้อากงรู้ว่าเรามาเยี่ยมแล้ว แต่แท้จริงแล้วอากงไม่ได้อยู่บนรถคันนั้น
เมื่อเธอมาตีเยี่ยมอีกครั้ง ก็ไม่เห็นว่าอากงออกมา เธอจึงคิดว่าไม่เป็นไรแล้วค่อยมาใหม่ แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงวันหยุดยาวคือหยุดตั้งแต่วันเสาร์ วันอาทิตย์และในวันจันทร์ก็เป็นวันหยุดชดเชยวันฉัตรมงคล ซึ่งก็เป็นวันครบรอบแต่งงานปีที่ 44 ของอำพลและรสมาลิน รสมาลินเล่าว่าเธอมารู้ทีหลังว่า “เขา” เอาอากงไปทิ้งไว้ “ที่นั่น” ในวันหยุดสามวันโดยไม่มีการรักษา ซึ่งปกติแพทย์จะเข้ามาแค่วันอังคารและวันพฤหัสบดีเท่านั้น
“นี่เป็นความผิดของใคร ของเขาหรือที่รีบตายก่อน?” รสมาลินตั้งคำถาม
มีคนบอกเธอว่าตอนที่อยู่โรงพยาบาลอากงร้องไห้ เธอคิดว่าเขาคงจะเครียดที่ต้องอยู่ห่างไกลลูกเมียแล้วก็คงจะมีอาการเหนื่อยอ่อนเวลาที่เขาร้องไห้ โดยปกติเมื่อเขาเจ็บป่วยจะมีภรรยาและลูกหลานคอยห้อมล้อมดูแล แต่เมื่ออยู่ในเรือนจำสภาพจิตใจเขาคงจะหดหู่
ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2555 รสมาลินได้รับแจ้งจากเพื่อนนักโทษว่า อากงยังคงไม่ได้กลับเข้าแดน อาจจะยังอยู่ที่โรงพยาบาล เธอตกใจมากและรีบติดต่อทนายอานนท์ให้ช่วยเหลือ “คิดดูเถิดว่านี่เป็นอะไรที่ร้ายแรงกับฉันหรือเปล่า?” รสมาลินระบุ
“กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เขาปล่อยตัวลื้อแล้ว”
อังคารที่ 8 พฤษภาคม 2555 หลังรสมาลินวางสายจากทนายอานนท์ได้เพียงสิบนาที ก็มีคนโทรมาบอกเธอว่า อำพลเสียชีวิตในเรือนจำ จากการชันสูตรพลิกศพพบว่าเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับที่ลุกลามไปทั่วร่างกายแล้ว วันที่เธอไปดูศพ เธอพูดกับศพของสามีว่า “กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เขาปล่อยตัวลื๊อแล้ว” เธอเล่าว่า “ฉันแค้นจนอยากจะระเบิด” เธอพูดกับทนายว่า
“หมาซักตัวหนึ่งมันยังเลือกที่ตายได้ สมมุติอยู่ตรงกองทรายร้อนๆ มันยังกระเสือกกระสนไปหาที่ร่มได้ แต่อาปออยู่ในกรงขังตรงนั้น มันไม่มีที่จะไป นอกจากจะเลือกที่นอนตายไม่ได้แล้ว ยังทำอะไรไม่ได้แม้แต่เวลาหิว”
เธอเล่าว่า บริเวณข้างเตียงของอากงมีรอยอาเจียนอยู่ ซึ่งในรอยอาเจียนนั้นไม่มีเมล็ดข้าวสักเม็ด หากว่าเขาได้กินข้าวก็จะต้องมีเศษข้าวอยู่ในนั้น น้ำสักหยดในแก้วก็ไม่มี ไม่มีอะไรอยู่ในนั้นเลย
“อำพล ตั้งนพกุล, ติดต่อที่ทำการแดนครับ ปล่อยตัว!!!” เสียงตามสายที่เหล่าเพื่อนนักโทษช่วยกันประกาศเพื่อปลดปล่อยดวงวิญญาณของอากงให้เป็นอิสระหลังจากที่พวกเขาทราบการจากไปอย่างกะทันหันของอากง เพื่อนนักโทษช่วยกันยืดเปิดประตูลูกกรงอย่างช้าๆ และพูดว่า “บ๊ายบายนะ อาเจ็ก ค่อยๆเดินนะ เขาให้เจ็กกลับบ้านแล้ว ป้าอุ๊คอยอยู่ตรงโน้น เจ็กไปหาเขานะ!!”
อย่าให้มี อากงสอง อากงสาม
รสมาลินเล่าว่าความรู้สึกของเธอหลังไม่มีอากงแล้ว มันแย่มากเราอยู่ด้วยกันมา 44 ปี เหมือนเราโตมาพร้อมกัน เป็นทั้งที่ปรึกษา และเป็นคู่ทะเลาะกัน พอเขามาจากไปกะทันหันมันเหมือนขาดอะไรไป เหมือนอยู่เป็นคู่แล้วมันหายไปข้างหนึ่ง
เธอไม่เชื่อว่าอากงจะทำผิดตามที่ศาลพิพากษา เธอคิดว่า อากงคงไม่มีปัญญาหรือมีแรงไปทำตามที่ถูกกล่าวหา เพียงแค่ต่อสู้กับความยากจนก็หนักหนาเหลือเกินแล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปทำอย่างนั้น ยังไม่นับว่า อำพลและรสมาลินเป็นคนจงรักภักดี เก็บพระบรมฉายาลักษณ์มาหลายสิบปี เป็นนิสัยของทั้งคู่ที่ไปไหนมาไหนเมื่อเจอพระบรมฉายาลักษณ์ก็จะต้องไหว้ เพราะเหมือนท่านยืนอยู่
เพื่อนนักโทษเขียนเล่าบทสนทนาระหว่างเขาและอากงว่า อากงมักจะเล่าให้ฟังว่า เขาไปร่วมการชุมนุมทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง เพราะ “สนุกดี” และมีของกินฟรีๆ อีกด้วย อากงมีทั้งผ้าโพกหัวเสื้อแดงและเสื้อเหลืองพร้อมลายเซ็นพลตรีจำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีกด้วย แต่ถึงกระนั้นจากการพูดคุยกลับพบว่า อากงไม่มีความรู้ทางการเมืองใดๆเลย
รสมาลินตั้งคำถามว่า อากงก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ทำไมต้องมานอนอยู่ตรงนั้น ทำไมไม่ดูแล ทำไมไม่มีเครื่องช่วยชีวิต คนที่อยู่ในคุกทุกคนเป็นมนุษย์ เธอไม่อยากให้มีอะไรแบบนี้อีก เธอกล่าวว่า สามีอยู่ในเรือนจำ ภรรยาก็เหมือนมีนรกอยู่ในใจ
“ฉันขอออกเสียงแรงๆเลยว่า วันนี้อากงหลุดพ้นแล้ว ไม่รู้จะเรียกร้องอะไรเพื่ออากงได้แล้ว” รสมาลินบอก แต่ถ้าการตายของเขามันจะทำให้เกิดความยุติธรรมที่ดีขึ้นกว่าเก่า ที่ดีกว่าที่เกิดขึ้นกับอากง เธอก็อยากเรียกร้องให้คนที่อยู่ในเรือนจำ อยากให้มองว่าพวกเขาก็ยังเป็นคนอยู่ “สามีฉันเสียชีวิตก็คือเป็นนักโทษ แล้วนักโทษไม่ใช่คนหรือ ถึงจะไม่รู้จักหิว รู้จักปวดอะไร” เธอระบุ
“อากงเสียชีวิตตรงนี้ ก็ไม่อยากให้มีอากงสอง อากงสาม… ถ้ามองความเป็นคน คนเหมือนกันก็น่าจะให้คนด้วยกันได้”
รสมาลินต้องคอยตั้งสติเพื่อเข้มแข็งในช่วงการจัดงานศพของอากง แต่หลานๆของเธอก็ยังคอยให้กำลังใจเธออยู่เสมอ
“ย่าไม่ได้คิดถึงอากงคนเดียวนะ พวกหนูก็คิดถึง”
“ย่า อากงอยู่ในใจพวกเรานะ”
“ย่ากอดหน่อย หนูเป็นอะไรไม่รู้ ใจหนูมันหายแล้วก็เต้นเร็วๆเวลาหนูคิดถึงอากง “
หรือในบางครั้งที่รสมาลินเศร้า หลานๆ ก็จะคอยปลอยเธอว่า “เก่งๆ นะ อากงจะได้ดีใจ” เธอเขียนบอกเล่าในหน้าท้ายของหนังสือรักเอยว่า
“ถ้าจะพูดบอกอะไรกับอาปอได้ ฉันก็อยากบอกเขาว่า วันหนึ่งเมื่ออุ๊เสร็จภารกิจแล้ว เราคงจะได้พบกัน”
8 พ.ค. 55 เธอลาจากพรากไปจากฉัน
ทั้งที่ฉันเฝ้ารอให้เธอกลับมาทุกคืนวัน
แล้วฉันจะอยู่ได้อย่างไรไม่มีเธอ
ถึงเธออยู่ข้างใน ฉันอยู่ข้างนอก
เรายังพร่ำบอกห่วงกันเสมอ
ถึงจะมีเวลาเล็กน้อยก็คอยเจอ
ไม่เคยเผลอจืดจางห่างกัน
หลับเถิดคนดีสุดที่รัก
เธอจงพักอย่าได้โศกศัลย์
เราจากแต่กายที่ห่างกัน
แต่ใจเธอใจฉันนั้นไม่ไกล
รสมาลิน ตั้งนพกุล
ภรรยา “อากง” อำพล ตั้งนพกุล