เสียงจากผู้ลี้ภัยทางการเมืองก่อน “วันสำคัญ” สภาลงมติร่างนิรโทษกรรม 5 ฉบับ
บทสนทนาว่าด้วยการนิรโทษกรรมทางการเมืองกำลังเดินทางมาถึงจุดสำคัญในวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 โดยสภาผู้แทนราษฎรนัดพิจารณาต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการกล่าวสรุปและลงมติในร่างนิรโทษกรรมทั้ง 5 ฉบับที่เสนอโดยเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคก้าวไกล (พรรคประชาชน) และพรรคภูมิใจไทย ใจความสำคัญคือ การนิรโทษกรรมครั้งนี้จะรวมคดีมาตรา 112 หรือไม่
ในบรรดาจำเลยคดีมาตรา 112 มีจำนวน 32 คนที่ถูกคุมขังในเรือนจำ มีอีกจำนวนไม่น้อยที่รอวันพิพากษา และจำนวนหนึ่งถูก “ลงโทษ” จากการต้องถูกดำเนินคดีจำนวนมาก ถูกคุกคามและไม่สามารถใช้ชีวิตได้จนต้องตัดสินใจลี้ภัยทางการเมือง แม้วันนี้พวกเขาจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศที่มีเสรีภาพแล้วแต่ประเด็นนิรโทษกรรมทางการเมือง โดยรวมคดีมาตรา 112 ยังเป็นประเด็นที่พวกเขาติดตามด้วยหวังให้เพื่อนของพวกเขาได้เริ่มต้นชีวิตเช่นเดียวกัน
ชวนอ่านจดหมายจากผู้ลี้ภัยทางการเมืองต่อร่างนิรโทษกรรมทางการเมือง
เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ จำเลยคดีมาตรา 112 รวม 25 คดี
จดหมายเปิดผนึก กรณีการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม
เรียน สมาชิกรัฐสภาที่เคยร่วมต่อต้านระบอบเผด็จการประยุทธ์ จันทร์โอชาทุกท่าน
ก่อนอื่นผมขอสวัสดีและฝากความปรารถนาดีมาถึงทุกท่านจากแดนไกล ผมหวังว่าท่านจะยังคงจำได้ว่าในครั้งหนึ่งระหว่างที่ผมมีบทบาทเป็นผู้นำนักศึกษาเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมเองได้มีโอกาสพบปะไปจนถึงรู้จักมักคุ้นกับหลายท่าน ซึ่งผมจำได้ว่าในครั้งนั้น ท่านและพรรคการเมืองของท่านซึ่งได้ร่วมกันเป็น “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” ก็ได้แสดงจุดยืนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพวกผม ครั้งหนึ่ง เราเคยได้ต่อต้านเผด็จการประยุทธ์ จันทร์โอชาร่วมกัน แม้บัดนี้ สภาพการณ์ทางการเมืองจะเปลี่ยนไป แนวร่วมพรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะสลายตัวลง และพรรคต่าง ๆ ก็ได้แยกย้ายกันไปเป็นฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลตรงข้ามกันเสียแล้ว แต่ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองนี้ ผมยังคงคำนึงถึงมิตรภาพและคุณูปการที่เคยร่วมกันต่อต้านเผด็จการมาแต่หนหลัง จึงติดตามสถานการณ์ทางการเมืองโดยพยายามจะเข้าใจทุกฝ่ายอย่างมากที่สุด และพยายามหลีกเลี่ยงการแสดงความเห็นสาธารณะที่จะกระเทือนน้ำใจของท่านในทางสาธารณะเท่าที่จะเลี่ยงได้ตลอดมา
ผมเขียนจดหมายฉบับนี้มาถึงท่านในวาระที่ขณะนี้รัฐสภากำลังพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งได้ติดตามข่าวมาบ้างว่ามีบางพรรคบางท่านซึ่งเคยร่วมกันเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ณ ขณะนั้นกลับไปสนับสนุนร่างกฎหมายนิรโทษของพรรครวมไทยสร้างชาติอันเป็นพรรคฝ่ายเผด็จการที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นฐานทางการเมืองของเผด็จการประยุทธ์ โดยที่ในเนื้อหาของร่างกฎหมายนั้น จะไม่รวมให้มีการนิรโทษกรรมคดีความทางการเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมาตรา 112 ด้วย
หลายท่านน่าจะทราบดีอยู่แล้วว่ากฎหมายมาตรา 112 นี้ถูกใช้กลั่นแกล้งขบวนการคนรุ่นใหม่ของพวกผมจนเกิดเป็นคดีความทางการเมืองหลายคดี และหลายคนที่กำลังเดือดร้อนจากคดีความเหล่านั้น ก็เป็นผู้คนที่ท่านเคยออกตัวสนับสนุนเมื่อคราวที่เรายังเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการประยุทธ์กันอยู่ นอกจากนี้ การกลั่นแกล้งทางการเมืองด้วยกฎหมายมาตรานี้ยังลุกลามไปถึงประชาชนคนธรรมดาจำนวนมากที่มีความคิดอ่านทางการเมืองเป็นของตัวเอง หลายคนเป็นคนหาเช้ากินค่ำ หลายคนเป็นผู้สูงอายุ หลายคนเป็นพ่อ/แม่ลูกอ่อน และหลายคนเป็นเยาวชนที่จะเป็นกำลังขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ในเรื่องนี้ ท่านน่าจะทราบข้อมูลดีอยู่แล้วว่าเหยื่อของกฎหมายการเมืองฉบับนี้เป็นใครอย่างไรบ้าง
การไม่รวมคดีความทางการเมืองตามมาตรา 112 ไว้ในร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจะทำให้คนเหล่านี้ยังต้องทนถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองต่อไป ซ้ำร้าย ผมเข้าใจว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่พรรครวมไทยสร้างชาตินำเสนอจะเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มคนซึ่งเป็นตัวการล้มล้างประชาธิปไตยในอดีต เช่น กลุ่มผู้ชุมนุมที่เคยออกมาเรียกร้องการรัฐประหาร พ้นผิดลอยนวลจากกรรมที่ตนเคยก่อไว้กับประเทศชาติ ธรรมดาการนิรโทษกรรมนั้นจะสามารถคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองได้ก็ต้องนิรโทษกรรมให้ทุกฝั่งฝ่าย แต่ในเมื่อร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นการนิรโทษกรรมแบบเลือกข้าง มีฝ่ายหนึ่งได้ ฝ่ายหนึ่งไม่ได้ จะบรรเทาความขัดแย้งลงได้อย่างไร มิหนำซ้ำ เกรงว่าการนิรโทษกรรมแบบ “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” เช่นนี้จะเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งระลอกใหม่อีกครั้ง
ในโอกาสนี้ ผมยังขอถามอย่างหน้าซื่อตาใสว่าการที่ประชาชนจะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันที่ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนนั้นมันร้ายแรงจนถึงทำให้บ้านเมืองล่มจมหรือมีคนล้มตายเชียวหรือ และในเมื่อทุกครั้งที่มีการรัฐประหารล้มล้างประชาธิปไตย อันเป็นการละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 113 ซึ่งมีโทษหนักถึงประหารชีวิตและเป็นการกระทำที่สร้างความเสียหายต่อบ้านเมืองอย่างหาที่สุดไม่ได้นั้น ก็ยังมีการนิรโทษกรรมให้ตัวเองได้ทุกครั้ง เหตุใดเล่าการนิรโทษกรรมคดีความทางการเมืองตามกฎหมายมาตรา 112 จึงจะทำไม่ได้ ?
ผมไม่คาดหวังให้พรรครวมไทยสร้างชาติซึ่งเป็นผุ้เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเอียงข้างเปลี่ยนความคิดเพราะพรรคนั้นเป็นพรรคเผด็จการอยู่แล้ว จึงป่วยการจะหวังให้ทำอะไรที่ดีต่อประชาธิปไตย แต่สำหรับท่านที่สังกัดพรรคอื่น ๆ ซึ่งเคยร่วมกันเป็น “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” และกำลังคิดจะสนับสนุนร่างกฎหมายนิรโทษฉบับนี้ ผมจำต้องขอใช้โอกาสนี้เขียนมาสะกิดเตือนให้ท่านย้อนรำลึกถึงความหลังที่พวกท่านเคยออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพวกผม รวมทั้งเกียรติภูมิของบางท่านที่ได้เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมายาวนานหลายยุคหลายสมัย พวกท่านทราบดีอยู่แล้วว่าการนิรโทษกรรมที่เป็นธรรมและจะเป็นทางออกให้กับประเทศได้นั้นเป็นอย่างไร ท่านสามารถจะธำรงเกียรติภูมิและมโนสำนึกของท่านได้โดยการตัดสินใจสนับสนุนแนวทางที่ถูกต้องด้วยการรวมคดีทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมาตรา 112 ไว้ในการนิรโทษกรรมด้วย
ทั้งนี้ ผมไม่ได้เขียนจดหมายมาขอให้ท่านนิรโทษกรรมให้ตัวผมเพราะการร้องขอความเมตตาให้ตัวเองนั้นไม่ใช่วิสัยของผม แต่อย่างน้อยก็ขอให้ท่านนึกถึงผู้สูงอายุ พ่อลูกอ่อน และเยาวชนอีกหลายคนที่กำลังถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองจากกฎหมายมาตรา 112 จนต้องทนทุกข์อยู่ในเรือนจำเพียงเพราะมีความคิดเห็นทางการเมืองเป็นของตัวเอง อันเป็นสิ่งไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน และโดยมาตรฐานสากลโลกแล้วไม่ได้เป็นความผิดอะไรเลย
ท้ายที่สุด ท่านจะลงมติอย่างไรต่อประเด็นนี้ก็เป็นเอกสิทธิ์ของพวกท่าน ผมไม่สามารถบังคับจิตใจใครได้แต่หากบางท่านจะเห็นว่าถึงอย่างไรก็ไม่สามารถนิรโทษกรรมให้กับคดีความทางการเมืองอันเนื่องด้วยกฎหมายมาตรา 112 ได้ ผมก็ขอให้ยกเลิกการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหารทั้งหลายด้วย เพื่อให้สมน้ำสมเนื้อเท่าเทียมกัน เป็นคำขอเดียวที่ผมจะเรียนไว้ทิ้งท้ายจดหมายฉบับนี้เพื่อให้ทุกท่านได้พิจารณาต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน)
แบมบู-ภัคภิญญา จำเลยคดีมาตรา 112
กฎหมายที่มีโทษจำคุกเพียงแค่กดแชร์โพสต์ ไม่มีคำหยาบ ไม่ได้ฆ่าใครตาย ไม่ได้ข่มขืนใคร และต่อให้สิ่งที่แชร์ไม่เกี่ยวข้องเลยก็ตาม
กฎหมายที่ตีความกว้างขวางไปหมด คำตัดสินของแต่ละคดีไม่มีบรรทัดฐาน เดี๋ยวบอกว่าคนที่ตายไปแล้วไม่รวม แต่อีกคดีบอกว่ารวมด้วย มั่วไปหมด ผู้พิพากษานี่จบหลักสูตรเดียวกันไหม กฎหมายตีความเท่าจักรวาลขนาดนี้มันยุติธรรมกี่โมง
กฎหมายที่ให้ใครก็ได้แจ้ง และแจ้งที่ไหนไกลๆ ก็ได้เพียงแค่บอกว่า “เพราะอ่านเจอที่นั่น”
กฎหมายที่พยานที่ขึ้นศาลต่างก็สาบานบนบัลลังก์ว่าไม่รู้จักจำเลย แต่สามารถเดาใจจำเลยได้หมดว่าตั้งใจจะทำอะไร แค่คุณพิมพ์ว่า “555 ว้าย” ก็แปลได้เลยว่าคุณอาฆาตมาดร้าย เก่งกว่านักจิตวิทยาอีก 555 ว้าย
และทั้งหมดนี้เพราะ “เห็นต่างทางการเมือง” ไม่คิดเหมือนกันก็เข้าคุกซะ โทษจำคุกของบางคนมากกว่า 50 ปี ถ้าอันนี้ไม่เรียกว่าผิดปกติ ประเทศไทยน่าจะเกินเยียวยาแล้ว
กฎหมายที่มีช่องโหว่ขนาดนี้ ไม่น่าเชื่อว่าเหล่านักการเมืองผู้มีหน้าที่ปกป้องประชาชน ”ทุกคน” ในประเทศไทย จะมองไม่เห็นถึงปัญหา ที่ตัวกฎหมายถูกนำมาใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและกำจัดผู้เห็นต่าง การแสดงออกเล็กๆ น้อยๆ การวิพากษ์วิจารณ์ การตั้งคำถาม หรือแม้แต่การแชร์ข้อมูลที่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทโดยตรง ก็ติดคุกได้ ถ้านักการเมืองไม่เห็นปัญหาตรงนี้ ก็มีสองอย่าง คืออยากกำจัดผู้เห็นต่างเหมือนกัน กับพวกท่านตั้งใจไม่มองเพราะเกรงกลัวจะสูญเสียอำนาจหรืออะไรสักอย่าง
ประเทศไทยมีการนิรโทษกรรมตัวเองแบบเสร็จสรรพมาแล้วตั้งหลายครั้ง ทำแบบหน้าหนาๆ เลย ยึดอำนาจเสร็จการปกครองเสร็จแล้วก็นิรโทษกรรมตัวเอง คนเหล่านั้นไม่เห็นพวกท่านจะจำกัดสิทธิในการนิรโทษกรรมเลย
แต่กับม.112 ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลับไม่ถูกรวมเข้าไปในร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสร้างเสริมสังคมสันติสุข คำถามคือเพราะอะไร? แล้วมันจะสันติสุขได้ยังไง ท่านมองความขัดแย้งของสังคมจริงจัง หรือเพียงบังหน้าเพราะอยากฟอกขาวเฉพาะคนบางกลุ่ม
ไม่ควรต้องมีใครติดคุก เพียงเพราะวิจารณ์หรือถกเถียงกันเรื่องแนวทางพัฒนาประเทศ เพราะอยากให้คุณภาพชีวิตมันดีขึ้น อะไรที่มันดึงรั้งการพัฒนาไว้ก็ต้องแก้ไข จะแช่แข็งประเทศไว้เพื่ออะไร
การนิรโทษกรรมคดีการเมืองแค่บางส่วน นั่นไม่เรียกว่ายุติธรรม ทุกคดีทางการเมืองต้องได้รับการนิรโทษกรรม
(ปล. มีคนไม่เชื่อด้วยว่าแค่แชร์เฉยๆ จะมีโทษจำคุก 9 ปีจนต้องลี้ภัย แถมยังถามอีกว่าเราไปทำอะไรมากกว่านี้รึเปล่า เราก็คิดนะว่า คำว่ามากกว่านี้ที่ทำแล้วควรจะติดคุกมันควรต้องเป็นแบบไหนบ้าง ก็คิดได้ว่าต้องเอาปืนจ่อหัว ข่มขู่ฆ่า โทรไปขู่วางระเบิดวัง เอากษัตริย์มาอ้างสนิทสนมเรียกเก็บเงิน อะไรงี้ป่ะ ถึงควรติดคุก แล้วคิดว่าฉันทำแบบนั้นจริงๆ เหรอ เชื่อเถอะ ว่ากฎหมายมันมีปัญหา และมันถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองค่า)
ไมค์-ภาณุพงศ์ มะณีวงศ์ จำเลยคดีมาตรา 112 รวม 9 คดี
ในฐานะคนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ติดคุกมา 6 ครั้ง ผมมาพูดเพื่อเตือนความจำว่า ประเทศนี้ยังมีคนจำนวนมากที่ต้องถูกดำเนินคดี ติดคุก หรือใช้ชีวิตในความหวาดกลัว เพียงเพราะคิดต่าง
การพูดถึง “นิรโทษกรรม” ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์ไทย หลังเหตุการณ์พฤษภา 35 หลังรัฐประหาร 49 และ 57 ฝ่ายที่ทำรัฐประหารใช้อำนาจนิรโทษตัวเองเสร็จสรรพ โดยอ้าง “ความมั่นคงของรัฐ”
แต่วันนี้เรากลับได้ยินคำพูดว่า “ม.112 เป็นคดีอาญา นิรโทษกรรมไม่ได้” หรือ “ถ้ารวม ม.112 จะเป็นชนวนความขัดแย้ง” ผมอยากถามกลับว่า แล้วที่ผ่านมามันไม่ใช่ความขัดแย้งอย่างไร?
เราต่างรู้ดีว่ามาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ใช้จัดการฝ่ายตรงข้าม ใช้ทำลายชีวิตของประชาชนธรรมดา ใช้ปิดปากความคิดที่แตกต่าง นี่ไม่ใช่คดีอาญาธรรมดา แต่มันคือคดีทางการเมืองในทุกแง่ของความหมาย
วันนี้เรามีโอกาสจะพูดถึง “นิรโทษกรรม” แบบครอบคลุมทั้งสองฝั่งอย่างแท้จริง ฝ่ายประชาชน ฝ่ายการเมือง และโดยเฉพาะผู้ต้องหาและผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ซึ่งหลายคนไม่เคยแม้แต่ได้รับประกันตัว หรือแม้แต่การถูกตัดสินอย่างไม่เป็นธรรม
ผมเข้าใจว่าบางพรรคอาจกังวลความเสี่ยงทางการเมืองแต่ผมอยากให้พรรคเพื่อไทยถามตัวเองว่า เราจะยอมทิ้งใครไว้ข้างหลังอีกหรือไม่?
หากเพื่อไทยเคยเป็นพรรคของประชาชน หากเพื่อไทยเคยถูกทำรัฐประหาร ถูกยุบพรรค ถูกออกหมายจับ หากเพื่อไทยเคยบอกว่าประชาธิปไตยต้องคืนกลับมา ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้คือโอกาสพิสูจน์ ว่าเพื่อไทยกล้ายืนเคียงข้างประชาชนอย่างแท้จริง
อย่าให้คำว่านิรโทษกรรม กลายเป็นเครื่องมือฟอกขาวเฉพาะบางคนบางกลุ่ม จงทำให้การนิรโทษกรรมเป็นสะพานพาทุกคนข้ามไปสู่ความยุติธรรม
จงยกมือเห็นด้วยกับนิรโทษกรรมประชาชน ที่รวมมาตรา 112 เพราะหากการนิรโทษกรรมคดีการเมืองเพียงบางส่วน นั่นไม่เรียกว่ายุติธรรม