คดี “ฮั้ว สว.”ถึงมือ กกต.ส่วนกลางแล้ว เดินหน้าขั้นตอน 2 ย้ำความลับ
วันที่ 17 กรกฎาคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงว่า ได้รับสำนวนสอบสวนกรณีร้องเรียนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จากคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนกลาง คณะที่ 26 ซึ่งหมายความว่า ขณะนี้กระบวนการได้เคลื่อนเข้าสู่ “ขั้นตอนที่ 2” ของระเบียบสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว
ทั้งนี้ แถลงการณ์ สำนักงาน กกต. ระบุว่า คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน คณะที่ 26 ได้ส่งมอบสำนวนให้สำนักงาน กกต.ส่วนกลางเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2568 โดยเนื้อหาสำนวน และความเห็นของคณะกรรมการฯ ถือเป็น “ความลับ” ยังไม่เปิดเผยสู่สาธารณะ
ขณะนี้ขั้นตอนต่อไปคือ “ขั้นตอนที่ 2” ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2566 โดยสำนวนจะถูกส่งต่อให้ รองเลขาธิการ กกต.ที่ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการ ดำเนินการวิเคราะห์ ตรวจสอบรายละเอียด และจัดทำความเห็นอย่างเป็นทางการ
หลังจากขั้นตอนที่ 2 เสร็จสิ้น สำนวนจะถูกส่งเข้าสู่ คณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง เพื่อพิจารณาและจัดทำความเห็นอีกครั้ง (ขั้นตอนที่ 3) ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหญ่ เพื่อชี้ขาดเป็นที่สุด (ขั้นตอนที่ 4)
สำนักงาน กกต. ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนและประชาชนให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ พร้อมยืนยันว่ากระบวนการทั้งหมดจะดำเนินไปด้วยความ สุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย
ก่อนหน้านั้น คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนกลาง ชุดที่ 26 ของสำนักงาน กกต. ซึ่งมีหน้าที่สอบสวนข้อกล่าวหา ฮั้ว สว. ได้ประชุมพิจารณาสรุปสำนวนคดีสำคัญ และมีมติเห็นควรดำเนินคดีต่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 229 ราย โดยแบ่งออกเป็น
- สมาชิกวุฒิสภา 138 คน
- กรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอีก 91 ราย
การพิจารณาชี้ว่าทั้งหมดเข้าข่ายความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 หลายมาตรา ได้แก่ มาตรา 70, มาตรา 36, มาตรา 62, มาตรา 76 และมาตรา 77(1)
หนึ่งในบทบัญญัติสำคัญคือ มาตรา 76 ซึ่งห้ามไม่ให้กรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ในพรรคการเมือง รวมถึง ส.ส. หรือผู้มีตำแหน่งทางการเมือง ไปช่วยเหลือให้บุคคลใดได้รับเลือกเป็น สว. หรือทำให้ไม่ได้รับเลือก หากผู้สมัคร ส.ว. ยินยอมให้มีการช่วยเหลือดังกล่าว จะเข้าข่ายความผิดร่วมด้วย โดยมีโทษ จำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
คณะกรรมการสืบสวนฯ ระบุว่า พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาเข้าข่ายมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ทำให้ได้รับเลือกเป็น สว. โดยไม่สุจริต และขัดต่อหลักการเที่ยงธรรมในการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา อีกทั้งอาจขัดต่อ รัฐธรรมนูญมาตรา 113 ซึ่งบัญญัติว่า “สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ”
หากที่ประชุม กกต. ชุดใหญ่เห็นชอบกับผลสรุปของคณะกรรมการสืบสวนฯ ก็อาจนำไปสู่กระบวนการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณายุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องได้ในที่สุด