ประมงสมุทรปราการ-ราชทัณฑ์-ซีพีเอฟ ยกระดับปลาหมอคางดำสู่ "น้ำปลาหับเผย" ของดีคู่ครัวไทย
กรมประมง เดินหน้าบูรณาการทุกภาคส่วนภาครัฐ เอกชน ชุมชน ดำเนินการมาตรการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำมาใช้ประโยชน์ แปรรูปเป็น “น้ำปลา” ที่ประมงสมุทรปราการ จับมือกับ เรือนจำกลางสมุทรปราการ และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกัน หมักน้ำปลา ใช้ชื่อ “หับเผยสมุทรปราการ” เป็นเครื่องปรุงรสที่ทุกบ้านต้องมี พร้อมถ่ายทอดเป็นทักษะอาชีพให้กับผู้ต้องขัง เป็นแนวทางกำจัดปลาอย่างสร้างสรรค์ ฟื้นฟูระบบนิเวศ ช่วยชุมชน และสร้างรายได้ให้กับผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิต
สมพร เกื้อสกุล ประมงจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ปลาหมอคางดำเป็นปลาที่บริโภคได้ สามารถแปรรูปได้หลากหลายเมนู การนำมาหมักเป็นน้ำปลาเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับปลาหมอคางดำ และช่วยกระตุ้นการบริโภคได้ทั่วประเทศ นอกจากนี้ "น้ำปลา" เป็นของที่อยู่ทุกครัวเรือน สามารถขยายผล สร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนได้ เป็นแนวทางการกำจัดปริมาณปลาหมอคางดำที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งชุมชนและระบบนิเวศ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่สมุทรปราการลดลง จากการประเมินโดยหน่วยงานหลักของกรมประมงในปัจจุบันปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดในพื้นที่สมุทรปราการอยู่ในระดับปานกลาง เป็นผลจากการดำเนินการตามมาตรการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำของกรมประมงอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะ การจัดกิจกรรม "ลงแขกลงคลอง" อย่างต่อเนื่อง เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติและนำมาใช้ประโยชน์ นอกจากนำมาหมักเป็นน้ำปลา สมุทรปราการยังร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรปราการรับซื้อปลาหมอคางดำสำหรับทำเป็นน้ำหมักชีวภาพในจำนวน 50,000 กิโลกรัม นอกจากนี้ สมุทรปราการยังร่วมมือกับซีพีเอฟดำเนินโครงการ “กองทุนปลากะพง” เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในการกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
วิชา ม่วงจินดา เจ้าพนักงานอบรมและฝึกวิชาชีพชำนาญงาน เรือนจำกลางสมุทรปราการ กล่าวว่า เรือนจำจะนำ "น้ำปลา" มาใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารสำหรับสวัสดิการเจ้าหน้าที่ และผู้ต้องขัง กิจกรรมนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก ผู้ต้องขังเองได้แสดงศักยภาพ มีส่วนร่วมกับสังคมในการรักษาสิ่งแวดล้อม และยังมีความรู้วิธีการหมักน้ำปลาสามารถใช้เป็นอาชีพเลี้ยงตนเองหลังจากพ้นโทษ และในอนาคตจะต่อยอดส่งน้ำปลาให้หน่วยงานตรวจรับรองคุณภาพและความสะอาด นำออกมาจำหน่ายเป็นสินค้า "หับเผยสมุทรปราการ"
กิจกรรมหมักน้ำปลาจากปลาหมอคางดำและฝึกทักษะอาชีพให้แก่ผู้ต้องขัง เป็นแนวทางบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมประมง กรมราชทัณฑ์ และซีพีเอฟ ที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2567 ใน 4 แห่ง ได้แก่ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี และสมุทรปราการ โดยประมงสมุทรสงครามกำลังนำ “น้ำปลา” ขวดแรกส่งให้กรมประมงตรวจรับรองคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อเป็นต้นแบบสินค้าอาหารจากปลาหมอคางดำ เปลี่ยนปัญหาเป็นโอกาส สร้างสินค้าตัวใหม่ ช่วยสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของท้องถิ่น
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO