ผู้ป่วยไตเฮ! เช็กสิทธิบัตรทอง '4 วิธีบำบัดไต' ฟรี เริ่ม 1 เม.ย.68
พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 เป็นต้นมา ผู้ป่วยไตสิทธิบัตรทองรายใหม่ที่ฟอกไตจะต้องจ่ายค่าฟอกไตรวมค่ายา รายละไม่ต่ำกว่า 2,500 บาทนั้น สปสช. ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยในการใช้สิทธิบัตรทองนั้น ผู้ป่วยไตไม่ต้องจ่ายค่ารักษา สิทธิประโยชน์คุ้มครองทั้งหมด
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมานี้ ผู้ป่วยไตสิทธิบัตรทองรายเดิมยังคงได้รับสิทธิบริการทดแทนไตด้วยวิธีเดิม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม แต่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายรายใหม่ที่ต้องรับบริการบำบัดทดแทนไต จะมีกระบวนการดูแลความเหมาะสมของผู้ป่วย กล่าวคือผู้ป่วยจะต้องได้รับข้อมูลเพื่อที่จะได้รู้ว่าวิธีบำบัดทดแทนไตวิธีไหนเหมาะกับบริบทของตัวเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สัญญาณ 'เลือดข้นหนืด' ที่คนนอนน้อยต้องระวัง สุขภาพแย่ จิตใจพัง
ปังไม่ไหว! บัตรทอง กทม. ย้ายไป 5 รพ.เอกชน 2.5 หมื่นคน ทำง่ายๆ ผ่านแอป
เพิ่มสิทธิบริการ ดูแลผู้ป่วยไต
โดยแพทย์จะให้ข้อมูลกับคนไข้ว่าวิธีบำบัดทดแทนไตมีวิธีไหนบ้าง แล้วจะดูความเหมาะสมกับบริบทของคนไข้ในการบำบัดทดแทนไตเอง ไม่ว่าจะเรื่องสภาพร่างกาย โรคร่วม อายุ ข้อห้ามทางการแพทย์ ที่อยู่ของผู้ป่วยไต เช่น กรณีบำบัดด้วยฟอกเลือด การเดินทางจากบ้านคนไข้มาหน่วยบริการมีระยะทางใกล้หรือไกลแค่ไหน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเป็นอย่างไร ค่าใช้จ่ายที่จะต้องดูแลตัวเองระหว่างการฟอกเลือดสูงเพียงใด
ส่วนกรณีการล้างไตทางหน้าท้อง จะพิจารณาว่าคนไข้มีความสามารถในการดูแลตัวเองหรือมีครอบครัวช่วยดูแลหรือไม่ เพราะโรคไตวายเรื้อรังเป็นโรคเรื้อรังและต้องมีการดูแลต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นการที่ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองหรือครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแล จะเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไต
“จุดสำคัญคือการมีส่วนร่วม ดึงทุกภาคส่วนทั้งหมอ พยาบาล ผู้ป่วย ผู้ประกอบการมาช่วยกัน มีคณะกรรมการไตเขตทำหน้าที่กลั่นกรองให้สิทธิดีที่สุดให้กับผู้ป่วย โดยมองระยะยาวทั้งส่วนของผู้ป่วยเองและของตัวระบบด้วย” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ลงทะเบียน "เลือกวิธีบำบัดทดแทนไต"
พล.อ.นพ.ถนอม สุภาพร ประธานกรรมการสนับสนุนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในการเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น จะต้องเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในระยะท้าย ซึ่ง สปสช. อยากให้คนไข้เข้ามาสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ ตั้งแต่เนิ่นๆ
โดยเข้าสู่การลงทะเบียนตั้งแต่ภาวะไตวายเรื้อรังอยู่ในระยะที่ 4 เพื่อจะได้มีการเตรียมการเข้าสู่การรักษาในระยะท้าย ทั้งด้วยวิธีการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ล้างไตทางช่องท้องหรือฟอกเลือด และกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพมากเกินกว่าจะดูแล เช่น มีโรคเจ็บป่วยเรื้อรัง นอนติดเตียง หรือเป็นโรคที่รู้แน่ว่าจะมีชีวิตอยู่ไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปีข้างหน้า ก็อาจจะไม่เหมาะที่จะดูแลด้วยวิธีการบำบัดทดแทนไต ก็จะใช้แนวทางการดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งอาจเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่า
ทั้งนี้ เมื่อผู้ป่วยลงทะเบียนมาตั้งแต่ระยะ 4 คณะกรรมการฯ จะทำการแยกคนไข้ออกเป็นคนไข้ที่เหมาะสมสำหรับการบำบัดทดแทนไตแต่ละวิธี หากมีสุขภาพแข็งแรง เหมาะสมกับการปลูกถ่ายไต ก็จะตรวจสอบว่ามีญาติพี่น้องที่อยากบริจาคไตหรือไม่ ถ้ามีก็จะได้รับการผ่าตัดโดยเร็ว แต่ถ้าไม่มี ก็จะให้ลงทะเบียนแล้วรอไตบริจาคจากสภากาชาดไทย ซึ่งในระหว่างที่รอก็ต้องใช้วิธีล้างไตทางช่องท้องหรือฟอกเลือดไปก่อน
"หากคนไข้สามารถบำบัดด้วยการล้างทางช่องท้องและไม่มีข้อห้ามอะไร ก็จะเป็นการรักษาที่เหมาะมากเพราะผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลบ่อยๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ส่วนกลุ่มที่มีปัญหาไม่สามารถล้างไตทางช่องท้องได้ ก็จะใช้วิธีการฟอกเลือด นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาถึงสภาพแวดล้อม แม้จะเหมาะกับการล้างไตทางช่องท้องแต่ไม่มีคนช่วยดูแลที่บ้าน หรืออยู่กันอย่างแออัด ไม่มีพื้นที่วางน้ำยาล้างไต แบบนี้ก็จะให้ฟอกเลือดได้" ประธานกรรมการสนับสนุนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายฯ กล่าว