เช็กเลย! ทำไม? 'อ้วนง่าย ผอมยาก' คุมอาหารแล้วแต่น้ำหนักไม่ลง
ใครหลายๆ คนกำลังพยายาม ‘ลดน้ำหนัก’ อยู่ใช่หรือไม่… แต่ทำไม? ยิ่งลด เหมือนน้ำหนักจะยิ่งขึ้นมากกว่าเดิม ทั้งที่ ควบคุมอาหารก็แล้ว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เข้าคอร์สลดน้ำหนัก ก็ไม่เป็นผล หรือต่อให้น้ำหนักลดกลับลดลงทีละขีด แต่พอหยุดลดน้ำหนัก กลับมาเพิ่มทีละกิโลกรัม
อย่างที่ทราบกันดีว่า การลดน้ำหนัก ต้องอาศัยวินัยและวิธีการที่ถูกต้อง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะลดน้ำหนักได้สำเร็จ วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนมาเจาะลุกกับปัจจัยมากมายที่อาจจะส่งผลต่อการลดน้ำหนักของแต่ละคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'ObesityConnects' Line OA แพลตฟอร์มช่วยจัดการปัญหา 'โรคอ้วน'
โภชนาการ ตัวช่วยสู้ 'เบาหวาน' ปรับอาหาร ลดอ้วน ลดน้ำหนัก 10%
ถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อลดน้ำหนักได้ตรงจุด
ข้อมูลจาก W9 Wellness Center ระบุว่าปัจจัยที่ทำให้ลดน้ำหนักไม่ลง หรือ ลงยาก อาจจะไม่ใช่เพียงเรื่องของไลฟ์สไตล์อย่างเดียว แต่อาจจะมีปัจจัยแฝงอื่นๆ ได้แก่
ถอดรหัสพันธุกรรม: ปัจจุบันมีการค้นพบแล้วว่า ยีนบางชนิด ทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการในการทำให้เราอ้วนหรือผอม ไม่ว่าจะเป็นยีนที่ควบคุมเรื่องของความอยากอาหาร ยีนที่ควบคุมความหิว ความอิ่ม หรือแม้กระทั่งยีนที่ควบคุมการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงาน ดังนั้น ใครก็ตามที่มียีนผิดปกติ หรือยีนกลายพันธุ์เหล่านี้ ก็มีโอกาสที่จะมีรูปร่างที่อ้วนกว่าปกติ หรือว่าลดน้ำหนักได้ยากกว่าปกตินั่นเอง
แต่อย่าเพิ่งท้อแท้ไป เพราะยีนไม่ได้เป็นตัวกำหนดทุกอย่าง เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อควบคุมน้ำหนักได้ เพียงแต่ว่าคนที่มียีนกลายพันธุ์เหล่านี้อาจจะต้องใช้วินัยและความพยายามในการลดน้ำหนักมากกว่าคนอื่นก็เท่านั้นเอง
ดังนั้น จะเห็นได้ว่ายีนก็มีบทบาทสำคัญในการลดน้ำหนัก การที่เราได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับยีนของตัวเอง ก็จะช่วยให้เราสามารถวางแผนการลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ฮอร์โมนตัวร้าย ทำลายเป้าหมายลดน้ำหนักของคุณ
ฮอร์โมนเปรียบเสมือนผู้กำกับวงออเคสตราในร่างกายเรา คอยควบคุมทุกอย่างให้ทำงานเป็นระบบ รวมถึงการเผาผลาญพลังงานและการสะสมไขมันด้วย ถ้าฮอร์โมนตัวไหนทำงานผิดปกติ ก็เหมือนกับนักดนตรีในวงเล่นไม่ตรงจังหวะ ทำให้เพลงออกมาเพี้ยน และส่งผลให้ระบบในร่างกายเราเสียสมดุลตามไปด้วย
ฮอร์โมนหลักๆ ที่มีผลต่อน้ำหนัก
- เลปติน (Leptin) : ฮอร์โมนที่บอกให้เรารู้สึกอิ่ม
- เกรลิน (Ghrelin) : ฮอร์โมนที่กระตุ้นความหิว
- อินซูลิน (Insulin): ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และเกี่ยวข้องกับการสะสมไขมัน
- คอร์ติซอล (Cortisol) : ฮอร์โมนความเครียด ทำให้เราอยากกินของหวาน
- ไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid hormones) : ควบคุมการเผาผลาญพลังงาน
- ฮอร์โมนเพศ (Sex hormones) : ฮอร์โมนเพศชายและฮอร์โมนเพศหญิง มีผลต่อการเผาผลาญ และการสร้างกล้ามเนื้อ
สาเหตุที่ทำให้ฮอร์โมนเสียสมดุล
- พันธุกรรม: บางคนอาจมีพันธุกรรมที่ทำให้ฮอร์โมนทำงานผิดปกติ
- ไลฟ์สไตล์: การกินอาหารไม่เป็นเวลา การนอนไม่พอ ความเครียด การออกกำลังกายน้อย
- โรคภัยไข้เจ็บ: โรคบางชนิด เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ เบาหวาน สามารถส่งผลต่อฮอร์โมนได้
เมื่อฮอร์โมนเสียสมดุล จะส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น
- หิวบ่อย: ฮอร์โมนเกรลินสูงเกินไป
- อิ่มยาก: ฮอร์โมนเลปตินทำงานผิดปกติ
- เผาผลาญช้า: ไทรอยด์ฮอร์โมนทำงานไม่ดี
- อยากของหวาน: ฮอร์โมนคอร์ติซอลต่ำ
ผลลัพธ์สุดท้ายคือ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และลดน้ำหนักได้ยาก ดังนั้น ฮอร์โมนมีบทบาทสำคัญในการควบคุมน้ำหนัก ถ้าฮอร์โมนไม่สมดุล การลดน้ำหนักก็จะยากขึ้น ดังนั้นการดูแลสุขภาพให้ดี การพักผ่อนให้เพียงพอ และการกินอาหารที่มีประโยชน์ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย
ปรับสมดุลจุลินทรีย์ เพื่อลดน้ำหนักได้ง่ายขึ้น
จุลินทรีย์ในลำไส้ มีหลากหลายชนิด แต่ละชนิดมีหน้าที่แตกต่างกัน บางชนิดช่วยให้เราเผาผลาญพลังงานได้ดี ในขณะที่บางชนิดอาจทำให้เราสะสมไขมันได้ง่ายขึ้น การปรับสมดุลของจุลินทรีย์จึงเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมน้ำหนักตัว
จุลินทรีย์เกี่ยวข้องกับความอ้วน
- จุลินทรีย์แต่ละชนิดมีหน้าที่ต่างกัน: มีการค้นพบว่า คนอ้วนมักมีจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งชื่อ เฟอร์มิคิวทีส (Firmicutes) มากกว่าคนผอม ในขณะที่คนผอมมักมีจุลินทรีย์ชนิด แบคทีรอยดีทีส (Bacteroidetes) มากกว่า
- จุลินทรีย์ช่วยย่อยอาหาร: จุลินทรีย์บางชนิดช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลอรี่จากอาหารได้ดีขึ้น ทำให้อ้วนง่ายขึ้น
- จุลินทรีย์ส่งผลต่อฮอร์โมน: จุลินทรีย์บางชนิดอาจส่งผลต่อฮอร์โมนที่ควบคุมความหิว ทำให้เรารู้สึกอยากอาหารมากขึ้น
จะเห็นว่า จุลินทรีย์ในลำไส้ มีผลต่อการเผาผลาญพลังงานและการสะสมไขมันในร่างกายของเรา หากเรามีจุลินทรีย์ชนิดที่ส่งเสริมการสะสมไขมันมากเกินไป ก็อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้
ทำอย่างไรให้จุลินทรีย์ในลำไส้สมดุล
- กินอาหารที่มีใยอาหารสูง: อาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช จะช่วยบำรุงจุลินทรีย์ดีในลำไส้
- ทานโพรไบโอติกส์: โพรไบโอติกส์คือจุลินทรีย์ดีที่เราสามารถทานเข้าไป เพื่อช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้
- หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป: อาหารแปรรูปมีน้ำตาลและไขมันสูง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อจุลินทรีย์ในลำไส้
ดังนั้นการเลือกทานโพรไบโอติกส์ควรเลือกชนิดที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล เพราะจุลินทรีย์แต่ละชนิดมีประโยชน์แตกต่างกัน การตรวจสมดุลจุลินทรีย์จึงสำคัญ
ใครบ้างที่เสี่ยงมีภาวะจุลินทรีที่ไม่สมดุล
- คนที่ได้รับยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเป็นประจำ
- กินยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ที่รักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือยารักษาโรคกรดไหลย้อนเป็นประจำ
- มีการกินยาต้านซึมเศร้า
- กินอาหารแปรรูปเยอะ
ทำไมขาดวิตามิน แร่ธาตุ ถึงทำให้อ้วน
ร่างกายของเราเปรียบเสมือนเครื่องจักรที่ต้องการพลังงานในการทำงาน ถ้าขาดอะไหล่สำคัญอย่าง วิตามินและแร่ธาตุ เครื่องจักรก็จะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ แร่ธาตุสังกะสี ทองแดง และซีลีเนียม 3 ตัวนี้สำคัญมาก เพราะช่วยให้ ไทรอยด์ฮอร์โมน ทำงานได้ดี
ไทรอยด์ฮอร์โมน คือตัวควบคุมการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ถ้าไทรอยด์ฮอร์โมนทำงานไม่ดี พลังงานที่เรากินเข้าไปก็จะถูกสะสมเป็นไขมันแทนที่จะถูกเผาผลาญ ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ถ้าร่างกายของเราขาดวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญ ร่างกายก็จะเผาผลาญพลังงานได้น้อยลง ทำให้เราอ้วนง่ายขึ้นนั่นเอง
อยากลดน้ำหนัก ควรทำอย่างไร?
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่: เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่เพียงพอ
- ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร: ก่อนทานวิตามินเสริม ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้คำแนะนำที่ถูกต้อง
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ: ช่วยเผาผลาญพลังงาน และกระตุ้นการทำงานของระบบเผาผลาญ
- การทานวิตามินเสริมเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ช่วยให้ลดน้ำหนักลงได้ทันที การลดน้ำหนักต้องอาศัยความพยายามในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน และการออกกำลังกายควบคู่กันไปด้วย
ยาบางชนิด ขัดขวางการลดน้ำหนัก
เรื่องของการใช้ยาบางชนิดที่มีผลต่อความหิว ความอิ่ม และการเผาผลาญอาหารไปเป็นพลังงานโดยตรง เช่น ยาคุมกำเนิด ยาต้านซึมเศร้า และยานอนหลับ อาจมีผลข้างเคียงทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้
ยาบางชนิดมีผลต่อน้ำหนักตัว
- ความอยากอาหาร: ยาบางชนิดอาจทำให้เรารู้สึกหิวบ่อยขึ้น หรืออิ่มช้าลง ทำให้กินอาหารมากขึ้นกว่าปกติ
- ส่งผลต่อการเผาผลาญ: ยาบางชนิดอาจทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้ช้าลง ส่งผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
- สะสมน้ำ: ยาบางชนิดอาจทำให้ร่างกายเก็บน้ำไว้มากขึ้น ทำให้รู้สึกตัวหนักขึ้น
ยาที่พบบ่อยและมีผลต่อน้ำหนัก
- ยาคุมกำเนิด: บางสูตรอาจทำให้เกิดอาการบวมน้ำ หรือเพิ่มความอยากอาหาร
- ยาต้านซึมเศร้า: ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการน้ำหนักเพิ่ม
- ยานอนหลับ: ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการหิว
- ยาเบาหวาน: ยาเบาหวานบางชนิด เช่น ยาอินซูลิน อาจทำให้เกิดอาการน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้
ทำไมต้องใส่ใจเรื่องยาและน้ำหนัก
- ลดความผิดหวัง: เมื่อรู้ว่ายาที่เรากินมีผลต่อน้ำหนัก ก็จะได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอื่นๆ เพื่อชดเชย
- ปรึกษาแพทย์: เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา หรือเปลี่ยนยาที่ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงเรื่องน้ำหนักตัว
- เพิ่มโอกาสในการลดน้ำหนัก: เมื่อควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ดี ก็จะลดน้ำหนักได้ง่ายขึ้น
ยาที่เราทานเป็นประจำอาจมีผลต่อน้ำหนักตัวได้ ดังนั้น หากคุณกำลังมีปัญหาเรื่องการลดน้ำหนัก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบว่ายาที่คุณทานมีผลข้างเคียงหรือไม่ จะได้หาทางแก้ไขที่เหมาะสม
5 เหตุผลปรับเปลี่ยนวิธีการลดน้ำหนัก
นพ. ปราโมทย์ พัชรมณีปกรณ์ อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายผ่านบทความในเว็บไซต์โรงพยาบาลว่า 5 เหตุผลต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณควรรู้เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนวิธีการลดน้ำหนักให้ไปถึงเป้าหมายตามที่ตั้งใจ
1) ขาดแรงบันดาลใจในการลดน้ำหนัก
เรื่องนี้สำคัญที่สุด เพราะประโยคที่มักได้ยินบ่อย ๆ คือ “ไม่รู้จะลดน้ำหนักไปทำไม” ฟังก็รู้เลยว่าไม่มี Passion ในการลดน้ำหนัก แต่เวลาที่ทำอะไรยาก ๆ แล้วสำเร็จ จะรู้เลยว่าถ้ามี Passion ต่อให้ยากแค่ไหนก็ทำได้ มีอุปสรรคมากแค่ไหนก็จะไม่เลิก การลดน้ำหนักก็เช่นเดียวกัน
ถ้าคุณมี Passion มากพอ รับรองว่าคุณสามารถทำได้ คุณควรหาเหตุผลโดนใจสักข้อว่าคุณอยากลดน้ำหนักไปทำไม เช่น ไม่อยากป่วยเป็นโรคอ้วนเพราะลูกยังเล็ก กลัวอยู่ไม่ถึงลูกรับปริญญา ฉันกำลังจะแต่งงาน ฉันต้องสวยที่สุดในวันสำคัญที่สุดในชีวิต รูปชุดแต่งงานจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต เป็นต้น
2) เข้าใจผิดคิดว่ากินสิ่งนี้แล้วไม่อ้วน
ผลไม้เป็นอาหารอันดับ 1 ที่คนส่วนใหญ่คิดว่ากินเยอะแล้วไม่อ้วน แต่ความจริงคือผลไม้มีน้ำตาลผลไม้ ซึ่งพลังงานไม่น้อย ขึ้นกับว่ากินมากแค่ไหน ตัวอย่างเช่น ส้ม 1 ลูก (ผลเท่าลูกเทนนิส) มีพลังงานเท่ากับกินข้าวสวย 1 ทัพพี หรือกล้วยน้ำว้า 1 ลูก กล้วยหอมครึ่งลูก สับปะรด หรือแตงโม หรือมะละกอ 4 ชิ้น (ที่วางเต็มในจานรองแก้ว) แต่ละอย่างเท่ากับการกินข้าวสวย 1 ทัพพีเช่นกัน ลองคิดตามดูว่า ถ้าไม่กินข้าวเย็น แต่กินส้ม 5 ลูกแทน ก็แปลว่าเรากินข้าวสวยไป 5 ทัพพีโดยไม่ได้แตะข้าวเลย ลองคิดดูเองว่าเยอะไหม
ต่อมา คืออาหารทอดและอาหารผัดทุกชนิด รวมถึงอาหารจานเดียว อาทิ ผัดไท ผัดซีอิ๊ว ผัดกะเพรา ฯลฯ น้ำมันที่ซ่อนอยู่ในอาหารพวกนี้เยอะมาก พลังงานจึงเยอะตามไปด้วย และถัดไปคือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น ชาเชียวขวดรสหวาน ชานมไข่มุก กาแฟใส่น้ำตาลใส่นม น้ำอัดลม ลองอ่านฉลากโภชนาการข้างขวดดูเห็นแล้วจะตกใจ อย่าปล่อยให้พังเพราะคำว่า “ไม่เป็นไรหรอก นิดเดียวไม่อ้วนหรอก”
3) ขี้เกียจออกกำลังกาย
ลองคิดตามดูว่า ถ้าคุมอาหาร กินน้อย แต่ไม่ออกกำลังกาย ก็ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรไปเผาก้อนไขมันที่อยู่ในตัวเราให้ออกมาได้ การออกกำลังกายยิ่งมากแค่ไหนก็เบิร์นไขมันออกมากเท่านั้น ดังนั้นการออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การคุมอาหาร ออกกำลังกายบ้างดีกว่าไม่ทำเลย
เคล็ดลับคือ เริ่มต้นครั้งละสั้น ๆ เริ่มจาก 10 – 15 นาทีแล้วค่อยเพิ่มเวลาขึ้นเรื่อย ๆ จนได้เป้าหมาย ลองเลือกกิจกรรมที่ชอบหรือเคยทำได้ เช่น ปั่นจักรยานอยู่กับที่แล้วเปิดดูซีรีย์ไปด้วย แป๊บเดียวก็ครบเวลาที่เราตั้งไว้แล้ว จำไว้ว่า “แค่ขยับเท่ากับออกกำลังกาย”
4) เครียดมากหาทางออกด้วยการกิน
อารมณ์มีอิทธิพลต่อการกินอย่างมาก เชื่อว่าทุกคนเคยเป็น เช่น ทำงานหนัก ใช้สมองเหนื่อยมาก เครียดมาก ต้องการผ่อนคลายด้วยการกินบิงซูชามใหญ่ เค้กชิ้นโต ไอศกรีมสัก 3 – 4 ลูก เมื่อใช้การกินเป็นวิธีคลายเครียด แน่นอนว่าเราจะกินมากกว่าปกติ เพราะกว่าสมองจะหายเครียดจากการกินอาหาร ร่างกายก็ได้รับพลังงานไปมากมายแล้ว
ควรกลับมาถามตัวเองสักนิดว่า เรามีวิธีคลายเครียดวิธีอื่นนอกจากการกินไหม เช่น ออกกำลังกาย คลายเครียดได้แถมลดน้ำหนักได้อีก หรือจะดูหนัง ดูซีรีย์ แต่อย่าดูไปกินไป
หรือวิธีง่าย ๆ ที่ได้ผลเร็ว อยากให้ลองทำเพื่อคลายเครียด คือ นั่งสมาธิ หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ ช้า ๆ ทำไปเรื่อย ๆ เพียง 1 นาทีก็เห็นผล ถ้าทำต่อหลายนาที หายเครียดแน่นอน ท่องไว้ว่า “ถ้าเครียดไม่กิน ให้ออกกำลัง และหายใจลึก ๆ
5) ลดน้ำหนักแบบตึงเกินไป
บางคนลดน้ำหนักได้แล้ว แต่ทำได้แป๊บเดียวก็เลิกทำในที่สุด เพราะตึงเกินไปจนรู้สึกเครียดและท้อ ทำแล้วไม่มีความสุข เครียดกว่าเดิม บางคนคิดว่าทำงานหรือเรียนเครียดอยู่แล้วต้องเครียดกับการคุมอาหารอีก ซึ่งการลดน้ำหนักให้สำเร็จอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การลดอย่างรวดเร็ว เช่น ลด 10 กิโลกรัมในเวลา 1 – 2 เดือน เมื่อลดได้แล้วก็เลิกทำไป แต่สิ่งสำคัญคือความสุขในระหว่างที่ลดน้ำหนัก ถ้าบาลานซ์ได้ดีระหว่างความสุขจากกิน ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ น้ำหนักตัวที่เหมาะสม จะประสบความสำเร็จในระยะยาว
อีกประเด็นคือ บางคนตั้งใจคุมอาหารอย่างดี ออกกำลังกายก็ดี แต่น้ำหนักลดน้อยหรือไม่ลดเพิ่ม ทำให้เสียกำลังใจ ท้อ ไม่อยากทำแล้วจึงเลิกทำ กลับไปไม่คุมอาหารอะไรเลย หยุดออกกำลังกาย น้ำหนักก็พุ่งกลับมารวดเร็ว ซึ่งคนเรามีพันธุกรรมไม่เหมือนกัน การเผาผลาญไม่เท่ากัน
แม้ว่าเราจะกินอาหารและออกกำลังกายเท่ากันกับเพื่อน น้ำหนักอาจจะลดน้อยกว่าเพื่อนก็ได้ แต่ควรทำสิ่งที่ถูกต้องต่อไป ในที่สุดน้ำหนักจะลดได้เอง ถ้ามีจิตใจที่เข้มแข็งไม่หยุดจนกว่าจะถึงเส้นชัย อย่าลืมว่าลดน้ำหนักต้องมีความสุข ถ้าไม่ลดเราไม่เลิก หรือถ้าแม้ว่า (ยัง) ไม่ลด (แต่ก็) ไม่เลิก
ทำไมกินน้อยแล้วน้ำหนักขึ้น
ส่วนใหญ่ผู้ที่มีน้ำหนักเยอะมักคิดว่าตัวเองรับประทานน้อย แต่ความจริงแล้วรับประทานอาหารที่พลังงานสูง เช่น น้ำตาล โดยเฉพาะในเครื่องดื่มอย่างชานมไข่มุก กาแฟที่ใส่น้ำตาล หรือขนมต่าง ๆ ที่มีน้ำตาล ชีส เนย รวมทั้งอาหารทอดที่มีพลังงานจากไขมันสูงมาก รวมถึงการรับประทานผลไม้ ถ้าทานเยอะ น้ำหนักตัวก็ขึ้นเยอะได้เช่นกัน
ลดอ้วน ลดโรค อย่างถูกวิธี
ขณะที่ข้อมูลจากโรงพยาบาลเพชรเวช แนะนำการลดความอ้วนอย่างถูกวิธี ว่า
- ทำอาหารรับประทานเอง สามารถควบคุมแคลอรี และวัตถุดิบที่สะอาดในการทำอาหาร
- ลดความหวาน โดยเฉพาะอาหารประเภทผลไม้ ขนม และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาสูง แม้ว่าปริมาณแคลอรีจะไม่สูงมากก็ตาม แต่ปริมาณน้ำตาลสะสมในร่างกายมากเกินกว่าที่ระบบเผาผลาญได้หมด ก็ไม่สามารถลดความอ้วนได้
- พักผ่อนให้เพียงพอ โดยการนอนหลับ 7-8 ชั่วโมง จะช่วยให้ฮอร์โมนที่ทำการควบคุมความหิว และความอิ่ม ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- หลีกเลี่ยงความเครียด หากร่างกายขาดฮอร์โมนคอร์ติซอล จะทำให้มีการอยากรับประทานอาหารรสชาติหวาน
- ออกกำลังกาย โดยการคาร์ดิโอก่อน แล้วค่อยเวทเทรนนิ่ง ในการออกกำลังกายแต่ล่ะครั้ง ควรทำให้ได้ 45 นาทีขึ้นไป
การใช้แบคทีเรียในการลดความอ้วน
แบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ภายในลำไส้ คือ Bacteroidetes จะเพิ่มอัตราการเผาผลาญ และลดการดูดซึมไขมัน จะช่วยให้ร่างกายมีรูปร่างที่ดีขึ้น ซึ่งการรับประทานอาหารที่พรีไบโอติกส์ โดยไม่ผ่านความร้อน และการปรุงแต่งรสชาติใดๆ จะช่วยเพิ่มแบคทีเรีย Bacteroidetes ได้
อาหารที่พรีไบโอติกส์ ได้แก่
- ผลไม้ เช่น กล้วย ฝรั่ง และแอปเปิล
- ผักสด เช่น ต้นหอม หอมหัวใหญ่ กระเทียม และมะเขือเทศ
- ธัญพืช เช่น ข้าวบาร์เลย์ และถั่วชนิดต่างๆ
ในทางตรงกันข้ามแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ภายในลำไส้ คือ Firmicutes เป็นแบคทีเรียที่ชอบกินไขมันเป็นอาหาร ทำให้ร่างกายดูดซึมไขมันได้มากขึ้น ร่างกายจะได้รับพลังงานมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดไขมันสะสมในร่างกาย หรืออ้วนขึ้น
อ้างอิง:w9wellness ,โรงพยาบาลกรุงเทพ ,โรงพยาบาลเพชรเวช