'กาดหล่ายต้า'เป็นมากกว่าตลาดนัด พลังอาหารพื้นถิ่นสร้างคุณค่ายั่งยืน
กาดหล่ายต้า (Lai Ta Market)มาจากคำว่า “กาด” หมายถึง ตลาด “หล่ายต้า” เป็นคำที่ไว้ใช้เรียกชุมชนที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกันระหว่างลำน้ำ เป็นตลาดชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณลำน้ำแม่ต๋ำ ตำบลแม่ต๋ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เปิดให้บริการทุกวันพุธ เวลา 16.00-18.30 น.โดดเด่นด้วยอาหารพื้นเมืองและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเเล้วยังสะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ดั้งเดิมของชุมชนที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกันระหว่างลำน้ำอีกด้วย
จัดกิจกรรม “กาดแลงหล่ายต้า” อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเป็นตลาดวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่นำทุนทางวัฒนธรรมมาผสานกับแนวคิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ส่งผลให้สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม จุดเด่นของกาดหล่ายต้าคืออาหารพื้นเมืองการแปรรูปอาหารรวมถึงผลิตภัณฑ์ชุมชนต่างๆ.นอกจากนี้ยังมีมุมถ่ายรูปสวยๆริมลำน้ำและกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
คนยุคใหม่ ไม่แคร์เงิน! งานมีค่า องค์กรต้องเปย์ใจ ลงทุนคน
เปลี่ยน ‘เหมืองร้าง’ เป็น ‘โซลาร์ฟาร์ม’ มุ่งสู่พลังงานสะอาด ช่วยฟื้นฟูที่ดิน
กาดหล่ายต้า หรือ Lai Ta Market เป็นตลาดที่เน้นย่านเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์.ภายในตลาดมีอาหารมื้อเย็นอาหารทานเล่นโบราณ เช่น ขนมหน้าต่าง, ยำมะม่วงโบราณ, ขนมจอก, ข้าวต้มมัด และอื่นๆ อีกมากมาย. นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ชุมชนอื่นๆ เช่น งานจักสาน งานทอผ้า เครื่องมือประมงและล้อเกวียนโบราณ.ตลาดนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และมีร้านค้าต่างๆ เช่น ร้านนวด ร้านกาแฟ และร้านอาหาร.โดยในแต่ละครั้งของการจัดงานมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเฉลี่ยประมาณ 25,000 บาท และมีผู้ประกอบการในชุมชนกว่า 40-60 ครัวเรือนเข้าร่วม
“ลำดวน ฝีปากดี” ประธานประชาคมกาดหล่ายต้า (ย่านแม่ต๋ำเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์) เล่าว่ากาดหล่ายต้า ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญของจังหวัดพะเยา โดยเปิดพื้นที่ให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้ามาเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และศึกษาดูงานเป็นประจำ โดยมีการจัดการในรูปแบบภาคประชาสังคม ภายใต้ชื่อ “ประชาคมกาดหล่ายต้า” ซึ่งสังกัดอยู่ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนระเบียงวัฒนธรรมกว๊านพะเยา
ผู้ที่ไปเยี่ยมชมจะพลาดไม่ได้กับ เมนู “ยำมะม่วงหนังหมูมะพร้าวคั่ว” ข้าวต้มหัวหงอก ไวน์น้ำผึ้ง The Mae Nai's Winery ซึ่งล้วนแต่เป็นอัตลักษณ์ของอาหารดั้งเดิม อาหารพื้นถิ่นที่มีรสชาติ เรื่องราว วัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา รวมทั้งพืชผักที่ปลอดสารพิษอีกจำนวนมากที่ชาวบ้านนำมาจำหน่าย เป็นการสร้างโอกาสให้กับอาหารท้องถิ่นก้าวสู่ตลาดที่กว้างขึ้นได้
จุดประกายจากฝีมือและความรู้เก่าแก่
ประธานประชาคมกาดหล่ายต้า เล่าว่า “กาดหล่ายต้า” เป็นศูนย์รวมของเรื่องราว อาหารพื้นถิ่น และภูมิปัญญาที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น สร้างทั้งรายได้และความภาคภูมิใจให้กับชุมชนแห่งนี้ เพราะเริ่มต้นขึ้นจากจุดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ของคนในชุมชนนั่นคือ ความสามารถในการทำอาหารอร่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงวัยในชุมชนที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์ หลายครัวเรือนในชุมชนได้ทำอาหารไปขายตามตลาดต่างๆ เช่น ตลาดแม่ต่ำหรือตลาดแม่ทองคำอยู่แล้ว การรวมตัวกันเป็นตลาดจึงถูกผลักดันขึ้น เพื่อให้คนภายนอกสามารถเข้าถึงอาหารอร่อยและเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนได้ง่ายขึ้น
เคยเปิดตัวในรูปแบบของงานอีเวนต์ที่มีธีมและเครื่องแต่งกายที่น่าตื่นตาตื่นใจ เช่น ญี่ปุ่นในความทรงจำ” (Arigato Laitai Japan in Memory) ในเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากร่องรอยประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในพื้นที่ ที่ทหารญี่ปุ่นเคยมาพักและใช้น้ำจากบ่อน้ำในลักษณะคล้ายออนเซ็น “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ กาดหล่ายต้า ไชน่าทาวน์” (Godfather Shanghai Garlaitai Chinatown) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งมีการบูรณาการความร่วมมือกับหอการค้าจังหวัดพะเยาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ด้วยต้นทุนและกำลังคนที่ต้องใช้มหาศาลในการจัดงานอีเวนต์แต่ละครั้ง กาดหล่ายต้า จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการจัดตลาดทุกวันพุธโดยไม่มีธีม เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน การเลือกวันพุธก็เป็นไปเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับกิจกรรมในตัวเมืองพะเยา โดยเฉพาะกว๊านพะเยา ซึ่งเปรียบเสมือนห้องรับแขกของจังหวัดและมีการจัดงานเกือบทุกวัน
"ตลาดแห่งนี้สร้างรายได้รวมเฉลี่ย 25,000 บาทต่อครั้งต่อสัปดาห์ ให้กับชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ประกอบการท้องถิ่น เช่น “ยายนิ่ม” เจ้าของสูตร “ห่อนึ่งไก่ไร้กระดูกตํารับ 80 ปี” ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นทั้งจากการขายในตลาดและช่องทางออนไลน์ สูตรของยายนิ่มนี้สืบทอดมาจากแม่ของยายนิ่มที่คิดค้นขึ้นเมื่อ 80 ปีที่แล้ว เพื่อถนอมเนื้อไก่ในยุคที่ยังไม่มีตู้เย็น หรือ “ยำมะม่วงหนังหมูมะพร้าวคั่ว อาหารประจำถิ่นที่มีชื่อเสีรยงและผักปลอดสารพิษที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นถิ่น ทั้งหมดนี้คือเสน่ห์ที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านกาดหล่ายต้า"
นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากโครงการ U2T ของรัฐบาลและความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพะเยา มีการนำผลิตภัณฑ์เด่นของตลาดไปพัฒนาเพิ่มมูลค่า เช่น “เนื้อย่าง” ที่ได้รับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุญญากาศและแช่แข็ง และได้รับรางวัลอันดับ 2 ในการประกวด จัดทำคู่มือสำหรับผลิตภัณฑ์เด่น 3 ชนิด รวมถึงน้ำพริกลาบและห่อนึ่งไก่ เพื่อรักษาสูตรอาหารพื้นถิ่นไม่ให้สูญหาย และเตรียมพร้อมสำหรับการขยายผล จ้างงานคนในชุมชนและบัณฑิตจบใหม่ เพื่อมาช่วยในด้านไอทีและเพิ่มช่องทางการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ ทำให้ผลิตภัณฑ์ของชุมชนเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขึ้น
"กาดหล่ายต้าจึงเป็นมากกว่าตลาดนัด แต่เป็น “ชุมชนแห่งการแบ่งปัน” ที่แสดงให้เห็นถึงพลังอันแข็งแกร่งของอาหารพื้นถิ่นในการสร้างความยั่งยืนให้กับวิถีชีวิต และเป็นแบบอย่างของการใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมมาต่อยอดสร้างคุณค่าในยุคปัจจุบัน"
ดร.จารุวรรณ โปษยานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา และ ดร.อัษฎากรณ์ ฉัตรานันท์ ที่ชาวบ้านเรียกว่า หนานเอี่ยว ประธานวิสาหกิจชุมชนกาดหล่ายต้า ช่วยกันเล่าว่าหัวใจของ “กาดหล่ายต้า”คือคนในชุมชนที่มองเห็นภาพตรงกันว่าเรื่องราวต่างๆของพวกเขาและอัตลักษณ์ของอาหารดั้งเดิม อาหารพื้นถิ่นที่มีรสชาติเรื่องราววัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาเหล่านั้นเป็นเสน่ห์ของชุมชนที่สามารถนำมาสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างรายได้ เป็นแหล่งเรียนรู้ พื้นที่เศรษฐกิจอย่างยั่งยืนได้ จึงเกิดเป็น “กาดหล่ายต้า”ได่ดังเช่นที่เห็นในวันนี้
โอกาสของคนรุ่นใหม่ในวิกฤติ
หนานเอี่ยว ประธานวิสาหกิจชุมชนกาดหล่ายต้า เล่าว่า ตลาดชุมชนแห่งเป็นต้นแบบแห่ง ความยั่งยืนจากการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของคนในชุมชน ตั้งแต่ผู้สูงอายุไปจนถึงคนรุ่นใหม่ ผู้สูงอายุที่ได้มาพูดคุยกันเพียงสัปดาห์ละครั้ง แสดงให้เห็นถึงการให้คุณค่ากับมิติทางสังคมและการเยียวยาจิตใจในชุมชน คนรุ่นใหม่ที่เคยไปใช้ชีวิตในเมืองหลวง เช่น ผู้ที่จบจากธรรมศาสตร์และลาดกระบัง ได้กลับมายังบ้านเกิดและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนชุมชน ทำให้เกิดการ ส่งต่อองค์ความรู้และวิถีชีวิต จากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่อย่างกลมกลืนและยั่งยืน
"ทุกสิ่งทุกอย่างในพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับโครงการนี้ล้วนแต่เป็น “ออร์แกนิก” ทั้งสิ้น เช่น ผักอินทรีย์ หลากหลายชนิด ที่ปลูกต่อเนื่องมานานกว่า 60 ปี หรืออาหารพื้นบ้านดั้งเดิมจาก “ร้านริมน้ำ” อย่าง “ไก่นึ่งสมุนไพร” ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากและแสดงถึงการอนุรักษ์อาหารท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจาก คนในชุมชนช่วยกันทำอาหาร และรักษามาตรฐานความเป็นออร์แกนิก สะท้อนถึงการใส่ใจในสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนร่วมกัน"
ศูนย์กลางการเรียนรู้และขับเคลื่อนตนเอง
ดร.จารุวรรณ กล่าวเสริมว่า พื้นที่แห่งนี้ถูกกำหนดให้เป็น “เลิร์นนิ่งสเปซทางด้านวัฒนธรรม” และ “เลิร์นนิ่งสเปซชุมชน” ที่เปิดรับผู้คนทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กอนุบาล นักเรียน พระสงฆ์ ไปจนถึงชุมชนอื่นๆ ให้เข้ามาเรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะเรื่องอาหารที่เคยหายไป ทำหน้าที่เป็นแหล่ง สืบทอดความรู้ และอนุรักษ์สิ่งดีงาม โครงการยังส่งเสริมให้ชุมชนเป็น “ออแกไนเซอร์” ในการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาคนนอก เป็น “ความยั่งยืน” ไม่ใช่แค่ในเชิงเศรษฐกิจ แต่รวมถึงสุขภาพของคนในพื้นที่และความมั่นคงของชุมชนเอง
"สวทช.(สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ )ได้นำโมเดล นี้ไปขยายผลใช้เป็น “ทุนวิจัยเชิงพื้นที่” ภายใต้ สกสว. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)และมีมหาวิทยาลัยกว่าร้อยแห่งทั่วประเทศนำไปใช้ในชื่อ PMU หรือ PTH ทางด้านวัฒนธรรมไทย นำไปต่อยอดในระดับชาติและงานวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม จากรากฐานที่แข็งแกร่งของชุมชน การส่งต่อองค์ความรู้ระหว่างรุ่น และการเชื่อมโยงกับหน่วยงานวิจัยระดับชาติ ทำให้ตลาดชุมชนแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของ ความยั่งยืน ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของคนในพื้นที่ พร้อมเป็นแรงบันดาลใจให้กับการฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมในยุคปัจจุบัน"
ในส่วนมหาวิทยาลัยพะเยาได้ทำโครงการวิจัยชุมชนนวัตกรรมการบริการด้านวัฒนธรรม พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้และนวัตกรรมด้านบริการทางวัฒนธรรม (Learning and Innovation Platform) ให้กับชุมชนกาดหล่ายต้า ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนระเบียงวัฒนธรรมกว๊านพะเยา โดยใช้งานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) ระหว่างมหาวิทยาลัยพะเยา กลุ่มผู้ประกอบการด้านอาหารพื้นถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เพื่อให้การบริหารจัดการพื้นที่วัฒนธรรมของชุมชนมีมาตรฐาน มีศักยภาพ และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ได้อย่างยั่งยืนพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมให้มีความร่วมสมัยและตอบโจทย์การท่องเที่ยววิถีใหม่ สอดคล้องกับนโยบายในการพัฒนาพื้นที่แบบ Area-based โดยเน้นการบูรณาการพันธกิจทั้งการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากของจังหวัดพะเยาให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
“เมื่อคนในชุมชนเห็นภาพเดียวกันความร่วมมือก็เกิดขึ้นเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่พวกเขาทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของได้ที่เป็นแหล่งสร้างรายได้ของครอบครัวได้อีกด้วย ซึ่งจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากของจังหวัดพะเยาให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน” ดร.จารุวรรณ กล่าวทิ้งท้าย