‘ดัคเทป’ ไอเดียช่วยชีวิตจากคุณแม่บ้าน ที่อยากให้กล่องยุโธปกรณ์สงครามเปิดได้ในเสี้ยววิ
duct tape หรือ ‘เทปผ้า’ เป็นเทปสารพัดประโยชน์ที่หลายคนเรียกมันว่า ‘เทปช่วยชีวิต’
ในหลายๆ วงการ ตั้งแต่การซ่อมบ้าน ติดท่อที่รั่ว พันสายไฟ ไปจนถึงพื้นที่งานวิศวกรรม อากาศยาน และที่สำคัญคือวงการโปรดักชั่น พวกมันอาจจะเคยช่วยให้โปรเจกต์ การงาน บ้านเรือนของเรารอดพ้นวิกฤตมาได้
คำว่า ‘เทปช่วยชีวิต’ ในทุกวันนี้อาจเป็นระดับความเปรียบ แต่ทว่า เจ้าเทปที่แปะเก่ง แปะได้ทุกอย่างจนเก่งแบบเป็ดๆ ในนิยามทักษะแบบปัจจุบัน ที่มาของมันเริ่มจากการอยากช่วยชีวิตคนในภาวะสงคราม
อันที่จริงก็เป็นความคิดของแม่บ้านที่อยากแก้ปัญหาเรื่องการขนส่ง และการเปิดกล่องยุทโธปกรณ์ในทศวรรษ 1940 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในความใส่ใจเล็กๆ คุณแม่ได้เสนอไอเดียอย่างเป็นรูปธรรม กลายเป็นเทปสีเงินที่กองทัพใช้ซ่อมสารพัดอย่าง ตั้งแต่การปิดกล่อง ซ่อมรองเท้า กระทั่งพันแผลชั่วคราว
ในครั้งนี้ ทรัพย์คัลเจอร์จะพาไปสำรวจประวัติศาสตร์การแปะ จากไอเดียของคุณแม่ในแนวหลังสู่ความปลอดภัยของลูกหลานในแนวหน้า และความเกี่ยวข้องกับกิจการเช่นบริษัท Johnson & Johnson ที่ร่วมสร้างความปลอดภัยผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการค่อยๆ ป็อปขึ้นของเจ้าเทปสีเงินที่ยังรักษาความยืดหยุ่นและสารพัดแปะโยชน์จนถึงทุกวันนี้
ความปลอดภัยที่หนึ่งนาทีก็เสียไม่ได้
เจ้า duct tape ฟังดูเป็นเรื่องเล็กๆ จุดกำเนิดของมันก็เล็กนิดเดียว คือมาจากแนวคิดของแม่บ้านคนหนึ่ง แต่ทว่า ในภาวะสงคราม เจ้าเทปสารพัดแปะโยชน์นี้ดันเข้าไปเปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหาหลายๆ อย่างได้
นวัตกรรมนี้จึงได้รับการนิยามและเชิดชูว่าได้ปกป้องแนวหน้าและเหล่าคนหนุ่มได้มากมาย
duct tape เกิดขึ้นในโรงผลิตยุทโธปกรณ์ในรัฐอิลลินอยส์ ในตอนนั้นผู้หญิงเข้าร่วมสงครามในฐานะแนวหลัง มีผู้หญิงซึ่งเป็นทั้งแม่และเมียที่เข้าช่วยเหลือกองทัพ หนึ่งในนั้นคือ เวสต้า สเตาดท์ (Vesta Stoudt) คุณแม่ที่มีลูกชายสองคนร่วมรบอยู่แนวหน้า เธอเข้าร่วมดูแลการบรรจุยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะพวกกระสุนปืนลงในกล่อง ปิดผนึก และขนส่งไปยังแนวหน้า
ทีนี้ ด้วยภาวะสงครามจำเป็นต้องมีการส่งของจำนวนมากที่สำคัญต่อความเป็นความตาย สุ่มเสี่ยง หรือต้องการความปลอดภัยยิ่งยวด ในขณะนั้นการบรรจุหีบห่อยุทโธปกรณ์จะบรรจุในกล่องกระดาษ ด้วยเทปกระดาษ หลังจากนั้นจึงจุ่มทั้งกล่องลงไปในแวกซ์ป้องกันน้ำ ตัวเทปกระดาษจะมีการทิ้งชายของเทปไว้เพื่อให้ดึงออกได้เมื่อต้องการเปิดกล่องออก
ทั้งหมดนี้ฟังดูเข้าใจง่าย แต่เมื่อถึงการใช้จริง เจ้าขอบหรือชายของเทปที่ตั้งใจจะให้ดึงเทปออกผ่านแวกซ์ที่ถูกลงไว้ มักจะขาดหรือเปื่อยยุ่ย ทำให้ที่แนวหน้าทหารมักจะไม่สามารถเปิดกล่องกระสุนได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วย
ถ้าเป็นภาวะปกติเราอาจจะแค่รำคาญ แต่นึกภาพว่าภาวะสงคราม แนวหน้าทหารต้องสาละวนกับการเปิดกล่อง ท่ามกลางสนามที่กำลังลุกเป็นไฟและถูกสาดกระสุนเข้าใส่ กระบวนการการปิดและเปิดกล่องที่ไม่มีประสิทธิภาพจึงกลายเป็นความเป็นความตายที่เป็นรูปธรรม
กลับมาที่คุณแม่เวสต้า เธอเองก็สังเกตเห็นปัญหาเรื่องกล่อง แน่นอนตามประสาคุณแม่ ยิ่งถ้าคิดว่าปลายทางคือลูกชาย เธอจะแก้ปัญหานี้ยังไง วิสต้าจึงเกิดแนวคิดว่า ทำไมไม่ใช้เทปที่มันกันน้ำล่ะ เป็นเทปที่ทำจากผ้าทอที่เหนียวพิเศษ ปิดแน่น แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดได้ด้วยมือโดยไม่ต้องมีเครื่องมือ
เมื่อคิดได้ก็เอาไปบอกหัวหน้าที่ดูแลกองงานของเธอ แต่หัวหน้าก็ไม่ได้ใส่ใจความคิด คุณแม่ผู้มุ่งมั่นและแสนเก๋ยิ่ง แทนที่จะยอมแพ้ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 1943 เธอกลับเขียนจดหมายไปหาประธานาธิบดีรูสเวลต์ ว่ากันว่าเธอได้วาดแผนผังการปิดและเปิดเทปประกอบจดหมายถึงประธานาธิบดีด้วย
เนื้อความบางส่วนเธอเขียนว่า ‘เราไม่อาจส่งกล่องกระสุนที่ต้องใช้เวลาแม้สักหนึ่งหรือสองนาทีเพื่อเปิดกล่อง สองนาทีนั้นอาจเป็นชีวิตที่สูญเสียไป ทำไมเราไม่รักษาชีวิตพวกเขาด้วยกล่องที่เปิดได้ภายในเสี้ยววินาทีล่ะ’
ในจดหมายเธอยืนยันกับประธานาธิบดีว่า ‘คุณต้องทำอะไรบางอย่างนะ ทำตอนนี้ ไม่ใช่พรุ่งนี้ เร็วๆ นี้ แต่คือเดี๋ยวนี้เท่านั้น’
เทปเป็ด ที่เก่งเหมือนเป็ด และกันน้ำแบบเป็ดๆ
ความน่ารักที่สุดของประธานาธิบดีคือเขาชื่นชมเวสต้ามาก เขานำจดหมายส่งต่อให้กับคณะกรรมการผลิตยุทธภัณฑ์ และให้ส่งจดหมายเพื่อแจ้งกับเวสต้าว่าความคิดของเธอได้รับการอนุมัติแล้ว หลังจากนั้นจึงได้ประสานไปยังบริษัทผลิตเทปคือ Industrial Tape Corporation ต่อมาคือบริษัท Johnson & Johnson ตรงนี้เองมีความซับซ้อนของบทบาทนักอุตสาหกรรมและนักประดิษฐ์ซึ่งเข้าไปช่วยงานกองทัพ และได้คิดค้นสิ่งต่างๆ จนกลายเป็นสินค้าเมื่อสงครามยุติลง
สำหรับตัวเทปก็เช่นกัน ในตอนนั้นบริษัทที่ทำการทดสอบและผลิต ก็เรียกเทปว่า ‘duck tape’ เพราะเป็นเทปที่กันน้ำเหมือนขนเป็ด แถมยังผลิตจากผ้าที่เรียกว่า ‘ผ้าเป็ด’ หรือ duck canvas ผ้าเนื้อแน่นที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม มีความทนทาน เหนียว ซึ่งในตอนนั้นใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเช่นรองเท้า หรือเสื้อผ้าที่เกี่ยวกับการช่าง แถมในสนามรบ พวกทหารก็เรียกเทปนี้ว่าเทปเป็ดเพราะน้ำกลิ้งบนเทปได้เหมือนกับหลังเป็ด
ผู้คนยกให้บริษัท Johnson & Johnson เป็นบิดาของ duct tape ทั้งปวง สิ่งที่พวกเขาทำไม่ใช่แค่การเอาผ้ามาแปะกาว แต่การพัฒนาตัวเทปเป็นการใช้นวัตกรรมการทอผสมเข้ากับสารเคลือบซึ่งเกี่ยวข้องกับยางหรือ polyethylene อีกหนึ่งนวัตกรรมยุคสงครามที่เกิดจากการผลิตน้ำมันและพลาสติก สารเคลือบแบบใหม่นี้จึงไม่ใช่แค่การทำกาวแบบเดิมซึ่งเมื่อขึ้นรูปแล้วจะแข็งตัว แต่จะเป็นสารแบบใหม่ที่ยืดหยุ่น กันน้ำ และยึดติดกับพื้นผิวได้ คือเหนียว ทน แต่ในขณะเดียวกันก็ฉีกได้ด้วยมือ
แน่นอนว่าเทปเหนียวนี้มีประโยชน์อีกมากมายในกองทัพ ไม่ใช่แค่การปิดเปิดกล่องที่ง่ายดาย ความเหนียวของมัน การที่ตัวมันเองฉีกออกใช้ง่าย กองทัพเอา duct tape ไปใช้ซ่อมสารพัด ไปจนถึงแปะแผล ซ่อมแซมร่างกายได้ในยามจำเป็น
ในช่วงแรกเทปเป็ดผลิตออกมาเป็นสีเขียวเพื่อให้พรางไปกับภูมิทัศน์ป่า แต่ภายหลังตัวเทปเริ่มกลายเป็นสีเงินและกลายเป็นไอคอนของเทปสุดเหนียว การผลิตเทปเหนียวพิเศษและฉีกง่ายให้เป็นสีเงิน เกิดจากยุคหลังสงคราม เมื่อสงครามยุติ เทปสุดเหนียวถูกนำไปใช้ในงานด้านโยธา เอาไปใช้พันหรือปิดในระบบท่อของอาคาร สายไฟ ไปจนถึงปิดพันท่อน้ำ
จุดนี้เองจากเทปเป็ดกันน้ำ เลยได้ชื่อจากงานใหม่ที่คล้ายเดิมคือ duct tape เทปที่เริ่มมีการพัฒนาและทดสอบโดยการทนต่อความร้อน และสามารถป้องกันการแตกและรั่วไหลจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปมาได้
เมื่อพวกมันถูกเอาไปพันกับท่อ เช่นท่อแอร์ บริษัทที่ผลิตเทปก็เริ่มผลิตให้สีของพวกมันเป็นสีเงิน เพื่อให้กลืนไปกับสีท่อหรืองานระบบระบายอากาศที่มักเป็นโลหะ ช่วงทศวรรษ 1950 นี้เองที่ duct tape เริ่มถูกใช้ในงานก่อสร้าง งานซ่อมแซม และเริ่มมีสีเงิน พร้อมๆ กับการพัฒนาตัวเทปให้มีความทนทานต่อความร้อนและความเย็น เนื่องจากการใช้งานแบบใหม่ของพวกมัน
อันที่จริง duct tape ถือเป็นอีกเบื้องหลังความสำคัญของแทบจะทุกอย่าง ทุกการก่อสร้าง สะพานขนาดยักษ์ใหญ่ ตึกอาคารที่ยิ่งใหญ่ก็ย่อมมีเจ้าเทปสีเงินเป็นส่วนหนึ่ง กระทั่งในกิจการงานอวกาศซึ่งองค์การนาซามีการพา duct tape ไปเป็นส่วนหนึ่ง และเคยได้ใช้ในงานซ่อมแซมเมื่อเกิดอุบัติเหตุทั้งในเหตุของยานอะพอลโล 13 ซึ่งช่วยชีวิตนักบินไว้ กระทั่งในภารกิจอะพอลโล 17 เจ้า duct tape ก็ได้มีส่วนแปะและซ่อมแซมล้อของรถสำรวจบนดวงจันทร์
หลังจากการใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ การก่อสร้าง ไปจนถึงกิจการอวกาศ duct tape กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันโดยเฉพาะการมาของกระแส DIY และการดูแลบ้าน duct tape หรือเทปผ้าเริ่มมีหลายสีสัน แต่อันที่จริง ในความรู้สึกเรา สีเงินมันดูเข้มแข็งและแข็งแรง ไว้ใจได้กว่า
สุดท้าย duct tape เป็นอีกหนึ่งสุดยอดนวัตกรรม ที่มองย้อนไปพวกมันช่วยเหลือการเติบโต การเอาตัวรอดของผู้คน ของอาคาร ไปจนถึงของกระสวยอวกาศ จากจุดเริ่มต้นของคุณแม่คนหนึ่งที่คิดเป็นห่วงแนวหน้า เป็นห่วงลูกๆ และไม่ยอมแพ้ รวมถึงการรับฟังของรัฐ และการที่ภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์จนท้ายที่สุด เข้าสู่ตลาด เข้าสู่ชีวิตประจำวันของเรา
จากเทปเป็ด ผ้าเป็ด กันน้ำแบบเป็ด สุดท้ายเจ้าเทปเป็ดๆ อาจกลายเป็นเหมือนเราทุกคน รับสารพัดปัญหา พอจะแปะไว้ แก้ปัญหาได้ ยืดหยุ่น ทำให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปได้ แต่ดีที่สุดไหมไม่รู้
สมชื่อเทปเป็ด สารพัดแปะโยชน์
อ้างอิงข้อมูลจาก
museumsonthegreen.org/wp-content/uploads/HOORAY-VESTA-STOUDT-WEB-VERSION.pdf
ppmindustries.com/en/news/long-history-duct-tape