5 ความท้าทายที่ ‘ไทน์ กรกนก’ ใช้ทำ Valichain จิวเวลรีที่ใส่ได้ทุกวัน ไม่ลอก ไม่ดำ
เสื้อ กางเกง รองเท้า–ไม่ปฏิเสธว่ามีเพียงองค์ประกอบเหล่านี้ก็สามารถออกจากบ้านไปใช้ชีวิตได้ แต่เชื่อว่าหลายคนอาจเคยรู้สึกว่าลุคในวันนั้นๆ ไม่คอมพลีต เหมือนยังขาดหายอะไรไป
สิ่งที่ขาดหายอาจเป็นเครื่องประดับเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยให้เสื้อผ้าหน้าผมของเรา ‘เต็ม’ ขึ้น
เช่นเดียวกับ ‘วาเลนไทน์–กรกนก วรรณกิจ’ ที่หลายคนรู้จักในนามอินฟลูเอนเซอร์สาว ที่อยู่ในวงการบิวตี้มาหลักสิบปี สำหรับเธอ เครื่องประดับอาจไม่ใช่ ‘ตัวเสริม’ แต่คือ ‘ตัวจบ’ ที่ขาดไม่ได้
Valichain แบรนด์จิวเวลรีกันน้ำ ไม่ลอก ไม่ดำ ไม่เขียว และเหมาะกับคนแพ้ง่ายจึงเกิดขึ้น จาก pain point ที่ไม่สามารถหาจิวเวลรีราคาเข้าถึงได้คุณภาพสูงได้
แม้กล้าๆ กลัวๆ แต่กลายเป็นว่าคอลเลกชั่นแรกที่เธอปล่อยขายดัน sold out ใน 1 วัน ทั้งด้วยคุณภาพของสินค้า และอานิสงส์ของการเป็นอินฟลูเอนเซอร์
ถึงอย่างนั้น การทำแบรนด์ภายใต้คำว่า ‘อินฟลูเอนเซอร์’ นำมาซึ่งหลายความท้าทาย คอลัมน์ Brand Belief ครั้งนี้ จึงขอพาไปสนทนากับไทน์ถึงการทำธุรกิจนี้ไปพร้อมๆ กัน
ความท้าไทน์ที่ 1 :
สร้างแบรนด์จาก pain point
เชื่อว่าหากใครติดตามอินฟลูเอนเซอร์สายบิวตี้น่าจะเคยเห็นเหล่าอินฟลูฯ หันมาจับธุรกิจที่สอง สาม สี่ ห้ากันมากขึ้น ด้วยฐานแฟนที่มีอยู่แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อออกสินค้าอะไรมา ก็การันตีไปได้ 1 เปลาะว่าจะต้องมียอดสั่งซื้อ
เครื่องสำอาง อาหารเสริม เสื้อผ้า มักเป็นธุรกิจประเภทแรกๆ ที่เหล่าบิวตี้บล็อกเกอร์หันมาจับ ด้วยความเชี่ยวชาญแต่เดิมและภาพลักษณ์ของการเป็นอินฟลูฯ สายความงาม
แต่นั่นไม่ใช่กับวาเลนไทน์ หญิงสาวตรงหน้า
“คนอื่นอาจจะบอกว่าลิปสติกเป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกาย แต่สำหรับเรา จิวเวลรีต่างหากที่เป็นอีกอวัยวะหนึ่ง”
จะต่างหู สร้อย แหวน กำไล สำหรับเธอ ล้วนเป็นตัวจบที่ทำให้ลุคในวันนั้นๆ ดูแตกต่าง เรียกว่าเครื่องประดับส่งลุค ลุคส่งหน้า หน้าส่งภาพลักษณ์
“ถามว่าทำไมไม่ทำแบรนด์เครื่องสำอาง เรามองว่าวงการเครื่องสําอาง วงการบิวตี้มันแข่งขันกันสูงมาก แล้วเราเองก็ยังอยากรีวิวสินค้าจากหลายแบรนด์อยู่ แต่ในอนาคตก็ไม่แน่นะ เพียงแต่ตอนนี้เรายังไม่ได้อยากกระโดดเข้าไป
“แต่กับเครื่องประดับ เราคิดว่าต่อให้เราใส่เสื้อยืดธรรมดาๆ ก็ต้องมีเครื่องประดับสักชิ้น เลยคิดว่านี่คงเป็นสิ่งที่เราน่าจะทำได้ดี”
ในช่วงปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 นั้นเอง ไทน์คิดว่านี่แหละเวลาที่ใช่ เวลาที่เธอต้องทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันของตนเองสักที
“เราอยากใส่จิวเวลรีตลอดเวลาโดยไม่ต้องถอด แต่ยิ่งใส่มันยิ่งลอก ยิ่งดํา ยิ่งเขียว บางทีเป็นรอยติดตัวเลยนะ มันเป็นจุดเริ่มต้นที่เราอยากทำแบรนด์ที่เน้นคุณภาพก่อนคิดเรื่องความสวยงามเสียอีก”
วัสดุที่ Valichain เลือกใช้เป็นสเตนเลสสตีลเกรดการแพทย์ ที่โดยปกติแล้วมักจะใช้กับเครื่องประดับสำหรับเจาะสะดือ จมูก ฯลฯ ที่ต้องใส่ติดร่างกายตลอดเวลา ต้องการความคงทนและปลอดภัย
“ต้องนึกภาพก่อนว่า 4-5 ปีที่แล้ว จิวเวลรีสายแฟชั่นในตลาดไทยค่อนข้างราคาถูก วัสดุมันอาจจะไม่ได้คุณภาพมาก ตัววัสดุนี้เราเห็นเมืองนอกใช้กันเยอะ แต่ในไทยยังไม่ค่อยมีใครนำมาทำเป็นสร้อย เป็นแหวน เพราะมันมีราคา”
ความท้าทายในช่วงตั้งไข่ของแบรนด์จึงคือการตามหาโรงงานที่เปิดรับแบรนด์ใหม่ และเพียบพร้อมด้วยคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งเธอก็สู้จนตามหาพาร์ตเนอร์ที่ตรงใจในที่สุด
ความท้าไทน์ที่ 2 :
ดีไซน์ให้ใส่ได้ทุกวัน แต่ยังแตกต่าง
“โจทย์หลักคือเขาไม่ต้องคิดเยอะ มันต้องใส่ได้ทุกวัน หนึ่งชิ้นใส่ได้กับทุกลุค ทุกโอกาสในชีวิต” คอลเลกชั่นแรกๆ ของไทน์จึงค่อนข้างเรียบง่าย ดีเทลน้อยแต่มาก
“แต่มันก็จะมีบางคอลเลกชั่นที่เราทําออกมาเป็น seasonal product เพื่อเพิ่มความสนุกให้กับลูกค้าที่ชอบความน่ารัก หรือชอบอะไรใหม่ๆ”
หนึ่งในคอลเลกชั่นเพิ่มความตื่นเต้น สดใหม่ ให้แบรนด์คือคอลเลกชั่นวาเลนไทน์ที่เปลี่ยนรูปแบบไปในแต่ละปี แรกเริ่มเธอตั้งต้นจากอยากทำคอลเลกชั่นเดือนเกิดของตนเองอย่างเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเดือนแห่งความรักที่ผู้คนจะมอบของขวัญให้กัน
“เรารู้สึกว่าจิวเวลรีเป็นของขวัญที่ดีที่จะมอบให้คนรักในวันแห่งความรัก เราเลยตั้งใจออกแบบคอลเลกชั่นวาเลนไทน์กันสุดๆ จําได้ว่าคอลเลกชั่นวาเลนไทน์ปีแรกมันขายดีมาก จนทุกวันนี้ลูกค้าก็ยังถามหาอยู่เรื่อยๆ และเฝ้ารอว่าคอลเลกชั่นนี้ของแต่ละปีจะเป็นยังไง”
อีกคอลเลกชั่นที่เธอยกตัวอย่างความเรียบง่ายที่นำเสนอให้แปลกใหม่คือ Petite Gem ซึ่งคือเครื่องประดับที่ใส่อัญมณีขนาดจิ๋ว 1 เม็ด
“มันจิ้มลิ้มมาก เรายังกลัวว่าลูกค้าจะรู้สึกว่าเบาไปไหม แต่สรุปลูกค้าชอบมากและอยากให้ทำอีก จนตอนนี้เราทำเป็นคอลเลกชั่นนี้นี่แหละ เพียงแต่เปลี่ยนรูปทรงของอัญมณีนั้นๆ”
สิ่งนี้สะท้อนอีกทักษะหนึ่งของการเป็นผู้ประกอบการ ที่ไทน์มองว่าต้องหาสมดุลระหว่างความคิดสร้างสรรค์และการอยู่รอดในเชิงธุรกิจให้ได้
“บางทีเราอยากจะทำดีไซน์แปลกๆ ระย้าๆ แต่ลูกค้าซื้อไหมก็อีกเรื่อง เราต้องหาตรงกลางระหว่างความสวยกับใส่ได้จริง เพราะว่าเรายังต้องคงคอนเซปต์ใส่ได้ทุกวัน” เธอยืนยัน
ความท้าไทน์ที่ 3 :
ใช้ความเป็นอินฟลูเอนเซอร์ให้ถูกที่ถูกทาง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นอินฟลูเอนเซอร์นั้นย่อมนำมาซึ่งแต้มต่อในการทำธุรกิจไม่มากก็น้อย สำหรับ Valichain เองก็เช่นกัน ไทน์มองว่าประสบการณ์และชื่อเสียงที่สั่งสมในวงการนี้มีผลต่อการเติบโตของแบรนด์
ช่วงแรกเธอส่งให้เพื่อนๆ ทั้งคนในวงการ ทั้งคนทั่วไปทดลองใส่อยู่เกือบปี ปรากฏว่าเพื่อนที่แพ้ง่ายมากๆ เคยใช้ทั้งแบรนด์ถูกแบรนด์แพงก็แพ้กลับใส่ของ Valichain ได้สบายๆ
“บางคนใส่ทั้งวัน ใส่ไปออกกำลังกาย ใส่อาบน้ำ ก็ไม่ลอกไม่ดำ พอมันคุณภาพดี เขาก็ลงโซเชียลมีเดียให้เราโดยที่เราไม่ได้ขอ คนก็เริ่มสงสัยว่ามันคือแบรนด์อะไร มันทำให้พอเราเปิดตัววันแรกก็ขายหมดทันทีทั้งที่ตอนแรกเรายังกลัวอยู่เลยว่ามันจะขายได้ไหม”
จากประสบการณ์การเป็นอินฟลูเอนเซอร์และนักรีวิวยังทำให้เธอเข้าใจอินไซต์ของลูกค้าและนั่นเองที่ทำให้เธอจริงจังกับการออกแบบแพ็กเกจให้สวยงาม น่าถ่ายรูปแชร์ และประทับใจตั้งแต่แรก unbox
“เราออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้มันสวยงาม เปิดมาก็มีการ์ด มีคำอธิบายชัดเจนว่าเราเชื่อในเรื่องอะไร ถ้าเขามีปัญหาเขาสามารถติดต่อเราที่ช่องทางไหนได้บ้าง มันเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ถ้าเขาประทับใจเขาจะแชร์ จะบอกต่อ
“ไม่ใช่เปิดมาแล้วก็เจอจิวเวลรีอยู่ในถุงเลย เราว่ามันไม่สวย คนจะรู้สึกว่าค่อยถ่ายแล้วกัน แล้วเขาก็จะไม่ได้ถ่าย หรือบางทีอาจจะไม่ได้ใส่จนลืมมันไป”
ความเป็นอินฟลูเอนเซอร์ยังช่วยให้เธอได้พูดคุยและรับฟังเสียงลูกค้าหลายทาง คือทั้งผ่านแบรนด์และผ่านแอ็กเคาต์ตัวเอง ฟีดแบ็กที่นำไปพัฒนาต่อจึงจริงใจและใช้ได้จริง
“เราได้เรียนรู้จากผู้บริโภคเยอะมากว่าเขาชอบอะไร ต้องการอะไร แล้วเขาก็มองภาพแบรนด์ออกเลยว่าภาพลักษณ์ของคนที่ใส่ Valichain มันก็คือสาวที่ดูมั่นใจเพราะมันมีความผูกโยงกับตัวเราค่อนข้างเยอะ
“ย้อนกลับไปวันแรกๆ ถ้าเราไม่ได้มีคนรู้จักอยู่แล้ว ไม่ได้มีเพื่อนๆ ในวงการ มันก็อาจจะยากกว่าในการสร้างแบรนด์ให้เติบโต แต่สุดท้ายแล้วถึงเราจะเป็นอินฟลูฯ ถ้าของไม่มีคุณภาพ มันคงไม่ยั่งยืน”
ไทน์ยังเสริมว่า ยิ่งเป็นอินฟลูเอนเซอร์ก็ยิ่งต้องจริงจังกับคุณภาพ เพราะคงไม่คุ้มเสี่ยงหากต้องนำชื่อเสียงที่สั่งสมมาเดิมพัน
“ถ้าคุณภาพมันไม่ได้เราก็ไม่ซื้อต่อหรือกลับมาซื้อซ้ำ เราจึงคิดว่าทุกแบรนด์ควรจริงจังกับคุณภาพ ที่สำคัญคือต้องไม่หยุดฟังเสียงลูกค้า เราติดตามตลอดจริงๆ ทั้งจากหน้าร้าน ออนไลน์ หรือในคอมเมนต์ทั่วไป”
ความท้าไทน์ที่ 4 :
จริงจังกับแบรนดิ้งที่ชัดจนตะโกนเรียกชื่อลูกค้า
“ไม่ใช่ว่าเราทำธุรกิจนี้เป็นธุรกิจแรกแล้วสำเร็จเลยนะ ตอนอายุ 20 ต้นๆ เราก็เฟล เพราะเราไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจเลย อีกเรื่องคือเราไม่จริงจังกับการทำแบรนดิ้ง”
นอกจากคุณภาพที่เป็นหัวใจสำคัญ การทำแบรนดิ้งให้แข็งแรงก็เป็นสิ่งที่วาเลนไทน์ใส่ใจตั้งแต่ day 1 ทั้งชื่อที่ต้องแตกต่างแถมยังเชื่อมโยงกับตัวตนของเธอ ภาพลักษณ์ของการเป็นแบรนด์ที่สื่อสารถึงความมั่นใจ ไปจนถึงสีสันที่ตะโกนเรียกหาลูกค้า
“เราอยากให้มันไม่น่าเบื่อ เราอยากให้มันสื่อถึงสาวยุคใหม่ที่มีความมั่นใจ ดังนั้นสีมันจะต้องไม่นู้ด น้ำตาล ขาว ดำ แล้วมันก็ต้องไม่ดูหรูจนเอื้อมไม่ถึง เพราะเราอยากทำแบรนด์จิวเวลรีที่ดูสนุก มีคุณภาพ ในราคาเข้าถึงได้”
แบรนดิ้งที่ชัดเจนยังสำคัญต่อแนวทางการสื่อสารของ Valichain เช่นกัน ไทน์บอกว่าเมื่อคนเห็นสี เห็นฟอนต์ของแบรนด์ เธอแทบไม่ต้องอธิบายให้มากความลูกค้าก็เข้าใจถึงตัวตนของแบรนด์ ขณะเดียวกันทีมงานของเธอก็นำไปต่อยอดเป็นคอนเทนต์หรือแนวทางการสื่อสารได้ง่ายๆ โดยที่ไม่ต้องคอยแนะ หรือคอยตัดสินใจให้ทุกเรื่อง
“หนึ่งวันมีหลายอย่างต้องทำ ถ้าเราทําแบรนด์โดยไม่ยอมปล่อยบางอย่างที่เราไม่ถนัด มันก็เสียเวลา เพราะฉะนั้นเราต้องปล่อยให้ทีมที่เขาถนัดบางเรื่องมากกว่าได้ทำแทนเรา ซึ่งถ้าแบรนดิ้งชัด ทีมก็จะทำงานง่าย”
โดยเฉพาะการทำคอนเทนต์ ไทน์มองว่า Valichain จะไม่ปล่อยเทรนด์ไหนไปเลย แต่การจะกระโดดไปทำคอนเทนต์ที่เข้ากับเทรนด์ก็ต้องดูเช่นกันว่าเทรนด์นั้นเหมาะกับแบรนดิ้งหรือไม่
เธอยกตัวอย่างไวรัลซีรีส์ The White Lotus ที่มีประโยคฮิตติดปากว่า ‘Welcome to the White Lotus’ ที่น้องมุกหรือลิซ่า LLOUD เอ่ยในเรื่อง ทีมก็นำมาทำคอนเทนต์ Welcome to Valichain สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว
https://www.tiktok.com/@valichain/video/7473490740757187848?is_from_webapp=1&sender_device=pc&web_id=7438890417436001813
“เรามองว่าทุกอย่างเป็นคอนเทนต์ได้ และทุกคนก็ทำคอนเทนต์ได้ ซึ่งพอแบรนดิ้งมันชัด น้องในทีมก็จะเข้าใจอัตโนมัติว่าเทรนด์ไหนที่เขาจะเล่น เทรนด์ไหนที่เขาต้องปรับเพื่อให้มันเข้ากับแบรนด์ของเรา
“เราเลยอยากให้ใครก็ตามที่เริ่มทำแบรนด์ ใส่ใจกับการสร้างแบรนดิ้งให้แข็งแรง มันน่าจะช่วยให้แบรนด์ไปต่อได้ง่าย ทั้งเชิงคอนเทนต์ ไปจนถึงการตลาด เพราะเราจะเข้าใจว่ากลุ่มลูกค้าของเราต้องการอะไร เรากําลังเสิร์ฟใครอยู่”
ความท้าไทน์ที่ 5 :
ลงมือทำ ล้มแล้วลุก เพื่อสร้างแบรนด์ไทยให้จับใจต่างชาติ
แรกเริ่มเดิมที Valichain ก่อตั้งขึ้นจากแพสชั่นของไทน์ล้วนๆ เธอยืนยันกับเราว่าเธอไม่ได้มีแผนธุรกิจอะไรมากมาย แต่เมื่อแบรนด์เติบโต ทีมขยายใหญ่ขึ้น ในฐานะ CEO และพี่สาวของน้องๆ ในทีม เธอต้องปรับตัวและเรียนรู้เรื่องธุรกิจในทุกๆ วัน
“สิ่งสำคัญที่สุดคือถ้าอยากทําอะไรต้องเริ่มเลย ถ้าไม่ได้เริ่มทําจะไม่ได้เรียนรู้ แล้วก็ความล้มเหลวเนี่ย มันทำให้เราได้เรียนรู้เยอะที่สุด แล้วเราจะไม่กลับไปทําพลาดเหมือนเดิม”
มากไปกว่านั้น ไทน์ยังมองว่าความสำเร็จไม่ใช่จุดที่ CEO พักหายใจได้ แต่กลับเป็นสิ่งเร้าให้เธอต้องเดินให้ไวและเดินนำพนักงานหนึ่งก้าวเสมอ
“สําเร็จไม่ได้หมายความว่าจบแล้ว สําเร็จเท่ากับไปต่อ ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าดีจังเลย อยู่นิ่งๆ เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร แสดงว่าเราไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ”
ปัญหายังไม่ใช่สิ่งน่ากลัว แต่คือความท้าทายให้เธอและแบรนด์ได้เติบโตไปอีกขั้น เหมือนเป็น quest ในชีวิตจริงให้เธอได้เก็บแต้มไปเรื่อยๆ
“มันจะทําให้เราแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะถ้าถามนักธุรกิจทุกคน ทุกคนก็ต้องตอบว่าปัญหาเป็นเรื่องปกติ ถ้าไม่มีเลยเนี่ยประหลาด หรือแปลว่าแบรนด์อาจจะไม่ได้มีผลลัพธ์ที่ดีขนาดนั้น
“ถามว่า quest ต่อไปของเราคืออะไร เราอยากให้ Valichain เป็นแบรนด์ไทยที่ถ้าต่างชาติมาไทย Valichain จะต้องเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่เขาอยากมาช้อปกลับไป”