จ่อลดภาษีนำเข้า0%ให้สหรัฐ
“พิชัย” รับเตรียมลดภาษีนำเข้าให้สหรัฐฯ เหลือ 0% หลายรายการ แต่ยันไม่ได้ให้ทั้งหมด "รมว.พาณิชย์” เผยมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบแล้ว กันงบไว้ 1 หมื่นล้านบาท จากงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.5 แสนล้านบาท “เผ่าภูมิ” โวรัฐบาลปั้นจีดีพีโตเกิน 3% ทุกไตรมาส
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังเดินทางกลับจากการเจรจาการค้าและภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯ ว่า ยืนยันว่าไทยไม่ได้มีการยื่นข้อเสนอใหม่แต่อย่างใด เป็นเพียงการปรับปรุงข้อเสนอที่ได้ยื่นไปแล้วเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะเรื่องภาษี ที่แน่นอนว่าไทยอาจจะต้องมีการให้อัตราภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯ 0% เยอะพอสมควร แต่ไม่ได้ให้ทั้งหมด และตรงนี้จะไม่ไปทำให้เป็นข้อได้เปรียบประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่เรามีอยู่แน่นอน
นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงเรื่องแนวทางการค้าเพื่อให้มีความเหมาะสมและสมดุลระหว่างไทยกับสหรัฐฯ มากยิ่ิงขึ้น โดยแนวทางที่สำคัญคือ ต้องทำให้การค้าขายระหว่างสองฝั่งมีมากขึ้น ซึ่งหากมองในมุมส่วนตัวก็คิดว่า ข้อเสนอที่ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมนั้นค่อนข้างดี และเชื่อว่าหากมองในมุมของสหรัฐฯ ก็จะเห็นว่าดีด้วยเช่นกัน
ส่วนท้ายที่สุดไทยจะได้อัตราภาษีนำเข้าต่ำกว่าเวียดนามหรือไม่นั้น รองนายกฯ และ รมว.การคลังระบุว่า “อย่าให้ผมต้องตอบเลย!”
“เรื่องการเจรจาแต่ละประเทศไม่ใช่ว่าคุยครั้งเดียวแล้วจะจบได้อยู่แล้ว ทุกอย่างต้องค่อยๆ ขยับไปเรื่อยๆ และจำนวนประเทศที่ยังไม่ได้รับคำตอบก็ค่อนข้างเยอะ ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการทำงาน ช่วงที่เดินทางไปสหรัฐฯ มีโอกาสได้เจอกับภาคเอกชนที่เข้ามาลงทุนในไทยและภาคเกษตรกรรม ทำให้ได้รับรู้ปัญหาเพิ่มเติม และได้มีข้อเสนอต่างๆ กลับมาด้วย ตรงนี้ทำให้ผมได้รับทราบในภาพรวม จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงเรื่องการค้าให้สมดุล และภาษีให้มีความเหมาะสม เพราะเวลาผมมองไม่ได้มองแค่การเข้าสู่จุดสมดุลการค้าเร็วขึ้นอย่างเดียว แต่ผมท่องเสมอว่า ต้องทำให้การค้าขายระหว่างสองฝั่งมีมากขึ้น ดังนั้นตรงนี้ก็ต้องมีการเสนออะไรเพิ่มเข้าไปหน่อย” นายพิชัยกล่าว
สำหรับกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศบน Truth Social ว่าจะมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม 10% ต่อประเทศที่สนับสนุนนโยบายต่อต้านอเมริกาของกลุ่ม BRICS โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมนั้น นายพิชัยระบุว่า ต้องพิจารณาในรายละเอียดให้ลึกๆ ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ หมายถึงอะไร ซึ่งส่วนตัวยังไม่ได้มีการประเมินเรื่องพวกนี้เท่าไหร่นัก
อย่างไรก็ดี มองว่าขณะนี้เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังลำบาก แต่ประเทศไทยหากเดินมาถูกทาง และเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าที่ เศรษฐกิจไทยก็พร้อมที่จะฟื้นตัวได้ทันที และโดยปกติเวลาที่เศรษฐกิจฟื้นตัว การนำเข้าก็จะเยอะขึ้น ดังนั้นตอนนี้ยังไม่อยากให้ไปประเมินอะไรจนเร็วเกินไป เพราะยังต้องมีอะไรเข้ามาอีกเยอะ เช่นเรื่องสมดุลการค้าที่ว่าจะต้องทำให้เร็วขึ้นใน 5-10 ปีนั้น ส่วนตัวมองว่าตรงนี้กลับไม่ได้เป็นประเด็นกับสหรัฐฯ เท่าไหร่ แต่ประเด็นสำคัญกับสหรัฐฯ เชื่อว่าจะอยู่ที่เรื่องจะค้าขายอย่างไรกับไทยมากกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่า ใน 1-2 วันนี้ไทยมีโอกาสที่จะได้รับจดหมายจากสหรัฐฯ ในส่วนของภาษีตอบโต้หรือไม่ รองนายกฯ และ รมว.การคลังตอบว่า อย่าไปตอบเรื่องจดหมายเลย ตนเองก็คงตอบอะไรไม่ได้ ส่วนวันที่ 9 ก.ค. 2568 ไทยจะโดนเรียกเก็บภาษีด้วยหรือไม่นั้น ก็อยากให้ลองมาดูกันเพราะวันนี้ก็วันที่ 7 ก.ค.แล้ว
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเจรจาเรื่องภาษีกับสหรัฐฯ ไม่ใช่แค่เพียงการมุ่งลดอัตราภาษีระหว่างกันเท่านั้น แต่ยังมีวิธีการอื่นที่เพิ่มเข้ามาด้วย เช่นจะมีวิธีอย่างไรที่ทำให้ดุลการค้าระหว่างสองประเทศมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น ส่วนจะสมดุลเร็วขึ้นเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับวิธีการ แต่เชื่อว่าข้อเสนอของไทยในเรื่องนี้น่าจะเป็นข้อเสนอที่ดีและได้รับความสนใจจากสหรัฐฯ
“ภาษีเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่อย่างที่บอกว่าภาษีก็ไม่ใช่ตัวยืนยันว่าการขาดดุลการค้าจะดีขึ้น ถ้าตราบใดที่เขายังนำเข้าจากเราเยอะ เขาก็ยังขาดดุลอยู่ดี แต่เรามีวิธีอื่นนอกเหนือจากการลดภาษี นั่นคือการทำให้การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ สมดุลมากขึ้น เช่นเราอาจจะซื้อสินค้าหรือลงทุนกับสหรัฐฯ มากขึ้น ส่วนเรื่องภาษีถ้าลดไป ลดมา แต่เราไม่ได้ซื้อสินค้าจากเขามากขึ้นเลย ดุลการค้าก็เหมือนเดิม ดังนั้นจึงต้องมีหลายวิธีรวมกัน ทั้งการลดอุปสรรคทางการค้าในหลายมิติ ไม่ใช่การลดภาษีเพียงอย่างเดียว แต่เรื่องภาษียังคงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหัวข้อใหญ่ของการเจรจาในครั้งนี้” นายลวรณกล่าว
อย่างไรก็ดี กรณีที่สหรัฐฯ จะมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม 10% ต่อประเทศที่สนับสนุนนโยบายต่อต้านอเมริกาของกลุ่ม BRICS นั้น เบื้องต้นมองว่าอาจจะไม่กระทบกับไทย เพราะไทยไม่ได้เป็นสมาชิก แต่เป็นพาร์ตเนอร์ ซึ่งหากพิจารณาตามขอบเขตที่สหรัฐฯ ประกาศออกมา คือจะดำเนินการเก็บภาษีกับสมาชิกผู้ก่อตั้งในลักษณะหนึ่ง และสมาชิกสมทบอีกลักษณะหนึ่ง ส่วนข้อสรุปจะเป็นอย่างไรคงไม่สามารถตอบได้ ต้องติดตามรายละเอียดต่อไป
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เตรียมมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเจรจาภาษีสหรัฐฯ ไว้แล้ว โดยเบื้องต้น มีเงินกันสำรองไว้ประมาณ 10,000 ล้านบาท จากงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.15 แสนล้านบาท หากได้ข้อสรุปแผนการเยียวยาผู้เกี่ยวข้องแล้วจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติใช้งบประมาณต่อไป และหากการเจรจาภาษีสหรัฐฯ ได้ข้อสรุป ก็ต้องรายงานผลต่อ ครม.และรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย
ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภาที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม วาระกระทู้ถามทั่วไปของนายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร สว. ได้ถามประเด็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งตั้งข้อสังเกตต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่เข้าเป้า เช่นอัตราการท่องเที่ยวในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ลดลง จากผลกระทบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงการประเมินจีดีพีที่โตต่ำกว่าคาดการณ์ เช่นเดียวกับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ส่วนการทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอีก 115,000 ล้านบาท ที่จะกระจายไปยัง 50 หน่วยงานภาครัฐเพื่อใช้ดำเนินโครงการลงทุนระยะสั้น โดยกระทรวงการคลังคาดว่าจะช่วยสร้างงานและผลักดันจีดีพีให้โตเพิ่มขึ้น 0.4 % ตนคิดว่านโยบายเบี้ยหัวแตกแบบนี้เป็นการปะผุเล็กๆ น้อยๆ และไม่มีผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว
“ตอนนี้เหมือนประเทศไทยเป็นเรือที่ฝ่าพายุ แต่เครื่องยนต์ดับทีละเครื่อง ขณะที่ผู้นำไม่รู้ว่าจะพาไปทิศทางไหน ดังนั้นควรมีเครื่องยนต์ใหม่ เพื่อทำให้จีดีพีและเศรษฐกิจไทยพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง” นายนรเศรษฐ์ กล่าว
โดยนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง ชี้แจงว่า ในการบริหารประเทศของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ นั้น ทำจีพีดีเกิน 3% ทุกไตรมาส และไตรมาสสอง ของปี 2568 ทำได้ดีกว่าที่คาด เห็นได้ว่าตลอดการบริหารของรัฐบาล ทำให้เศรษฐกิจโตสูงกว่าที่เคยเป็นตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประมาณการตัวเลขจากสถาบันทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เชื่อว่าจะปรับขึ้นอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในไม่ช้า เพราะเราเริ่มเห็นตัวเลขไตรมาสสองเป็นตัวเลขที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการผลิตและการบริโภค .