ทรัมป์ส่งจดหมายแจ้งคู่ค้ารอบแรก ผลักดันข้อตกลงภาษีก่อนเส้นตายใหม่ 1 สิงหาคม
โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ 25% ส่งผลให้พันธมิตรสำคัญ 2 ประเทศของสหรัฐฯ และอีกกว่า 12 ประเทศมีแรงกดดันมากขึ้นในการบรรลุข้อตกลงการค้ากับรัฐบาลวอชิงตันก่อนเส้นตายใหม่วันที่ 1 สิงหาคม
แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว ถือสำเนาจดหมายถึงญี่ปุ่นซึ่งลงนามโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ เกี่ยวกับการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า 25% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ในระหว่างการแถลงข่าวประจำวันในห้องแถลงข่าว ของทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม (Photo by Andrew Harnik / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP)
จดหมาย 2 ฉบับที่โพสต์บนแพลตฟอร์ม Truth Social ของโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม (Photo Source : Donald J. Trump via Truth Social)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม 2568 กล่าวว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ส่งจดหมายแจ้งการขึ้นภาษีนำเข้าต่อญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่อัตรา 25% แม้ทั้งสองประเทศเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯก็ตาม
ทรัมป์ยังได้ออกจดหมายลักษณะเดียวกันนี้ไปยังประเทศคู่ค้าอีกกว่าสิบราย รวมทั้งอินโดนีเซีย, บังกลาเทศ, กัมพูชา, ไทย, แอฟริกาใต้ และมาเลเซีย โดยระบุว่าเขาจะขึ้นภาษีสินค้าของประเทศเหล่านี้ในอัตรา 25-40%
เดิมทีมาตรการภาษีทรัมป์กำหนดจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 กรกฎาคม แต่กระบวนการใหม่ของทรัมป์ได้ยืดเวลาขึ้นภาษีสินค้านำเข้าออกไปเป็นวันที่ 1 สิงหาคม เพื่อให้เกิดช่องว่างในการเจรจาครั้งใหม่กับบางประเทศ และครั้งแรกกับหลายประเทศ ซึ่งทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งดังกล่าวแล้วตามการระบุของแคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว
ในจดหมายที่ส่งไปยังผู้นำญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งมีถ้อยคำเกือบจะเหมือนกัน ทรัมป์กล่าวว่าการขึ้นภาษีดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองชาติเอเชียกับสหรัฐฯนั้นไม่เป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันอย่างน่าเสียดาย
เขาเตือนว่าอาจเกิดความตึงเครียดมากขึ้นหากประเทศต่างๆ ตอบโต้การขึ้นภาษีดังกล่าว
ปัจจุบัน คู่ค้าที่ได้รับผลกระทบถูกเรียกเก็บภาษี 10% เป็นอัตราตั้งต้นอยู่แล้ว แต่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าเขาพร้อมที่จะลดระดับภาษีใหม่นี้ลงหากประเทศอื่นๆ เปลี่ยนนโยบายการค้า
นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ของญี่ปุ่นเคยกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า เขาจะไม่ยอมประนีประนอมง่ายๆในการเจรจาการค้ากับรัฐบาลวอชิงตัน
ตามรายละเอียดจดหมายที่โพสต์บนแพลตฟอร์ม Truth Social ของทรัมป์ สินค้าจากอินโดนีเซียจะถูกเรียกเก็บภาษี 32%, บังกลาเทศจะถูกเรียกเก็บ 35%, กัมพูชาและไทยจะถูกเรียกเก็บ 36%
ทรัมป์ประกาศกำหนดภาษีศุลกากรครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลกครั้งแรกในวันที่ 2 เมษายน ซึ่งเขาเรียกว่า "วันปลดปล่อย" โดยอ้างว่าสหรัฐถูกฉ้อโกงและเอาเปรียบ
ท่ามกลางความปั่นป่วนในตลาดโลกจากการกระทำดังกล่าว ทรัมป์จึงได้ระงับการเรียกเก็บภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายสิบแห่งเป็นเวลา 90 วัน โดยกำหนดเส้นตายดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 9 กรกฎาคม หากไม่ได้ขยายเวลาออกไป
เดิมที ประเทศต่างๆ ที่ได้รับจดหมายแจ้งรอบแรกนั้น ถูกกำหนดให้เผชิญกับภาษีศุลกากรที่เข้มงวดกว่าคู่ค้าอื่นๆ
แม้ว่ารัฐบาลทรัมป์จะส่งสัญญาณถึงความหวังในการบรรลุข้อตกลงหลายสิบฉบับภายในเดือนกรกฎาคม แต่จนถึงขณะนี้ ผลลัพธ์ที่ได้กลับปรากฏอย่างจำกัดในทางปฏิบัติ
รัฐบาลวอชิงตันได้เปิดเผยการบรรลุข้อตกลงกับอังกฤษและเวียดนามเพียงเท่านั้น ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและจีนตกลงที่จะลดระดับภาษีศุลกากรของสินค้าของกันและกันชั่วคราว จากช่วงก่อนหน้านี้ที่เคยพุ่งแตะระดับสามหลัก
เวนดี้ คัตเลอร์ รองประธานสถาบันนโยบายสังคมเอเชีย กล่าวว่า "การประกาศครั้งนี้ของทรัมป์จะส่งข้อความที่น่ากลัวไปยังประเทศอื่นๆ โดยใช้กรณีปฏิบัติต่อรัฐบาลโตเกียวและโซล แม้ทั้งสองเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดในประเด็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ขณะที่บริษัทจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ลงทุนด้านการผลิตจำนวนมากในสหรัฐฯ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา"
สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวว่าจะมีข้อตกลงเพิ่มเติมอีกหลายข้อรอการประกาศภายใน 48 ชั่วโมงข้างหน้า
"มีคนจำนวนมากเปลี่ยนใจเกี่ยวกับการเจรจา ดังนั้นเมื่อคืนนี้ กล่องจดหมายของผมจึงเต็มไปหมดด้วยข้อเสนอใหม่ๆ มากมาย" เบสเซนต์กล่าวกับผู้สื่อข่าว และเสริมว่าเขามีกำหนดหารืออีกครั้งกับจีนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
จนถึงขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายได้มีการเจรจาระดับสูงที่เจนีวาและลอนดอน แต่การหยุดชะงักของรัฐบาลวอชิงตันและปักกิ่งในการเก็บภาษีตอบโต้จะสิ้นสุดลงในช่วงกลางเดือนสิงหาคมตามที่ตกลงกันไว้
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังขู่ที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศ BRICS อีก 10% โดยกล่าวหาว่าประเทศเหล่านี้มี "นโยบายต่อต้านอเมริกา"
ขณะที่บรรดาประเทศพันธมิตรยังคงเร่งรีบที่จะหลีกเลี่ยงการขึ้นภาษีของทรัมป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอีกหนึ่งคู่ค้าคู่แข่งอย่างสหภาพยุโรป ซึ่งได้รายงานว่าการหารือล่าสุดระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ กับเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปนั้นเป็นไปในทิศทางบวก.